รู้ทันทุกข์แล้วจะสุขเอง

รู้ทันทุกข์แล้วจะสุขเอง


รู้ทันทุกข์แล้วจะสุขเอง


ถ้าเราอยากจะมีความสุข สิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ...
การรู้จักความทุกข์เสียก่อน ไม่อย่างนั้น ความสุขก็เกิดไม่ได้

เหมือน เราเจ็บป่วยไปหาหมอ
ก่อนที่หมอจะทำการรักษา ก็ต้องรู้เสียก่อนว่า..
ปวดเจ็บ ตรงไหนบ้าง จะได้วินิจฉัยหาสาเหตุ แล้วจึงค่อยลงมือรักษา
ถ้าเราอยากหายจาก อาการเจ็บป่วยเราก็ต้องยอมให้หมอรักษาไม่ว่าจะชอบหรือไม่?

ความทุกข์แม้จะไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ แต่ถ้าอยากหายจากความทุกข์
ก็ต้องยอมรักษาไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม
และ วิธีรักษาก็มีหลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่อาการที่ปรากฏ
บางคนทุกข์ขนาดหนัก ก็ต้องอาศัยยาแรงหน่อย
คนไหนทุกข์น้อยก็เพิ่มวิตามินความสุขให้ใจแข็งแรง ยิ่งขึ้น

แต่ ที่สำคัญคือเรามักไม่ค่อยรู้ตัวเองว่ากำลังทุกข์อยู่
เพราะไม่ค่อยได้สนใจ ตรวจสุขภาพใจจึงไม่ได้เตรียมตัวป้องกันความทุกข์ไว้แต่เนิ่นๆ
พอรู้สึกตัว อีกทีก็หาทางออกไม่เจอเสียแล้ว
เราจึงควรเช็ดตัวเองบ่อยๆ ว่าตอนนี้จิตใจมีทุกข์มากน้อยแค่ไหน?



ใน พระพุทธศาสนาถือว่าเรามีทุกข์อยู่ตลอดเวลา
หิวก็ทุกข์ อิ่มก็ทุกข์ มีเงิน น้อยก็ทุกข์ เงินมากก็ทุกข์ มีงานก็ทุกข์ ไม่มีงานก็ทุกข์
เดินมากก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้น
หรือ ถ้ามองให้ลึกซึ้งกว่านั้นทุกๆ อย่างในตัวเราเป็นทุกข์ทั้งหมด
เพราะทุกอย่าง ล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีสิ่งไหนทนอยู่นิ่งๆ ได้
ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า ทุกข์ ที่แปลว่า อยู่อย่างเดิมไม่ได้

อย่างชีวิตเรามีเกิด แล้วก็แก่ เจ็บ ตาย เปลี่ยนแปลงไปตลอด
ไม่มีใครฝืนต่อความจริงนี้ได้
ยิ่งมองก็ยิ่งเห็นว่าชีวิตไม่เห็นจะดีที่ไหน มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น
แล้วความสุขอยู่ไหน?


ความสุขคือการอยู่เหนือความทุกข์ จนความทุกข์เอื้อมไม่ถึง
เป็นการพัฒนาใจให้ ก้าวพ้นความหมายของการยึดติด
หรือปล่อยวางอารมณ์ที่ทำให้เกิดความทุกข์
เพราะ ความทุกข์ก็เหมือนน้ำที่ตกตะกอนอยู่ก้นตุ่ม
พอถูกอะไรกระตุ้นเข้าก็ขุ่นมัว
แต่พอผ่านไป สักตะกอนก็จะกลับไปนอนนิ่งใต้ตุ่มเหมือนเดิม

เราจึงเห็นคนทะเลาะกัน เพราะถูกกระตุ้นด้วยความไม่พอใจ
แล้วตีกันจนปาดเจ็บหรือล้มตาย
แต่พอตำรวจจับได้ ต้องไปนอนในตาราง
จึงเริ่มสงบใจและคิดได้ว่า “ไม่น่าเลย”
หรือพอความคิดมีวุฒิภาวะมากขึ้น เราจึงเข้าใจว่าไม่น่าทำอย่างนั้นเลย

ถ้าหลายคนคิดได้ก่อนจะลงมือทำก็คงไม่ต้องทุกข์ภายหลังกับการกระทำของตน
แต่ความเป็นจริงเรามักถูกตัดขาดจากเหตุผลโดยสิ้นเชิง
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอารมณ์ที่มาอย่างไม่ทันตั้งตัวเสมอ
เพราะทุกครั้งที่เราเห็น ได้ยิน ดมกลิ่น ลิ้มรสอาหาร
หรือสัมผัสถูกต้องกับอะไรก็ตาม จะมีความรู้สึกว่าชอบไม่ชอบ
ถ้าชอบก็มีความสุขและแสดงออกถึงความชื่นชมพอใจ
ถ้าไม่ชอบ เราก็เป็นทุกข์ และพยายามกีดกันความทุกข์ให้ไกลออกไปให้มากที่สุด
แต่บางทีทุกข์ก็ไม่ได้หายไปไหน กลับเพิ่มปริมาณมากขึ้น
เพราะ ยิ่งเราเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ภายนอกเท่าไร
ก็เหมือนเป็นการเชื้อเชิญให้ ความทุกข์เข้ามาในตัวมากขึ้นเท่านั้น
เป็นการเปิดบ้านใจให้ความทุกข์เข้ามาอาศัย

เหมือนมีคนมาด่า เราเกิดความไม่พอใจ ก็ด่าว่ากลับคืนหรือทำร้ายร่างกายเขา
กลายเป็นว่าแทนที่เราจะทำใจให้ปกติ
เรากลับก่อความทุกข์ให้มากยิ่งขึ้นกับคำด่า
หรือการทำร้ายร่างกายกันจนอาจต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ถ้าเราไม่ใส่ใจหรือทำตัวเราให้ลอยอยู่เหนือทุกข์
คิดเสียว่าคำด่าก็คือคำแนะนำ ถ้าเป็นจริงเราก็ปรับปรุงแก้ไข
แต่ถ้าไม่จริงก็ไม่เห็นต้องไปสนใจ
เพราะเราไม่อาจเปลี่ยนสิ่งภายนอกให้เป็นอย่างที่เราต้องการได้
นอกจากเปลี่ยนใจ ตัวเองให้เป็นปกติ
แล้วไม่เปิดใจรับความทุกข์ให้เขามาได้
แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนความทุกข์ให้กับสาวกของพระองค์ตลอดเวลา
เพราะความ ทุกข์มีค่า และช่วยให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้ดีที่สุด
จึงไม่น่าแปลกหากจะมีวิชาที่อาจารย์ต้องการสอนศิษย์ให้เข้าใจชีวิตและตัวเองมากขึ้น
จะหยิบยกเอาเรื่องความทุกข์มาสอน
เพราะเมื่อเข้าใจความทุกข์ได้ ก็ไม่ยากที่ชีวิตจะดำเนินต่อไปได้อย่างมีความสุข

บางบทจาก.. หนังสือรู้ทันทุกข์แล้วจะสุขเอง โดย: กิตติเมธี
โดยสำนักพิมพ์ใยไหม



ขอบคุณบทความจากทำดีดอทเน็ตอโรชา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์