ความพอดี...(หลวงพ่อชา สุภัทโท)
อีกคำหนึ่งที่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อได้ยินบ่อย ๆ จนติดหู คือคำว่า “พอดี”
ท่านเคยพูดอยู่เสมอว่า ธรรมะคือพอดี
ความพอดี คือ ทางสายกลางไปสู่ความดับทุกข์
แล้วท่านย้ำสอนให้แต่ละองค์แต่ละคน
หาความพอดีของตัวเองในการประพฤติปฏิบัติ
“เรามาฝึกการปฏิบัติ ทำไมท่านถึงให้เรากินน้อย นอนน้อย พูดน้อย
อะไร ๆ ทุกอย่าง ให้มันน้อยไป ๆ คำที่ว่ามันน้อยน่ะ มันจะพอดีหรือ
ความเป็นจริงนั้นยังไม่พอดี ไม่สม่ำเสมอ
แต่ทำไมท่านถึงว่าให้เราทำให้มันน้อย
พูดน้อย ๆ คุยน้อย ๆ นอนน้อย ๆ เพื่อให้เรารู้จักความพอดี
ความเหมาะสมของตัวเรานั่นเอง
ทุกท่านให้พยายาม รีบเกินไปก็ไม่ได้
ให้รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว หาความพอดี
ถ้ามันน้อยไปเราก็เติม ถ้ามากไปเราเอาออก เป็นสัมมาปฏิปทาคือ พอดี
ถ้ามันดื้อ ก็ใช้ข้อวัตรเข้าควบคุม ให้มันเข็ด ฝึกมันทรมานมัน
ถ้ามันเป็นอีกก็ทำอีก นี่เรียกว่า การปฏิบัติหาทางพ้นทุกข์ของเรา
การพูดจาปราศรัย ทุกอิริยาบถให้มีความรู้สึกอยู่ในใจของเรา
ความพอดีนั้นเป็นแนวทางปฏิบัติที่ไม่ข้องแวะกับสิ่งสุดโต่ง
กามสุขัลลิกานุโยโค คือ ใจของเราลุ่มหลงในความสุข
ลุ่มหลงในความสบาย ลุ่มหลงในความดีใจ
ลุ่มหลงว่าเราดี เราเลิศ เราประเสริฐ
อัตตกิลมถานุโยโค คือ อาการที่ไม่พอใจ อาการที่เป็นทุกข์
อาการที่ไม่ชอบใจ อาการกริ้วโกรธ
ธรรม ๒ อย่างนี้ ไม่ใช่หนทางของบรรพชิตจะพึงเดิน
หนทางคือ อาการดีใจ หรือเสียใจ
เดินทางคือ ตัวผู้รู้ของเรานั่นแหละผู้เดินทางคือ จิต
ผู้สงบท่านไม่เดินทางนั้น
แต่ว่าทางนั้นท่าน ก็เห็น อาการสุขก็เห็น
แต่ท่านไม่มีอุปทานยึดมั่นกับมัน ปล่อยมันไป วางมันไป ละมันไป จึงเป็นผู้สงบ
การรู้จักความพอดี ก็เกิดจากการพิจารณาความไม่แน่นั่นเอง
การประพฤติปฏิบัตินี้ ต้องมีปฏิปทาที่พอดี ๆ ไม่สูงเกินไป อยู่ในระดับพอดี
ถ้ามันเกินพอดี หรือ ต่ำกว่าพอดี มันก็ไปไม่ได้ ไม่ใช่สัมมาปฏิบัติของพระ
ถ้าเราดูเสมอว่า ยืน นั่ง นอนน่ะ เรารู้สภาพอารมณ์ทั้งหลายมันพอดี
โดยอำนาจที่ว่า ของมันไม่แน่แล้ว มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นอีก
แต่ว่าคนเรามันทนไม่ไหว
มันอยากเกินขีด มันดันขึ้น ๆ ไม่รู้จักความพอดีของมัน
ความพอดีของมัน เกิดจากที่ว่าเมื่อพบอารมณ์อะไร ก็บอกมันว่าไม่แน่
เรื่องอนิจจังเรียกว่าไม่แน่ ทนเอาอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ก้าวไป ไม่ถอยกลับ
อยู่ตรงนี้ ทนไม่นานเดี๋ยวก็พบความจริงได้”