ใจตนเองที่ต้องพิจารณา
ความรักความชอบใจนั้น ก็มีความหมายแสดงชัดเจนอยู่ในตัวเอง
แล้ว ว่าเป็นเรื่องของใจโดยแท้ จึงให้ดูเข้ามาในใจตนเองเกี่ยวกับ
ความรู้สึกรักชอบในใจตนเองนี้แหละ ทุกคนหรือส่วนมากน่าจะมี
ความรู้สึกรักชอบในคนนั้นสิ่งนั้นอยู่มากมายหลายคนหลายอย่าง
ด้วยกัน ทั้งในปัจจุบันและในอดีต ให้เลือกจับขึ้นมาพิจารณาเพียง
หนึ่ง คือให้เลือกพิจารณาดูความรักชอบของตนเอง ในคนใดคน
หนึ่งหรือในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงคนเดียวหรือสิ่งเดียวเท่านั้น
นึกย้อนไปดูจิตใจตนเองในอดีต เริ่มแต่มีความรักชอบเกิดขึ้น
พยายามทบทวนความจำให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
จะนึกได้ว่าความรักเมื่อแรกเกิดจริงๆ กับความรักในเวลาต่อมา
หาได้เหมือนกันไม่ มีเปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับ เวลาหนึ่งอาจจะ
มากขึ้น เวลาต่อมาอาจจะลดน้อยลง ต่อมาอีกอาจจะกลับมาก
ขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมากอยู่ในระดับเดียวกับที่เคยมากมาแล้ว
สังเกตุดูจริงๆ จะต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เปลี่ยน
เป็นมสกหรือน้อยก็ตาม ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจริงๆ จะ
ฝืนใจตนเองอย่างไรที่จะไม่ให้ความรู้สึกในใจเปลี่ยนแปลงไป ให้
อยู่ในสภาพเดียวกันตลอดเวลานั้นเป็นไปไม่ได้ นี้คือความไม่เที่ยง
นี้คือความเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
นี้คืออนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้อง
การ ที่ว่าไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการนี้ ก็เป็นความ
จริงที่แม้พิจารณาให้ดีก็ย่อมประจักษ์ชัด บางทีรู้สึกว่าคนนั้นไม่ควร
พยายามจะไม่รัก พยายามฝืนใจตนเองที่ตัวรู้สึกว่ามีความรักในคน
ผู้ไม่ควรรักเสียแล้ว ก็หาอาจทำให้เป็นไปตามความปรารถนาต้อง
การได้ไม่ บางทีรู้สึกว่าคนนั้นควรรัก พยายามจะรัก ก็หาอาจทำให้
เป็นไปตามความปรารถนาต้องการได้ไม่ บางทีรู้สึกว่าตนเป็นทุกข์
เพราะความรัก รู้สึกว่าไม่รักจะไม่ทุกข์ พยายามจะไม่รักก็ใช่ว่าจะเป็น
ไปตามความปรารถนาต้องการของเราไม่ ย่อมเป็นไปเองตามที่เป็น
อนัตตาคือไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจความปรารถนาต้องการใดๆ
ทั้งสิ้น นี้คืออนัตตา...
ทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา...ในเรื่องความรักชอบของทุกคนมีเหมือน
กันทั้งนั้น ไม่มียกเว้นในปุถุชนคนใด จึงเมื่ออนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้
ปรากฏให้เห็นเด่นชัดเมื่อใด กล่าวอีกอย่างก็คือ เมื่อต้องประสบความ
พลัดพรากจากเป็นเมื่อใด ก็ให้ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องของไตรลักษณ์
ที่ต้องมีเป็นธรรมดา ตัวเราเองยังเป็นได้ อนิจจังทุกขังอนัตตาในใจเรา
ก็เห็นอยู่ เราก็ห้ามไม่ได้ฝืนไม่ได้ แล้วเราจะไปโทษคนอื่นเมื่อคนอื่น
เป็นเช่นนั้นก็ไม่ถูก
คิดเช่นนี้ให้เห็นจริง แล้วความโกรธแค้นหรือความน้อยใจเสียใจจะไม่
เกิด ความทุกข์จะเบาบางลง โทษที่จะเกิดตามมาดังได้กล่าวแล้วว่า
เป็นการแก้แค้นเขาบ้างเป็นการทำลายตัวเองบ้าง หรือเป็นการเสียสติ
เลยบ้าง ก็จะไม่มี จะมีก็อาจจะเป็นเพียงความเสียใจเพียงพอประมาณ
ตามวิสัยของปุถุชนที่ยังไม่อาจตัดขาดจากความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง..ฯ
~สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก~
ขอนอบน้อมแด่คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์