ก็แค่ .. กติกา ..
กติกา -1- ใครคนหนึ่งถาม “นี่มันเดือนอะไร”
วันนั้นผมเปิดเพลงคริสต์มาสในที่ทำงาน เพื่อน ๆ มองหน้าผมเหมือนเห็นคนบ้า
“กรกฎาคม”
“แล้วมึงเปิดเพลงคริสต์มาสทำไม”
“ทำไมเปิดไม่ได้”
“ยังไม่ถึงคริส์มาส”
-2- อยู่บ้านไม่ถูกทิศ ชีวิตจะฉิบหาย ฯลฯ
เคยรู้สึกบ้างไหมว่า โลกของเรามีกติกาในเรื่องต่าง ๆ มากเกินไป?
กินขนมไหว้พระจันทร์เฉพาะในเทศกาลไหว้พระจันทร์
กินอาหารเจเฉพาะในเทศกาลกินเจ
ฟังเพลงคริสต์มาสเฉพาะช่วงคริสต์มาส
ฟังเพลงลอยกะทงเฉพาะนวันลอยกระทง
กินข้าวโพดคั่วในโรงหนัง
ไวน์ขาวคู่กับปลา ไวน์แดงคู่กับเนื้อ
ฯลฯ
กติกาดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร เมื่อเทียบกับกติกาที่ห้ามขับรถฝ่าไฟแดง
หรือเมาเหล้าห้ามขับ
แต่ทุกวันนี้มี ‘กติกา’ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
และมีแนวโน้มว่า กติกาในโลกเริ่มจะคล้าย ๆ กันทั้งโลก
โทรศัพท์มือถือควรถ่ายภาพได้
ออกกำลังกายต้องใช้เครื่องมีอออกกำลังกายหรือไปเฮลธ์คลับ
ตั้งชื่อลูกต้องตรงตามกติกามงคล
‘กติกา’ ใหม่ ๆ เหล่านี้ล้วนวางบนรากฐานของการขู่คนเคลาให้กลัว ผูกทับด้วยการค้า
ทว่าเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ จะพบว่าไม่เคยมีกติกาใดที่เป็นอมตะ แม้แต่กฎหมาย
เพราะอะไรก็ตามที่สร้างโดยคน เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนที่สุด ฉีกทิ้งได้ง่ายที่สุด
-3-
วันนั้นผมซื้อเค้กก้อนใหญ่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อนที่ไปด้วยถามผม “ซื้อให้ใคร?”
“ภรรยา”
“วันเกิดเค้าหรือ”
“เปล่า”
“แล้วเนื่องในโอกาสอะไร”
“ไม่มีโอกาสอะไร”
เขาหัวเราะ เขาเป็นคนพร่ำบอกผมเองว่า คนเราไม่ควรยึดติดอะไร...
อ้างอิงจาก : หนังสือเสริมกำลังใจ รอยเท้าเล็ก ๆ ของเราเอง
โดย : วินทร์ เลียววาริณ 13 ตุลาคม 2547