ธรรมชาติของชีวิต ๗ ประการ
(อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อรกานุสาสนีสูตร)
ในอรกานุสาสนีสูตร แห่งคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ได้แสดงว่า
ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนด้วยอุปมา ๗ ประการด้วยกัน คือ
๑. ชีวิตของมนุษย์เปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง
กล่าวคือ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่ออาทิตย์ขึ้นมา ก็พลันแห้งหายไป
ชีวิตมนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกันคือนิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแคบมาก
จะพึงเข้าใจได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์
เพราะสัตว์ที่เกิดแล้วจะไม่ตายไม่มี
(ชีวิตของมนุษย์ประมาณ ๑๐๐ ปี เกินกว่านั้นไปก็มี แต่เป็นส่วนน้อย)
๒. ชีวิตของมนุษย์เปรียบเหมือนฟองน้ำ
กล่าวคือ เมื่อฝนตกหนักฟองน้ำ (อันเกิดขึ้นเพราะฝน) ย่อมแตกไปเร็ว
ชีวิตก็ตั้งไม่ได้นาน เช่น ต่อมน้ำ
๓. ชีวิตของมนุษย์เปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ
กล่าวคือ (น้ำเป็นของไม่แยกกัน) รอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ก็พลันกลับเข้าหากัน
คนที่ยังมีชีวิตก็ดุจกัน ถ้ายังมีปัจจัยสนับสนุนกยังคงอยู่ได้
๔. ชีวิตของมนุษย์เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา
กล่าวคือ แม่น้ำไหลลงจากภูเขาไหลไปไกล กระแสเชี่ยว พัดสิ่งต่าง ๆ ไปด้วย
ไม่มีหยุด (แม้สักครู่เดียว) โดยที่แท้ แม่น้ำมีแต่ไหลเรื่อยไปเท่านั้น
๕. ชีวิตของมนุษย์เปรียบเหมือนก้อนเขฬะ (น้ำลาย)
กล่าวคือ บุรุษที่แข็งแรงอมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้น แล้วพึงถ่มไปได้โดยง่ายดาย
๖. ชีวิตของมนุษย์เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ
กล่าวคือ ชิ้นเนื้อที่บุคคลใส่ไว้ในกระทะเหล็กร้อนตลอดวันยังค่ำ
ย่อมจะไหม้ไปอย่างรวดเร็ว
๗. ชีวิตของมนุษย์เปรียบเหมือนแม่โคที่จะถูกฆ่า
กล่าวคือ แม่โคที่จะถูกฆ่า ซึ่งเขานำไปสู่ที่ฆ่า
ก้าวเท้าเดินไปเท่าใด ก็ใกล้ความตายเข้ามาเท่านั้น