การปฏิบัติธรรมนั้น...ต้องใช้เวลานานสักเท่าใด จึงจะได้ผล
คนส่วนมากมักจะถามว่า...การปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องใช้เวลา
ในการนั่งหลับตาภาวนานานสักเท่าไหร่...โดยเข้าใจเอาเองว่า
การนั่งหลับตาได้นานๆ คือผลของการปฏิบัติ หาใช่ไม่!!
การปฏิบัติธรรมนั้น เป็นเรื่องของ...'จิตใจ' มิใช่กาลเวลาจะนั่ง
นานหรือไม่นาน นั่นมิใช่ผลที่จะนำมาเป็นเครื่องตัดสินได้ สำคัญ
อยู่ที่ว่า ในการนั่งแต่ละครั้งนั้น จิตตนสงบไหม จิตตั้งมั่นอยู่กับ
ปัจจุบันได้จริงไหม เช่นนี้ต่างหาก
>>บุคคลใด...แม้จะนั่งได้นิดเดียวหรือนั่งได้นานก็ตาม แต่จิตสงบ
ได้ตลอดสาย นั่นดีมาก
>>บุคคลใด...นั่งได้นานๆแต่จิตสงบบ้าง ไม่สงบบ้าง นั่นดีพอใช้
>>บุคคลใด...นั่งได้นานๆ แต่จิตไม่สงบเลย นั่นยังใช้ไม่ได้เลย
และมักจะถามต่ออีกว่า การปฏิบัติธรรมนั้น จะต้องใช้เวลานานกี่ปี
จึงจะได้ผล จึงจะสำเร็จ??
การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่เกี่ยวกับกาลเวลา เป็น...อกาลิโก เหนือกาล
เวลา ไม่จำกัดกาล ไม่มีกำหนดระยะเวลาเหมือนการศึกษาในทาง
โลก ซึ่งจะต้องมีกำหนดเวลาว่าเรียนกี่ปีจึงจะจบหลักสูตร
ขออนุญาตอธิบายว่า...จุดหมายปลายทาง คือระยะทางเดินนั้นยาว
เท่ากันหมดทุกคน หมายความว่า...ให้จิตนั้นออกจากความโลภ
ความโกรธ ความหลง ให้ได้ ให้หมดสิ้น ใครพยายามละความโลภ
ความโกรธ ความหลง ได้มากกว่า ได้น้อยกว่า ก็อิสระก่อน
>>ใครขยันเดินก็ถึงก่อน...
>>ใครเดินบ้างหยุดบ้างก็ถึงช้า...
>>ใครไม่เดินก็ไม่ถึง...
ทุกอย่างอยู่ที่การกระทำของตนเอง คือของใครของมันเท่านั้นเอง
ที่จะเป็นเครื่องตัดสินกาลเวลาว่าใครจะถึงจุดหมายปลายทางก่อนกัน
ซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ชัด เท่ากับตนเองที่จะรู้ตนเอง เห็นตน
เองที่เรียกว่า...'ปัจจัตตัง' คือ...บุคคลพึงรู้ได้ด้วยตนเองเฉพาะตน
เท่านั้น
ผู้ที่จะตัดสินได้อย่างแท้จริง คือธรรมที่ตนรู้ตน ว่าหมดหรือไม่หมด
ย่อมจริงและชัดที่สุด นี้คือ "สัจธรรม"
สิทธิ์ใครก็สิทธิ์มัน รีบเร่งกันให้ไวๆ ใครมีสิทธิ์ได้ขอเพียงให้ดูดีๆ
ใครเพียรย่อมถึงก่อน ใครผัดผ่อนย่อมโศกี เพราะว่าชีวิตนี้ มิรู้ที่
ตายเมื่อไร...ฯ
~ขอขอบคุณที่มา : หนังสือเรื่อง..."ธรรมะกับการปฏิบัติธรรม"~
ขอนอบน้อมแด่คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์...ฯ