ทำบุญครั้งเดียวได้ผลบุญสามครั้ง
เวลาเราทำบุญจะได้ผลบุญสามครั้ง คือ
1. ขณะที่คิดจะทำ ก็ได้บุญแล้ว เช่น ตั้งใจว่าพรุ่งนี้เช้าจะตักบาตร
2. ขณะที่กำลังทำ ก็ได้บุญอีก เช่น กำลังตักบาตร
3. หลังจากทำไปแล้ว เมื่อคิดถึงว่าได้ทำ ก็จะได้บุญอีก
เรื่องได้ผลบุญสามครั้งนี่ เมื่อลองไปเทียบกับพรหมวิหาร 4 ก็ยิ่งรู้สึกสอดคล้อง
แต่ก่อนอื่น เราลองมาทวนคำว่าพรหมวิหาร 4 กัน
พรหมวิหาร 4 เป็นธรรมของผู้เป็นพรหมหรือผู้เป็นใหญ่ ผู้ใดมีพรหมวิหาร 4 ก็จะมีเสน่ห์ ซึ่งพรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย
1. เมตตา รู้สึกสงสารผู้อื่น
2. กรุณา ยื่นมือช่วยเหลือ
3. มุทิตา ยินดีในสิ่งที่ผู้อื่นได้ดี
4. อุเบกขา มีใจเป็นกลาง ไม่รู้จักทุกข์หรือสุข
ซึ่งถ้าลองไปเทียบกับผลบุญสามครั้งดังที่กล่าวข้างต้นก็จะตรงกันพอดี เช่น
1. สมมติเราเห็นคนแก่กำลังข้ามถนน และรู้สึกสงสาร ก็จะเรียกได้ว่าเรามีเมตตา
-> ตรงกับขั้นต้นที่ว่า แค่คิดก็ได้บุญแล้ว
2. ถ้าเราลงมือช่วยช่วยคนแก่ข้ามถนน ก็จะเรียกได้ว่าเรามีความกรุณา
-> ตรงกับขั้นต้นที่ว่า เมื่อลงมือทำก็ย่อมได้บุญ
3. เมื่อเราพาคนแก่ข้ามถนนแล้วเรารู้สึกยินดีกับผลที่ได้ ก็จะเรียกได้ว่าเรามีมุทิตา
-> ตรงกับขั้นต้นที่ว่า เมื่อคิดถึงสิ่งดีดีที่ทำก็จะได้บุญอีก
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คำว่าอุเบกขา แปลว่า วางเฉย ตรงนี้มีคนเข้าใจผิดเยอะว่า นิ่งดูดาย และถ้าเทียบกับตัวอย่างก็จะเข้าใจผิดกันไปใหญ่ว่า เมื่อเห็นคนแก่แล้วให้นิ่งดูดาย ซึ่งผิด
จริง ๆ แล้ว วางเฉย หมายถึง ถ้าคนแก่ปฏิเสธไม่ให้เราพาข้าม เราต้องรีบวางอุเบกขาทันที อย่าไปคิดติติงว่า คนแก่นี้ทำไมไม่ให้เราจูงมือข้าม ไม่งั้นเราจะบาปทันที
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงรอบคอบมาก ซึ่งหากเราประพฤติตนตามพรหมวิหาร 4 แล้วไม่มีโอกาสทำบาปเลย
เช่นเดียวกับ หากเราพบใครทำบาปแล้วเราเตือนแล้วเค้าไม่ฟัง เราอย่าไปด่าเขา ไม่งั้นเราก็จะบาปด้วย วิธีที่ถูกคือ เมื่อเราเตือนแล้วเค้าไม่ฟัง เราต้องรีบวางอุเบกขา คือวางเฉย ให้คิดว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมใครกรรมมัน เราเองไม่มีบุญพอที่จะไปช่วยเค้าก็แค่นั้นเอง
ขอบคุณบทความจากพลังจิตดอทคอม