ความแตกต่างระหว่าง “ผลของทาน” และ “อานิสงส์ของทาน”

ความแตกต่างระหว่าง “ผลของทาน” และ “อานิสงส์ของทาน”



ความแตกต่างระหว่าง “ผลของทาน” และ “อานิสงส์ของทาน”
อาจารย์ทวีศักดิ์ คุรุจิตธรรม


ข้าพเจ้าอยากจะสะกิดใจเพิ่มเติม
เพื่อชี้ให้ทุกท่านผู้ใฝ่ธรรมและผู้มีจิตศรัทธา
ได้ทราบถึงความแตกต่างระหว่าง “ผลของทาน”
และ “อานิสงส์ของทาน”

ซึ่งมีกล่าวไว้ใน ทานสูตร อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต
โดยพอสรุปใจความได้ดังนี้

ให้ทานเพราะ

๑. อยากได้รับผลแห่งทานที่ได้ให้ไป

เช่น ไปเกิดในที่ดีดีๆ ได้รับผลตอบแทนในทางใดทางหนึ่ง
จากทานที่ได้ให้ไป เป็นต้น

• ผลของทาน - มาก
• อานิสงส์ - ไม่มาก

๒. เห็นว่าให้ทานแล้วจะเป็นการสั่งสมบุญกุศลประจำตัวเรา

• ผลของทาน - มาก
• อานิสงส์ - ไม่มาก

๓. เห็นว่าพ่อแม่ปู่ยาตายายเคยทำกันมา ก็เลยทำตาม

• ผลของทาน - มาก
• อานิสงส์ - ไม่มาก

๔. เห็นว่าต้องการส่งเสริมและช่วยเหลือสมณพราหมณ์
ผู้ยังชีพจากทานที่มีบุคคลอื่นยื่นให้

• ผลของทาน - มาก
• อานิสงส์ - ไม่มาก

๕. ต้องการเดินตามแบบอย่างของผู้มีน้ำใจในการให้ทาน

• ผลของทาน - มาก
• อานิสงส์ - ไม่มาก

๖. เพราะหวังอยากให้ใจมีความสุข เกิด ปิติ
ความทุกข์จะได้ไม่ย่างกรายเข้ามา


• ผลของทาน - มาก
• อานิสงส์ - ไม่มาก

๗. เพราะเห็นว่าให้ทานจะเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจ
ให้หมดจดจากกิเลสเพื่อก้าวสู่ความเป็นพระอริยะบุคคล


• ผลของทาน - มาก
• อานิสงส์ - มาก

ความแตกต่างระหว่าง “ผลของทาน” และ “อานิสงส์ของทาน”


ท่านจะเห็นได้ว่าการให้ทาน การสร้างบุญ สร้างกุศลใดก็ตาม
แม้ผลของทานและบุญกุศลจะมีมาก


เช่น การได้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ
การได้เกิดเป็นเศรษฐีในโลกมนุษย์ ฯลฯ
แต่ก็ไม่อาจขัดกิเลส ๓ กองใหญ่ คือ โลภ โกรธ หลง
ให้สูญสิ้นไปจากจิตใจได้ จริงๆ

แม้คุณภาพของจิตหรือใจเราจะเหนือกว่าสามัญชนอื่นๆ
แต่ไม่อาจตัดวัฏฏะ
(การเวียนว่ายตายเกิดนั้นลงๆ จนถึงจุดสูงสุด
คือการไม่กลับมาเกิดอีกได้)

เพราะพุทธองค์ตรัสว่า

การเกิดเป็นการนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งปวงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เพราะเมื่อมีเกิด ก็ต้องตามมาด้วยความแก่
ความเจ็บ (โรคภัยไข้เจ็บ) ความตาย
ความโศกเศร้า ความร่ำไห้รำพัน ความโทมนัส
ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก
ความปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สิ่งนั้น ฯลฯ
ล้วนนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งสิ้น

ฉะนั้น ถ้าอยากจะดับทุกข์โดยสิ้นเชิง
ก็จะต้องไม่มาเกิดอีก
ซึ่งจะทำได้ก็ต้องตัดกิเลส ๓ กองใหญ่
อันได้แก่ โลภ (รวมราคะด้วย) โกรธ หลง
ให้หมดสิ้นไปให้เหลือเชื้อหลงเหลือ

ดังนั้นผู้ที่ยังหวังผลจากทานที่ได้ให้ไปหรือจากบุญกุศลที่ได้ทำ
ย่อมถือว่า ยังมีความอยากอยู่
แม้ผลของทานหรือบุญกุศลจะมีมาก


เพราะคำว่า “อานิสงส์” มุ่งเน้นให้จิตหมดจด
จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง
ไม่ให้หลงเหลือ เพื่อหลีกหนีการเกิดนั่นเอง
ข้าพเจ้าจึงขอฝากข้อคิดนี้ให้กับผู้อ่านทุกๆ ท่าน
เพื่อที่ทุกๆท่านจะได้ยกระดับจิตเหนือกว่า
ผู้ให้หรือผู้บำเพ็ญธรรมทั่วไป

อันเป็นเป้าหมายโดยตรงในการปฏิบัติธรรม
เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฏฏะอย่างแท้จริง........

การสร้างบารมีนั้นจะต้องไม่หวังผลตอบแทนใดใดทั้งสิ้น
จึงจะถือว่าเป็นการบารมีที่แท้จริง

ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม 

   

คัดลอกบางตอนมามา : มาทำความเข้าใจ “ผลของทาน” และ “อานิสงส์ของทาน” ต่างกันอย่างไร
โดย อ.ทวีศักดิ์ คุรุจิตธรรม ในข่าวสารกัลยาณธรรม ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๐, หน้า ๒-๓

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์