ทำแท้ง : ตัดสินอย่างไร ?..

ทำแท้ง : ตัดสินอย่างไร ?...พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)


“ทำแท้ง” พุทธศาสนามองว่าอย่างไร

ช่วงนี้มีการถกเถียงกันมากเกี่ยวกับประเด็น “ทำแท้ง” ว่าควรหรือไม่ควร โดยที่ทั้งฝ่ายเสนอ และฝ่ายคัดค้าน ต่างยกเหตุผลขึ้นมาถกเถียงกันฟังดูก็มีเหตุผลดีทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเสนอก็บอกว่าควรออกกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้เพราะตอนนี้ก็มีการลักลอบทำแท้งเถื่อนกันมากมาย ถึงอย่างไรก็ควบคุมกันไม่ได้อยู่แล้ว ทำไมไม่ทำให้มันถูกต้องไปเสียเลย

บางคนก็ว่าในกรณีที่ตรวจพบว่าเด็กมีโรคร้ายแรงคลอดออกมาก็ทรมานเปล่าๆ อีกไม่นานก็ตาย สู้ทำแท้งไปเลยจะได้ตัดปัญหาตั้งแต่ต้นลม ฯลฯ ฝ่ายคัดค้านก็คัดค้านอย่างจริงจัง โดยให้เหตุผลว่าการทำแท้งจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กหนุ่มสาวมั่วเพศกันมากขึ้น บ้างก็ว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม สรุปว่าข้อโต้แย้งเรื่องการทำแท้งนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่ยุติตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

“ทำแท้ง” พุทธศาสนาวินิจฉัยว่าสมควร หรือไม่สมควรอย่างไร ?

ถ้าจะให้ตอบก็คงจะต้องตอบตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งวินิจฉัยว่า การทำแท้งเท่ากับการฆ่ามนุษย์คนหนึ่งเลยทีเดียว เพราะพุทธศาสนาถือหลักว่าการปฏิสนธิว่าคือจุดเริ่มต้นของการเกิดเป็นมนุษย์ คือมีจิตใจของมนุษย์เกิดขึ้นอยู่ในเซลล์ชีวิตเล็กๆ ที่ปฏิสนธินั้นแล้ว และภาวะแห่งความเป็นมนุษย์นี้จะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อตายลง

อนึ่ง ในทางพุทธศาสนาท่านถือว่าการฆ่ามนุษย์นั้นบาปหนักกว่าการฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน เพราะภาวะของมนุษย์ท่านถือว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐที่ต่างจากสัตว์ดิรัจฉานทั่วไป เหตุผลคือชีวิตมนุษย์เป็นชีวิตที่มีโอกาสสามารถพัฒนาตนให้เจริญงอกงามได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ยกตัวอย่างเช่น คนธรรมดาอย่างเจ้าชายสิทธัตถะยังสามารถพัฒนาตนจนอุบัติเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็นต้น ดังนั้นการฆ่ามนุษย์แม้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จึงเท่ากับการตัดโอกาสของชีวิตที่จะได้พัฒนาตนต่อไป

ในเมื่อพุทธศาสนามองว่าบุตรในครรภ์แม้วันแรกก็ถือว่าเป็นมนุษย์แล้วเช่นนี้ ในการตัดสินใจว่าการทำแท้ง สมควรหรือไม่สมควร จึงเป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยเป็นกรณีๆ ไป ไม่มีคำตอบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจอะไรลงไป แต่สิ่งควรจะต้องตระหนักรู้ไว้อยู่ตลอดเวลาในการที่จะตัดสินใจว่าควรหรือไม่ควรทำแท้ง คือ ชีวิตเล็กๆ ในครรภ์นั้นได้มีภาวะของความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นแล้ว หาใช่แค่เซลล์เล็กๆ หรือก้อนเนื้อก้อนเล็กๆ อย่างที่เคยเข้าใจแต่อย่างใด

หลักฐานที่มีมาในพระไตรปิฎก และอรรถกถา
เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่อง “ทำแท้ง”


๑. พระวินัยบอกว่าฆ่ามนุษย์เป็นบาปหนักที่สุด บาปยิ่งกว่าการฆ่าสัตว์ใดๆ ภิกษุใดฆ่ามนุษย์
ถือว่าต้องอาบัติปาราชิก หมดสิทธิเป็นสมณะอีกต่อไป ดังจะยกบาลีขึ้นมาอ้างดังต่อไปนี้

โย ปน ภิกฺขุ สญฺจิจฺจ มนุสฺสวิคฺคหํ ชีวิตา โวโรเปยฺย, อยมฺปิ ปาราชิโก อสํวาโส
(วินย.๑/๑๘๐/๑๓๗)

แปลว่า ภิกษุใดจงใจพรากชีวิตมนุษย์ ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หมดสิทธิอยู่ร่วมกับสงฆ์
(ไม่สามารถอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นได้อีกต่อไป)

โย ภิกขุ สญฺจิจฺจ มนุสฺสวิคฺคหํ ชีวิตา โวโรเปติ อนฺตมโส คพฺภปาตนํ อุปาทาย,
อสฺสมโณ โหติ อสกฺยปุตฺติโย (วินย.๔/๑๔๔/๑๙๕)

“ภิกษุใดจงใจพรากชีวิตมนุษย์แม้แต่เพียงทำครรภ์ให้ตกไป
(ทำครรภ์ให้ตกไปหมายความว่าทำแท้งนั่นเอง) ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นศากยบุตร”

๒. ในพระสูตรบอกว่า ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อเกิดองค์ประกอบสามอย่าง คือ
๑) มารดาบิดาร่วมกัน
๒) มารดาไข่สุก และ
๓) มีสัตว์เข้าไปเกิด

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด มารดาบิดาร่วมกัน ๑ (มีเพศสัมพันธ์)
มารดาอยู่ในฤดู (ช่วงเวลาไข่สุก) ๑ และคันธัพพะเข้าไปตั้งอยู่แล้ว ๑ ( มีสัตว์ที่เข้าไปเกิด ) เพราะประชุมองค์ประกอบ ๓ ประการอย่างนี้ ก็มีการก้าวลงแห่งครรภ์”
(ม.มู.๑๒/๔๕๒/๔๘๗)

๓. อรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า ปฐมจิตเกิดขึ้นครั้งแรกพร้อมกับ อรูปขันธ์ ๓ และกลลรูป ดังนั้นตามหลักพุทธศาสนาชีวิตจึงมีองค์ประกอบขันธ์ ๕ ครบสมบูรณ์ ณ วันที่เริ่มปฏิสนธินั่นเอง

๔. กลลรูป เป็นเซลล์ขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และจะใช้เวลานานประมาณ ๕ สัปดาห์ กว่าจะเริ่มงอกแขนขาและศีรษะ ออกมาเป็นร่างกายมนุษย์ โดยที่ขั้นตอนเจริญเติบโตกว่าที่จะงอกเป็นปุ่มปมห้าปุ่ม นี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละสัปดาห์ ดังจะขอยกอรรถาธิบายของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) มาแสดงดังต่อไปนี้

ทำแท้ง : ตัดสินอย่างไร ?..


ชีวิตในครรภ์ เป็นอย่างไร ?

ปฐมํ กลลํ โหติ กลลา โหติ อพฺพุทํ
อพฺพุทา ชายเต เปสิ เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน
ฆนา ปสาขา ชายนฺติ เสา โลมา นขาปิ จํ

นี้คือคำอธิบายว่าด้วยลำดับการเกิดเป็นระยะๆ ทีละช่วงสัปดาห์ หรือช่วงละเจ็ดวันๆ ลำดับแรกที่สุดก็คือเป็น ปฐมํ กลลํ เป็นกลละก่อน กลละนี่ถ้าเป็นศัพท์ในความหมายทั่วไปก็จะได้แก่พวกเมือก พวกโคลนตม เช่นว่าเหยียบลงไปในโคลนหรือในที่เละ แต่ในที่นี้ กลละ เป็นศัพท์เฉพาะซึ่งมีความเกี่ยวกับชีวิต และท่านใช้คำเรียกว่าอย่างนั้น ก็เพราะมีลักษณะเป็นเมือก หรือเหมือน อย่างน้ำโคลนเละๆ คือเป็นคำเรียกตามลักษณะ แต่ในกรณีนี้ ท่านหมายถึงเป็นเมือกใส ไม่ใช่ข้นอย่างโคลนตม

กลละ นี้ ท่านบอกว่าเป็นหยาดน้ำใส เป็นหยดที่เล็กเหลือเกิน เล็กจนกระทั่งในสมัยนั้นไม่รู้จะพูดกันอย่างไรเพราะยังไม่ได้ใช้มาตราวัดอย่างละเอียดถึงขนาดที่ว่าเป็นเศษส่วนเท่าไรของวิธีอุปมาว่า หยาดน้ำใสกลละนี้นะ มีขนาดเล็กเหลือเกิน เหมือนอย่างเอาขนจามรีมา จามรีที่เป็นสัตว์อยู่ทางภูเขาหิมาลัย ซึ่งมีขนที่ละเอียดมากเอาขนจามรีเส้นหนึ่งมาจุ่มน้ำมันงา แล้วก็สลัดเจ็ดครั้ง แม้จะสลัดเจ็ดครั้งแล้วมันก็ยังมีเหลือติดอยู่นิดหนึ่ง ซึ่งเล็กเหลือเกิน ท่านบอกว่านี่แหละเป็นขนาดของกลละ กลละหมายถึงชีวิตในฝ่ายรูปธรรม เมื่อเริ่มกำหนดในเจ็ดวันแรกในช่วงเจ็ดวันแรกก็เป็นกลละอย่างนี้มาก่อน ซึ่งเล็กเหลือเกิน

แล้วต่อจากกละนี้ไปในสัปดาห์ที่สองก็เป็น อัพพุทะ อัพพุทะ นี้ควรจะเรียกได้ว่าเป็นเมือกกละ คือ เป็นน้ำข้นหรือเมือกข้น ต่อจากนั้นในสัปดาห์ที่ ๓ ก็จะเป็นเปสิ คือเป็นชิ้นเนื้อ แล้วต่อจากนั้นในสัปดาห์ที่ ๔ ก็จะเป็นก้อน เรียกว่า ฆนะ ต่อจากนั้นในสัปดาห์ที่ ๕ ก็จะเหมือนกับมีส่วนงอกออกมา เป็นปุ่มห้าปุ่ม เรียกว่าปัญจสาขา นี่เป็นสัปดาห์ที่ห้า แล้วหลังจากนั้นก็จะมีผมมีขนมีเล็บกันต่อไป


คัดลอกมาจาก
หนังสือเรื่องทำแท้ง : ตัดสินอย่างไร ? หน้า ๑๒-๑๔
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)


.................................................




ขอบคุณบทความจาก ธรรมจักรดอทเน็ต

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์