เข้าใจทุกข์ก็พ้นทุกข์
เข้าใจทุกข์ก็พ้นทุกข์
ในตอนแรกๆ เราคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง มันต้องผ่านการเกิดการตาย แต่ว่าในสองประโยคสุดท้ายนั้น การเกิดการตายเป็นแต่เพียงความคิดเห็น และเมื่อสามารถข้ามพ้นความคิดเห็นของการเกิดและการตายได้ เราก็จะพบแหล่งของความสุข และเธอจะไม่กลัวความเป็นอนิจจังและการเกิดการตายอีกต่อไป
นั่นคือบทคาถาที่มีความงดงามมากที่สุดคาถาหนึ่ง ในคำสอนของพระพุทธองค์ เพราะฉะนั้น เมื่อเรามองอย่างลึกซึ้งในเรื่องความเป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจังจึงหมายถึง การเป็นดั่งกันและกัน หมายถึงความเป็นอนัตตา และนั่นก็คือสิ่งที่เราควรจะทำสมาธิ เราไม่ควรยึดติดว่าเป็นความจริงอันสูงสุด เป็นความคิดเห็นอันสุดยอด
เรามีแนวโน้มที่จะเสาะแสวงหาความน่ายินดีความพึงพอใจในตัวเรา ในตัวเรามีสิ่งที่เรียกว่า "มนัส" เป็นสภาพหนึ่งของจิตใต้สำนึกที่พยายามวิ่งหนีความทุกข์ และยึดติดกับความอยาก ความน่ายินดี ความพึงพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง เมื่อเราไม่มีปัญญาเห็นแจ้งที่เกิดจากการเจริญสติและสมาธิ เรากำลังอนุญาติให้มนัสบงการชีวิตของเราด้วยการวิ่งหนีออกจากความทุกข์ วิ่งหนีออกจากความเจ็บปวด แล้วพยายามวิ่งตามความอยากอยู่เสมอ
เรารู้ว่าความทุกข์นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เราสามารถเรียนรู้ได้ แต่ถ้าเราไม่สามารถโอบกอดความทุกข์ของเรา และมองเข้าไปสู่ธรรมชาติของความทุกข์นั้น เราจะไม่สามารถเห็นหนทางที่นำไปสู่การเยียวยา และหลุดพ้นออกจากความทุกข์
มนัสจะพยายามทำให้เราเพิกเฉยกับความเป็นจริงเช่นนี้ คือ หลีกหนีความดีงามของความทุกข์ มนัสจึงไม่สามารถเห็นบทบาทของโคลนตมที่มีต่อดอกบัว มนัสเชื่อว่าดอกบัวเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีโคลนตม มนัสนั้นจึงไม่เห็นอันตรายที่เกิดจากการวิ่งตามความอยาก
มนัสนั้นดึงดูดความอยากมากมายและเมื่อได้มาซึ่งความอยากเหล่านั้นแล้ว เรากลับเป็นทุกข์มากยิ่งขึ้น เหมือนกับกระดูกเปล่าที่สุนัขพยายามกัดแทะอย่างไม่เคยพึงพอใจ และมนัสก็ไม่สามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้น การทำสมาธิหมายถึง การมีปัญญารู้แจ้งในคุณดีงามของความทุกข์ และมีปัญญาที่จะเห็นถึงอันตรายของการวิ่งเสาะแสวงหาสิ่งที่เราอยากได้ เราต้องช่วยเพื่อนมนุษย์ให้เห็นสิ่งเหล่านี้
ธรรมบรรยายโดย ท่านติช นัท ฮันห์