5 ธรรมปฏิบัติ สร้างเกราะป้องกันกายใจ
5 ธรรมปฏิบัติ สร้างเกราะป้องกันกายใจ
โดยคุณประอรพิชญ์ คัจฉวัฒนา
“ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย คิดมาก”
ทั้งสามคำนี้นิยามความเป็นตัวฉันเมื่อก่อนได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะมีอารมณ์ใดมากระทบ ฉันก็พร้อมที่จะหลงเพริดไปได้ในทันที
จนคนรอบข้างเริ่มสังเกต เพราะได้รับผลกระทบจากอารมณ์ไม่ปกติของฉันกันถ้วนหน้า จึงแนะนำให้ฉันลองไปปฏิบัติธรรม โดยหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนฉันเป็นคนใหม่ได้
ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง
ไม่ใช่ว่าฉันไม่เห็นถึงประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม
แต่ที่ผ่านมาฉันได้ใช้ข้ออ้างยอมฮิต
คือไม่มีเวลากับการเริ่มต้นปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ
แต่คราวนี้ความมุ่งมั่นได้นำพาฉันเข้าสู่การปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังจนได้
โดยตั้งใจว่าจะใช้เวลาวันหยุดสุดสัปดาห์นี้
ไปกับการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่
เพื่อให้เห็นความก้าวหน้า ฉันจึงเริ่มจดบันทึกการปฏิบัติธรรม
วันที่หนึ่ง 8.30 น. เดินทางถึงศาลาพระราชศรัทธา วัดปทุมวนาราม ภายในศาลามีคนนั่งสมาธิอยู่ประมาณ 10 คน ทุกคนนั่งด้วยอาการสงบ
ฉันเลือกนั่งบนอาสนะแถวหลัง นั่งขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หลับตา แล้วกำหนดลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” ตามความรู้เก่าก่อนที่ได้ทราบมา
เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า-ออกได้เพียง 5 ครั้ง จิตใจเริ่มฟุ้งซ่าน ฉันรีบสลัดความคิดฟุ้งซ่านนั้น เมื่อสลัดได้แล้ว จึงนั่งเพ่งลมหายใจต่อ
แต่จิตใจเจ้ากรรมทำได้ไม่นาน เรื่องฟุ้งซ่านก็เข้ามาอีกเรื่อยๆ
9.00 น. ฉันเปลี่ยนอิริยาบถไปเดินจงกรมรอบศาลา โดยตั้งใจเดินช้าๆ ด้วยอาการสำรวม มีสติ ระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกทุกครั้ง
ปรากฏว่าฉันมีสมาธิ จดจ่อกับการเดินได้นานกว่าการนั่งสมาธิ
แต่แล้วความหิว มารผจญการฝึกปฏิบัติธรรมของฉันก็เผยตัวขึ้น พร้อมกับบอกว่ากองทัพต้องเดินด้วยท้อง ฉันใดก็ฉันนั้น ภารกิจปฏิบัติธรรมของฉันก็ต้องเดินด้วยท้องเช่นกัน การปฏิบัติธรรมช่วงเช้าจึงยุติลง อย่างไม่ได้อะไรเท่าใดนัก
เดินตามหลักวิปัสสนากรรมฐาน
“ลองไปฝึกวิปัสสนากรรมฐานที่วัดมหาธาตุแถวท่าพระจันทร์ดูสิ ที่นั่นเขามีสอนทุกวัน เผื่อว่าเธอจะได้หลักในการปฏิบัติมาบ้าง” เพื่อนสนิทแนะนำ เมื่อฉันเล่าให้ฟังถึงการพยายามปฏิบัติธรรมในช่วงเช้า
12.30 น. เดินทางถึง สำนักงานกลางกองการวิปัสสนาธุระ วัดมหาธาตุ คณะ 5 ฉันแจ้งความประสงค์กับแม่ชี ว่าต้องการมาศึกษาหลักปฏิบัติวัปสสนากรรมฐาน
ท่านถามฉันเบื้องต้นว่าเคยมาปฏิบัติบ้างหรือยัง และจะปฏิบัติแบบเช้าไปเย็นกลับหรือค้างคืน จากนั้นท่านก็บอกให้ไปซื้อพวงมาลัยมาหนึ่งพวงเพื่อบูชาพระ และให้ท่านขึ้นต้นกรรมฐานให้
12.45 น. แม่ชีพาฉันเข้าไปพบ พระครูมงคลศีลวัตร พระวิปัสสนาจารย์ประจำสำนักงานกลาง กองการวิปัสสนาธุระ เพื่อขึ้นต้นกรรมฐาน ซึ่งเป็นการกล่าวคำปฏิญาณต่อพระรัตนตรัย ว่าตนจะตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน (ใช้เวลาประมาณ 15นาที)
13.00 น. พระอาจารย์สอนวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้นให้ โดยให้ลองปฏิบัติกรรมฐานทั้ง 7 ข้อ
1. ยืน ให้ส้นเท้ากับปลายเท้าห่างกันประมาณ 1 คืบ เมื่อหยุดยืนให้ภาวนาว่า “ยืนหนอ” 3 ครั้ง แล้วเริ่มเดิน ก่อนเดินให้ภาวนาว่า “อยากเดินหนอ” 3 ครั้ง แล้วออกเดินช้าๆ
2. เดินจงกรม เวลาเดินให้ทอดสายตาไปประมาณ 4 ศอก สติจับอยู่ที่เท้า เดินช้าๆ ยกเท้าขวาขึ้นทันที ขณะภาวนาคำว่า “ย่าง” ต้องเคลื่อนเท้าไปพร้อมกัน ขณะภาวนาคำว่า “หนอ” เท้าต้องลงถึงพื้นพร้อมกัน ทำอย่างเดียวกันนี้กับเท้าซ้ายและภาวนาว่า “ซ้ายย่างหนอ”
เมื่อเดินสุดทางเดินให้หยุดยืนนิ่งแล้วภาวนาว่า “อยากกลับหนอ” 3 ครั้ง พร้อมกับหมุนเท้าไปช้าๆ (ใช้เวลา 40 นาที)
3. นั่ง เมื่อจะนั่งให้ภาวนาว่า “นั่งหนอ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะนั่งเสร็จ
เวลานั่งให้นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย แล้วหลับตาโดยให้สติมาจับอยู่ที่ท้อง หายใจเข้าท้องพอง ให้ภาวนาว่า “พองหนอ” หายใจออกท้องยุบ ให้ภาวนาว่า “ยุบหนอ” โดยใจที่นึกกับท้องที่ยุบต้องให้ทันกัน อย่าให้เร็วหรือช้ากว่าอาการที่เกิด (ใช้เวลา 30 นาที)
4. นอน ค่อย ๆ เอนตัวลงพร้อมกับภาวนาตามไปว่า “นอนหนอ” จนกว่าจะนอนเรียบร้อย เอาสติมาไว้ที่ท้องเมื่อนอนลง แล้วภาวนาว่า “พองหนอ ยุบหนอ” (ข้อนี้ไม่ได้ปฏิบัติ แต่นำหลักการนี้ไปปฏิบัติที่บ้านแทน)
5. เวทนา ในขณะที่ปฏิบัติอยู่ ถ้ามีเวทนาหรือเจ็บปวด เช่น เมื่อย คัน เป็นต้น เกิดขึ้น ให้ปล่อยพองยุบ แล้วเอาสติไปกำหนดที่ความเจ็บ ปวด เมื่อย หรือคันนั้น พร้อมภาวนาว่า “เจ็บหนอๆ” “คันหนอๆ” สุดแต่เวทนาจะเกิดขึ้น
6. จิต ในเวลานั่งอยู่นั้น ถ้าจิตคิดถึงเรื่องส่วนตัวต่างๆ ให้เอาสติปักลงไปที่หัวใจ พร้อมกับภาวนาว่า “คิดหนอๆ” จนกว่าจะหยุดคิด
7. เสียง ถ้ามีเสียงดังหนวกหูให้ใช้สติกำหนดไปที่หู ภาวนาว่า “ได้ยินหนอๆ” จนกว่าจะหายหนวกหู
น่าอัศจรรย์ เพียงหนึ่งชั่วโมงกว่าที่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ฉันรู้สึกถึงความนิ่งที่ปรากฏขึ้นกับทั้งกายและใจ แม้ว่าในขณะปฏิบัติจะมีเรื่องฟุ้งซ่านผ่านเข้ามาบ้าง แต่ที่สุดแล้วจิตใจของฉันกลับเบิกบาน
“แม่ชีคะ หนูรู้สึกสงบนิ่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลยค่ะ”
“นั่นเป็นอานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจ้ะ อย่าลืมนำไปปฏิบัติบ่อยๆด้วยนะ”
เสริมใจให้มั่นคงด้วยสติปัฏฐาน
หลังจากได้น้อมนำเอาหลักวิปัสสนากรรมฐานมาใช้ในชีวิตประจำวัน ดังที่แม่ชีได้กำชับไว้ ไม่เพียงแค่ตัวเอง แต่คนรอบตัวฉันต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่าฉันไปทำอะไรมา ทำไมดูนิ่งและหน้าตาผ่องใส
ความศรัทธาของฉันจึงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ฉันเริ่มขวนขวายหาความรู้ในเรื่องการปฏิบัติธรรมต่อ
วันที่สอง เวลา 11.00 น. ธรรมะได้จัดสรร ให้ฉันมีโอกาสได้ฟังการบรรยายธรรมเรื่อง “วิถีแห่งความรู้แจ้ง” โดยพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช จากสวนสันติธรรม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งท่านได้บอกให้ทราบถึงหลักการเจริญสติปัฏฐาน อันเป็นอีกวิธีหนึ่งหนึ่งของกายสงบกาย-ใจ
“ก่อนอื่นอยากให้ทราบถึงเครื่องมือในการปฏิบัติธรรมก่อน ได้แก่ สติและสัมปชัญญะ คือ การระลึกรู้กาย เวทนา จิต และธรรม
“เมื่อรู้แล้วจึงเริ่มเจริญสติปัฏฐาน คือให้รู้อิริยาบถของตนเอง เช่น รู้ความเคลื่อนไหวขณะเดินจงกรม หรือรู้ลมหายใจเข้า-ออก โดยกำหนดให้เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ถูกเห็น ไม่ใช่จิต มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
“พอกำหนดรู้ได้เช่นนั้นแล้ว หากนามธรรมใดปรากฏกับจิต ก็สามารถรู้เท่าทันได้ เช่น เกิดความรู้สึกสุข ทุกข์หรือกุศล อกุศล ก็ให้รู้สึกสุข ทุกข์หรือกุศล อกุศล ก็ให้เรารู้ทันนามธรรมนั้น ในลักษณะของสิ่งที่ถูกรู้”
“ขั้นต่อไป พอจิตไปรู้รูปธรรมหรือนามธรรมนั้นแล้ว จิตก็จะมีความยินดียินร้าย ก็ให้ระลึกรู้ความยินดียินร้ายนั้นให้เกิดดับ เช่นเดียวกับรูปธรรมนามธรรมทั้งปวงนั่นเอง”
“แล้วจิตก็จะปล่อยวางความยินดียินร้าย เข้าสู่ความเป็นกลางของจิต ซึ่งสภาพนี้ต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติอยู่บ่อยๆ”
14.00 น. เมื่อฟังธรรมเสร็จ ฉันเดินทางไปห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมมาศึกษาเพิ่มเติม
ฉันพบเสียงบรรยายธรรมในเว็บไซด์ฟังธรรม . com ของ หลวงพ่อชา สุภัทโท จากวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดเรื่องแนวทางปฏิบัติธรรมไว้อย่างน่าสนใจว่า
“การปฏิบัติธรรมทำได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าท่านจะทำอะไรก็ตาม แม้แต่ท่านเทกระโถนหรือล้างส้วมอยู่ อย่าคิดอยู่เพียงว่าท่านกำลังทำบุญทำคุณให้กับผู้หนึ่งผู้ใด ให้มีธรรมะ ระลึกรู้ตัวในขณะที่เทกระโถนด้วยอย่ารู้สึกว่าตนเองปฏิบัติธรรมเพียงแค่ตอนนั่งสมาธิเท่านั้น
“และไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ให้ระมัดระวังอย่างยิ่งในการสำรวมอินทรีย์ กำหนดสติให้อยู่กับการกระทำต่างๆ แต่อย่าบังคับตัวเองมากเกินไป มีสติระลึกรู้ตามธรรมชาติก็เพียงพอ เช่นนี้ปัญญาที่แท้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติด้วย”
ทำบุญด้วยการสวดมนต์เป็นนิจ
เมื่อรู้สึกได้ว่าจิตมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว การรักษาความมั่นคงของจิตใจคงสภาพเช่นนั้น จึงเป็นขั้นตอนต่อไปที่ฉันต้องศึกษา
กัลยาณมิตรอีกคนเคยบอกฉันว่า เธอได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งที่นั่นแนะนำให้สวดมนต์ควบคู่ไปกับการทำกรรมฐานเป็นประจำ ตามแนวคำสอนของ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หรือหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ที่มีส่วนทำให้จิตใจเธอนิ่งมีสติมากขึ้น
23.00 น.ฉันเริ่มอ่านหนังสือ “สวดมนต์ทำกรรมฐานตามแบบหลวงพ่อจรัญ” ซึ่งท่านกล่าวไว้ว่า “การสวดมนต์เป็นนิจนี้ มุ่งให้จิตแนบสนิทติดในคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ จิตใจจะสงบเยือกเย็น เป็นบัณฑิต มีความคิดสูง ทิฏฐิมานะทั้งหลายก็จะหายไปได้
“การสวดมนต์ต้องสวดให้ถูกวรรคตอน และวางจิตให้ถูกต้องโดยยึดหลักอธิษฐานจิต คือ ตั้งสติสัมปชัญญะไว้ที่ลิ้นปี่ สำรวมกาย วาจา จิตให้ตั้งมั่นแล้วแผ่เมตตาไว้ในใจ สักครู่หนึ่ง แล้วก็อุทิศให้มารดาบิดาของเราว่าเราได้บำเพ็ญกุศล ท่านจะได้บุญได้กุศลแน่ๆ”
เมื่อทราบถึงอานิสงส์ของการสวดมนต์ ว่าทั้งช่วยให้จิตใจสงบและยังเป็นการทำบุญ แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลให้กับคนที่เรารักเช่นนี้แล้ว ฉันจึงตั้งใจว่าจะปฏิบัติให้ได้ทุกๆวันก่อนนอน
แค่เพียงเวลาว่างสุดสัปดาห์เพียง 2 วัน ฉันกล่าวไว้เต็มปากว่า การปฏิบัติธรรมได้เปลี่ยนฉันคนเก่าเป็นฉันคนใหม่ ที่ถึงพร้อมทั้งสติ สมาธิ และปัญญา
ขอบคุณบทความจากลานธรรมจักร