ป ล่ อ ย ว า ง...(ดังตฤณ)
มีคำศักดิ์สิทธิ์อยู่คำหนึ่งในศาสนาพุทธ
คือคำว่า "ปล่อยวาง"
คำนี้ถ้าพูดกันเล่นๆก็เหมือนไม่มีทางทำได้จริง
แต่หากพูดซ้ำบ่อยๆเหมือนสวดมนต์
หลายคนก็พบความน่าอัศจรรย์ของคำๆนี้ได้เหมือนกัน
อย่างพวกที่ชอบบู๊แหลก
ไม่ยอมใคร ไม่กลัวการมีเรื่อง
พอใช้ชีวิตแบบเห็นทุกเรื่องคอขาดบาดตายมากเข้า
ก็ชักเริ่มคร้านจะก่อเรื่อง
เริ่มเอือมระอากับการมีเรื่อง
ที่ตรงนั้นใจที่ล้าๆจะเริ่มผลิตคำว่า "ปล่อยวาง" ออกมาเอง
ยิ่งถ้ารู้สึกว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
ก็พลอยลากจูงให้สนใจรายละเอียดของการปล่อยวางมากขึ้นได้
ถ้าคุณหมั่นคิดถึงคำว่า "ปล่อยวาง" ขณะที่กำลังเป็นทุกข์
ใจที่ถูกปรุงแต่งด้วยคำๆนี้จะสำแดงอาการ "คลาย" ออกมาชั่วขณะหนึ่ง
เป็นชั่วขณะที่คุณรู้สึกได้ถึงความแตกต่างเป็นตรงข้าม
กับอาการยึดเอาไว้ กุมแน่นเอาไว้
หลายคนท่องคำว่า "ปล่อยวาง" ขึ้นใจ
จนนึกว่าเข้าถึงแก่นสารสาระของศาสนาแล้ว
เพราะพอทำท่าจะเกิดกิเลสชนิดใดขึ้นมา
ก็งัดเอาไม้ตายคือ "ปล่อยวาง" มาใช้
ซึ่งมักได้ผลแบบวูบๆวาบๆอยู่เรื่อยๆ
และระยะเวลาเว้นวรรคอาการยึดมั่น
ก็มักทอดเวลาห่างออกไปมากขึ้น
บางทีอาจเป็นวันๆหรือหลายวัน
ตามการสั่งสมประสบการณ์ปรุงแต่งจิตด้วยคำว่า "ปล่อยวาง" มา
สำหรับท่านที่เข้าข่ายนี้นับว่าดีนะครับ
เป็นวิธีง่ายๆที่ได้ผล ไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก
แต่ควรทำความเข้าใจว่านี่เป็นการปล่อยวางแบบคิดนำ
ไม่ใช่อาศัยสติรู้เป็นตัวนำ
การอาศัยสติรู้และยอมรับตามจริงคืออย่างไร?
คือการที่เราไม่แค่ "มองไปทางอื่น" ด้วยความคิดปล่อยวาง
แต่เป็นการ "มองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า" ด้วยใจที่เงียบเชียบ
อย่างเช่นถ้าเป็นทุกข์
เราจะไม่คิดปล่อยวางเพื่อให้จิต "เมิน" ความทุกข์
แล้วหันมาหาอาการวางๆ ว่างๆ
ซึ่งมักเกิดผลเป็นความรู้สึกสำคัญว่าเราวางได้แล้ว ว่างได้แล้ว
แต่จะเป็นการยอมรับว่าขณะนี้ทุกข์ขนาดไหน
ซึ่งเท่ากับเป็นการ "มอง" ความทุกข์ให้เห็น
เพื่อที่อึดใจต่อมาจะได้ถามตัวเองใหม่ว่า
ที่ทุกข์อยู่นั้น มากขึ้นหรือน้อยลง
คุณอาจไม่รู้สึก "ปล่อยวาง" ขึ้นมาทันทีทันใด
ที่เห็นระดับความทุกข์มันไม่เท่าเดิม
แต่เห็นบ่อยเข้าจะรู้สึกอย่างแจ่มชัดว่าเออ!
มันมีขึ้นมีลง ไม่เที่ยงจริงๆด้วย
ตรงที่รู้สึกถึงความไม่เที่ยงของความทุกข์นั่นแหละ
ใจจะไม่ผลิตคำว่า "ปล่อยวาง" ออกมา
แต่จะเกิดอาการ "ไม่เอา" หรือ "ทิ้ง" อย่างแท้จริง
และเมื่อทิ้งขว้าง ไม่ยึดเอาภาวะตรงหน้าว่าเป็นตัวเราบ่อยเข้า
ในที่สุดก็หมดจากอาการหวงทุกข์อย่างสิ้นเชิงไปเอง
คัดลอกจาก...นิตยสารธรรมะใกล้ตัว