กิจของจิต
ท่านแสดงหน้าที่การงานของจิตไว้เป็น ๑๔ กิจ
โดยอธิบายว่า การงานต่างๆ ที่เกี่ยวด้วยกายและวาจา
เช่น การเดิน การพูด การฆ่าสัตว์ หรือการลักขโมย
ต้องอาศัยจิตอันประกอบด้วยสหชาติ (ที่เกิดร่วมด้วย)
คือเจตสิกเป็นผู้ควบคุมสั่งให้ทำ การงานนั้นจึงจะสำเร็จได้
ส่วนการงานที่เกี่ยวกับใจคือการนึกคิดเรื่องราวต่างๆ
เช่นคิดเบียดเบียนไม่อยากให้เขาได้สุขสบาย เป็นต้น
จิตและเจตสิกเป็นผู้กระทำเองข้อนี้แสดงว่าจิตและเจตสิก
ย่อมมีกิจหรือหน้าที่การงานของตนๆ อยู่
จะเกิดขึ้นเฉยๆ โดยไม่ทำหน้าที่การงานนั้นย่อมไม่มี
กิจของจิต ๑๔ อย่างคือ :-
๑. ปฏิสนธิกิจ ทำหน้าที่สืบต่อภพใหม่ คือทำให้สัตว์เกิดขึ้นในภพ
ในชีวิตหนึ่งๆ ของมนุษย์หรือสัตว์ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นครั้งเดียว ในอันดับแรกก็ดับ
๒. ภวังคจิต ทำหน้าที่รักษาภพชาติให้ตั้งอยู่ จนเท่าที่อายุสังขารจะอยู่ได้ในภพที่ปฏิสนธินั้น
เกิดขึ้นต่อจากปฏิสนธิจิต มีการเกิดดับนับครั้งไม่ถ้วนไปจนถึงจุติ (ตาย)
๓. อาวัชชนกิจ ทำหน้าที่รับอารมณ์ที่มากระทบทุกครั้งเกิดดับนับครั้งไม่ถ้วน
๔. ทัสสนกิจ ทำหน้าที่เห็น เกิดดับทุกขณะที่เห็น
๕. สวนกิจ ทำหน้าที่ได้ยิน เกิดดับทุกขณะที่ได้ยิน
๖. ฆายนกิจ ทำหน้าที่รู้กลิ่น เกิดดับทุกขณะที่รู้กลิ่น
๗. สายนกิจ ทำหน้าที่รู้รส เกิดดับทุกขณะที่รู้รส
๘. ผุสสนกิจ ทำหน้าที่รู้สิ่งที่มากระทบกาย มีเย็นร้อนเป็นต้น
เกิดดับทุกขณะที่กระทบ
๙. สัมปฏิจฉนกิจ ทำหน้าที่รับอารมณ์ต่อมาจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ
ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เกิดดับทุกขณะที่อารมณ์กระทบ
๑๐. สันตีรณกิจ ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่รับมาจากสัมปฏิจฉนกิจ
เกิดดับทุกขณะที่อารมณ์กระทบ
๑๑. โวฏฐัพพนกิจ ทำหน้าที่จำหรือตัดสินอารมณ์ที่สันตีรณพิจารณาแล้ว
เกิดดับทุกขณะที่อารมณ์กระทบ
๑๒. ชวนกิจ ทำหน้าที่เสวยอารมณ์ตามที่โวฏฐัพพนจิตกำหนด
เกิดดับทุกขณะที่มีอารมณ์กระทบ
๑๓. ตทาลัมพนกิจ ทำหน้าที่รับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะ
เกิดดับเฉพาะบางอารมณ์ที่มากระทบ
๑๔. จุติกิจ ทำหน้าที่สิ้นจากภพเก่า คือทำลายสัตว์หรือสังขาร
ให้พ้นไปจากการที่จะตั้งอยู่ในภพนั้นๆ
ในชีวิตหนึ่งๆ ของมนุษย์และสัตว์ เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วก็ดับ
ที่มา : พระอภิธรรมสังเขปฯ : พระนิติเกษตรสุนทร : ๒๕๐๕ : ๘๙-๙๑