ดีไซน์ชีวิตด้วยธรรม

ดีไซน์ชีวิตด้วยธรรม


มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ประเสริฐสุด การได้เกิดเป็นมนุษย์ก็แสนจะยากเย็น การปล่อยให้ชีวิตล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย หรือแล้วแต่เหตุการณ์จะพาไปจึงเป็นการเสียโอกาสที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

เพื่อให้ชีวิตคุ้มค่าหลาย ๆ คนมีวิธีการและทางเลือกที่แตกต่างกันมากมาย บางคนเลือกใช้ชีวิตอย่างหัวหกก้นขวิดสนุกสนานกับการผจญภัยและสิ่งแปลกใหม่ในทุกรูปแบบ บางคนเลือกไขว่คว้าหาอำนาจและเงินตรามาเติมแต่งสร้างสีสันให้กับชีวิตของตน บางคนคิดสั้น ๆ ในการดำรงชีวิตด้วยการเอารัดเอาเปรียบผู้คนและอาจล่วงเลยไปถึงการทำร้ายร่างกายและชีวิตของผู้อื่น

คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะสอนมาตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว ก็ยังคงเป็นจริงและใช้ได้ดีอยู่เหมือนเดิม แถมมีขอบเขตที่กว้างขวางครอบคลุมไปทั่วหมด เช่น อยากทำอะไรให้สำเร็จก็มี หลักอิทธิบาทสี่ คือ สร้างความพอใจในงานและในองค์กรให้เกิดขึ้นก่อน (ฉันทะ) ต่อจากนั้นก็ขยันพากเพียรทำงานในความรับผิดชอบ (วิริยะ) เท่านั้นยังไม่พอ ต้องเอาใจฝักใฝ่ในงาน คือ ระลึกถึงงานของตนอยู่บ่อย ๆ เวลาไปไหนมาไหนมองเห็นอะไรก็สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับงานในหน้าที่ของตนได้

(จิตตะ) ท้ายสุดก็คือ ต้องมีการประเมินและวิเคราะห์งานของตนอยู่บ่อย ๆ (วิมังสา) ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำงานหลาย ๆ คนอาจมีหลักการอย่างนี้อยู่แล้วโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องรู้ว่านี่คือ หลักอิทธิบาทสี่ก็ได้

อยากให้เป็นที่รักของคนอื่น ๆ ก็มีหลัก สังคหวัตถุสี่ ธรรมะเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่น ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน ได้แก่ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปันสิ่งของตลอดจนความรู้ให้แก่กัน (ทาน) พูดจากันด้วยความหวังดี มุ่งให้ประโยชน์ (ปิยวาจา) รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม (อัตถจริยา) และสุดท้ายก็คือ ไม่ถือตัว ไม่เอาเปรียบ ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย (สมานัตตา) ถ้าทำได้แบบนี้ก็ย่อมจะมีคนรักมากกว่าชัง แต่จะให้ใคร ๆ มารุมรักทั้งหมดก็คงไม่ใช่อีกนั่นแหละ เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ 100%

ทั้งหลักอิทธิบาทสี่และสังคหวัตถุสี่เป็นธรรมที่เราอาจหยิบมาใช้ในลักษณะเป็นเครื่องประดับตกแต่งชีวิตของเรา แต่มีธรรมพื้น ๆ ที่ทุกคนรู้จักแต่มักจะถูกมองข้าม ไม่ได้รับความสนใจ บางครั้งถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าสมัย หรือบางครั้งก็มองว่าเป็นสิ่งไกลเกินเอื้อม ทำตามไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ ทั้งที่เป็นธรรมที่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมที่จะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เป็นธรรมที่ควรให้เป็นพื้นฐานของชีวิตของทุก ๆ คน นั่นคือ ศีลห้า ศีลห้าเป็นเครื่องช่วยควบคุมกายและวาจาของเราไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ศีลห้าจึงช่วยให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข ผู้คนจะมีความซื่อสัตย์ ไม่ลักขโมย ไม่พูดจาโกหกหลอกลวง เชื่อถือไม่ได้ การพูดจาโกหกนั้นฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่แท้ที่จริงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะท่านว่า คนพูดเท็จนั้นบาปอื่นที่เขาจะไม่ทำไม่มี จะไม่มีการเข่นฆ่ากันง่าย ๆ เพียงเพราะเขามากีดขวางทางหาผลประโยชน์ ฯลฯ

บางคนอาจเข้าใจว่าจะรักษาศีลต้องไปรับศีลจากพระสงฆ์ก่อน ที่จริงแล้วเราอาจรักษาศีลของเราได้เอง โดยเพียงแต่ตั้งเจตนาว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมยของของคนอื่น ไม่ประพฤติผิดในลูกเมียคนอื่น ไม่พูดโกหก และไม่ดื่มสุราเมรัย แล้วก็ทำตามนั้นก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ข้อไหนยังไม่สะดวกที่จะทำหรือทำไม่ได้ก็อาจเว้นไปก่อน ต่อเมื่อปฏิบัติเป็นประจำไปนาน ๆ เราจะรู้สึกได้เองว่าศีลของเราค่อย ๆ บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สามารถงดเว้นในสิ่งที่ไม่เคยงดเว้นได้อย่างคาดไม่ถึงและไม่น่าจะเป็นไปได้ เมื่อเริ่มต้นปฏิบัติเรียกว่า เรารักษาศีล ต่อเมื่อปฏิบัติไปนาน ๆ แล้ว ศีลกลับจะเป็นฝ่ายรักษาเรา ให้เรามีความสุขกาย สุขใจอย่างไม่น่าเชื่อ


ขอบคุณบทความจาก ทำดี.คอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์