ธรรมะ กับ ความรัก
คู่หญิงชายนั้นมีหลายแบบ ไม่ได้มีแต่คู่เวรกับคู่แท้ คำว่า ‘คู่แท้’ จะทำให้คุณนึกถึงเพศตรงข้ามที่ติดตามกันไปทุกภพทุกชาติ เป็นตัวเป็นตนจับจองกันอย่างถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งธรรมชาติไม่ได้มีอะไรอย่างนั้น ตามกฎเหล็กข้อแรกสุดคือ ‘ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลงไป
หากหันมาใส่ใจกับคำว่า ‘คู่บุญ’ และ ‘คู่บาป’ แทน อย่างนี้จะเห็นอะไรกระจ่างขึ้น เพราะคนเราทำบุญทำบาปสลับกันได้ ไม่มีใครทำบุญทำบาปร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตลอดไป และนั่นก็แปลว่าคู่บุญอาจหมายถึงคู่ที่ร่วมทำบุญกันมามากกว่าร่วมทำบาป ส่วนคู่บาปก็อาจหมายถึงคู่ที่ร่วมทำบาปกันมากกว่าร่วมทำบุญ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความรักจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากเหตุปัจจัยทั้งอดีตและปัจจุบันประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นของเก่าหรือของใหม่ บุญที่สร้าง ‘คู่บุญ’ ขึ้นมาจะเหมือนๆกัน
อันที่จริงแล้ว ความรักแบบคู่สร้างคู่สม หรือเนื้อคู่กัน มันต้องมีเหตุมีปัจจัยของมัน ความรักเกิดมาจากเหตุใดบ้าง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความรักนั้น ย่อมเกิดด้วยเหตุ 2 ประการ อย่างนี้ คือ ด้วยความอยู่ร่วมกันในกาลก่อน 1 ด้วยการเกื้อกูลกันในกาลปัจจุบัน 1 เหมือนอุบล (อาศัยเปือกตมและน้ำ) เกิดในน้ำฉะนั้น.” ถ้าเราจะรักกันให้มีความสุข ควรจะรักแบบบริสุทธิ์ใจมากกว่า คือคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ถ้ารักแบบจะเอาให้ได้ เพื่อครอบครองอย่างเดียว เมื่อไม่ได้แล้ว มันจะเป็นทุกข์ เศร้า เสียใจ สมดังพุทธพจน์ว่า “ความโศกเกิดแต่ความรัก ภัยคือความกลัวเกิดแต่ความรัก
ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความรัก ความกลัวจักมีแต่ที่ไหน”
ที่ไหนมีรัก..ที่นั้นมีทุกข์ จริงอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เมื่อมีรัก สักพักก็ต้องพลัดพลาดจากคนรักไป ทนกล้ำกลืน ฝืนทน ร้องห่มร้องให้จากคนที่รัก รักมากก็มากน้ำตา รักมากก็มากทุกข์ นี่แหละหนอ ความรักบางคราวคือยาพิษ การที่จะลืมคนที่เรารัก อาจยากเย็นเกินทำใจ แต่การเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ยากเย็นยิ่งกว่า..แต่ต้องทำ จะอย่างไรก็ตาม ชีวิตฆราวาสผู้ครองเรือน ก็หนีไม่พ้นการมีคู่ครอง ดังนั้นจึงมีหลักธรรม สำหรับคู่ครองให้อยู่ด้วยกันอย่างยืนยาว