มีคาถาบทหนึ่งที่คณาจารย์และผู้รู้ใช้ทำน้ำมนต์ให้คนตั้งครรภ์อาบกิน เพื่อทำให้คลอดบุตรง่าย เป็นคาถาสั้น ๆ ว่า
“ยโตหัง ภคินี อริยายะ ชาติยาชาโก นาภิชานามิ สะญะจจิจะ ปาณังชิวติ โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิเต โหตุ โสตถิคัพถะสุสะ...”>>
คาถาบทนี้แปลว่า... “ดูกรน้องหญิง เราได้เกิดใหม่ในอริยชาติแล้ว เราไม่จงใจจะแกล้งฆ่าสัตว์ และมนุษย์อื่นใดอีกต่อไปด้วยอำนาจสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีแก่ครรภ์ของเธอและตัวเธอเถิด”>>
คาถาข้างต้นเป็นคาถาขององคุลีมาล ที่มีนามเดิมว่า อหิงสกะ ที่แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียนใคร ตามประวัติเล่าขานว่า ท่านเกิดในฤกษ์ดาวโจรส่องแสงเรืองโรจน์ วันที่เด็กน้อยลืมตาดูโลก เหล่าศาสตราวุธในบ้านพากันเต้นรัวขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์>>
ด้วยสาเหตุสองประการดังกล่าวทำให้ผู้เป็นบิดาหวั่นใจอย่างยิ่ง ถึงกับคิดฆ่าบุตรชายของตนตั้งแต่แบเบาะ หากท้ายสุดมิอาจตัดใจ พยายามตั้งชื่อให้ลดทอนโชคชะตาโจรลงด้วยคำว่า ‘อหิงสกะ’ และพยายามอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดีมาโดยตลอด>>
อหิงสกะในวัยเยาว์เป็นเด็กฉลาด เรียนเก่ง จนเจริญวัยเป็นหนุ่ม บิดาส่งไปเรียนที่ตักศิลาก็ไม่มีนักเรียนคนไหนสู้ได้ ทำให้เพื่อน ๆ เกิดความริษยายุยงอาจารย์ต่าง ๆ นานา จนอาจารย์หลงเชื่อ จึงหาอุบายฆ่าอหิงสกะ>>
วันหนึ่งอาจารย์จึงเรียกอหิงสกะมาบอก ในประดาศาสตร์ทั้งหมดนั้นอหิงสกะได้ร่ำเรียนจนเจนจบหมดแล้ว จะเหลือก็เพียงวิษณุมนต์แขนงเดียวเท่านั้น พร้อมบรรยายสรรพคุณเสร็จสรรพ>>เมื่อสำเร็จวิชานี้ จะสามารถล่องหนหายตัวได้ อีกทั้งยังสามารถชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นได้อีกด้วย>>
อหิงสกะเป็นคนซื่อ บวกกับเป็นคนเมตตา เพราะคำว่า ‘ชุบชีวิตคนตายได้’ ทำให้มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะร่ำเรียน ทั้ง ๆ ที่อาจารย์วางข้อแม้ไว้ว่าจะต้องฆ่าคนให้ครบหนึ่งพันคนเสียก่อนจึงจะสำเร็จ>>
ด้วยเหตุนี้ อหิงสหะจึงท่องเที่ยวไปในป่า...พบใครฆ่าคนนั้น เพราะอหิงสกะจะฆ่าแล้วตัดนิ้วมือร้อยเป็นมาลัยคล้องคอ (เข้าใจว่า ร้อยเอาไว้นับจำนวนว่าจะครบจำนวนเมื่อใด) เมื่อข่าวกระจายออกไป ผู้คนทั้งหลายจึงขนานนามใหม่ให้ว่า ‘โจรองคุลีมาล’ ที่แปลว่า ‘โจรผู้สวมพวงมาลัยนิ้วมือ’>>
องคุลีมาลเที่ยวพร่าผลาญชีวิตมนุษย์อยู่นานวันจนเกือบครบ เหลืออีกเพียงหนึ่งศพก็จะครบทันตามจำนวน หากแต่ด้วยพระญาณอันศักดิ์สิทธิ์แห่งสมเด็จพระบรมศาสดา ทำให้องคุลีมาลรอดพ้นจากบาปกรรมอันสูงสุด คือการทำอนันตริยกรรม เพราะการสังหารมารดาผู้ให้กำเนิด>>
พระพุทธองค์ทรงทราบ องคุลีมาลจักต้องมาพบมารดาของตนแน่ ด้วยมารดาขององคุลีมาลรู้ข่าวว่า กองทหารของพระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังยกกองทัพออกมาปราบ เธอจึงเที่ยวออกตามหาลูกชายด้วยความรักและความห่วง>>
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระตถาคตเจ้า พระองค์ทรงเสด็จราชดำเนินเป็นระยะทางหลายสิบโยชน์มาดักพบองคุลีมาลในราวป่า>>
เมื่อองคุลีมาลเห็นพระพุทธเจ้าก็ตรงเข้าไล่ฟัน แต่ด้วยอำนาจบารมีแห่งพระบรมศาสดา ทำให้องคุลีมาลมิอาจไล่ฟัน หลังจากตามจนเหนื่อยอ่อนจึงหยุดยืนตะโกนว่า>>
“สมณะหยุดก่อน ๆ ...”>>
เคยทำบาป...อย่าท้อแท้ รู้ทางแก้...ก็พ้นทุกข์ได้
พระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่า...>>
“เราหยุดแล้ว ท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด!” เมื่อได้ยินเช่นนั้น องคุลีมาลจึงตะโกนด้วยเสียงเกรี้ยวกราดลั่นราวป่า>>
“สมณะท่านโกหก เห็นอยู่ชัด ๆ ว่าท่านเดินหนีเราไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น ท่านจะบอกว่าท่านหยุดแล้วได้อย่างไร?”>>
พระบรมศาสดาได้ตรัสกับองคุลีมาลด้วยพระเมตตาว่า...>>
“องคุลีมาล เราตถาคตได้หยุดการทำบาปใด ๆ แล้วทั้งปวง...ท่านต่างหากที่ยังกำลังทำบาปอยู่อย่างร้ายกาจ”>>
ด้วยพุทธดำรัสดังกล่าว ทำให้โจรองคุลีมาลรู้สึก พลันสำนึกตนว่าตนเองได้กระทำกรรมชั่วช้าสามานย์มานาน สีหน้าสลดลงก่อนโยนดาบในมือทิ้ง ก้าวไปก้มกราบที่พระบาทแห่งสมเด็จพระบรมศาสดา พร้อมวิงวอนขอโทษ และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา เพื่อล้างผลกรรมของตน>>
เมื่อบวชใหม่ พระอหิงสกะหรือพระองคุลีมาลได้รับกรรมหนัก ด้วยการถูกด่าทอขว้างปาด้วยก้อนอิฐก้อนหินจนร่างกายบาดเจ็บสาหัสในทุกวัน เวลาออกบิณฑบาต ก็ไม่มีใครใส่อาหารให้ นอกจากโดนรุมทุบตี แม้เวลาปฏิบัติธรรมภาวนาก็ถูกภาพนิมิตร้ายของคนที่ถูกฆ่ามาปรากฏจนจิตมิอาจสงบระงับได้>>
สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณอันศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกพระองคุลีมาลมาอบรมด้วยการตรัสว่า>>
“ความจริงเธอได้สร้างความดีมาจากอดีตชาติมากมาย แต่ต้องมัวหมองด้วยความหลงผิด เพราะถูกหลอกลวงให้เชื่อ เธอมิเคยมีเจตนาอาฆาตมาดร้ายใคร ฉะนั้นจงพิจารณาแต่เหตุในปัจจุบันของเธอเท่านั้น” พระพุทธองค์ยังทรงตรัสสั่งสอนอีกว่า>>
“อย่านึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว อย่านึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง พิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างเดียวด้วยความเพียรอย่างยิ่ง เจริญอิทธิบาทสี่ให้มาก เธอจักประสบผลสำเร็จในมรรคผลโดยไม่นานนัก”>>
พระองคุลีมาลเป็นผู้มีนิสัยในความมุ่งมั่นพากเพียรปฏิบัติตามโอวาทของพระตถาคตเจ้าอย่างจริงจัง
...ไม่นานนัก ก็สามารถสำเร็จสู่อรหัตผลภูมิ!>>
เรื่องราวที่ผู้เขียนยกมาบอกเล่าก็เพราะมีเหตุน่าสนใจให้พิจารณาอยู่สองประการ>>
...หนึ่งคือ บุญกุศลที่ประกอบมาจากอดีตชาติ บุญที่ทำแล้วสามารถเกื้อหนุนองคุลีมาลให้มาพบพระพุทธเจ้า ขณะที่หลงผิดทำบาปกรรมจนกำลังจะกลายเป็นอนันตริยกรรม ‘ฆ่า’ ผู้ให้กำเนิดจนต้องตกนรกอเวจี>>
...สองคือ โอวาทแห่งพระตถาคตที่ให้กับองคุลีมาลก็คือ การดำรงสติ...กำหนดจิตให้อยู่กับปัจจุบัน ละวางอดีต และอนาคตซึ่งถือเป็น ‘แก่น’ ของการปฏิบัติสมาธิภาวนา อย่างที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ กล่าวไว้... ‘อดีตคือธรรมเมา อนาคตคือธรรมเมา...ปัจจุบันคือธรรมะ’>>
ครับ บทสรุปในวันนี้คือ...อย่าละเลยในงานบุญการกุศล ควรทำ ควรประกอบเอาไว้ให้มากสำหรับอนาคตข้างหน้า ‘บุญกับกุศล’ จะช่วยประคองจิตวิญญาณในยามหลงผิด แม้นยังว่ายวนในวัฏสงสาร ท้ายสุดคือ...การละวาง ‘บาป’ ที่เคยทำมาแล้วในอดีตด้วยการมุ่งมั่นอยู่กับปัจจุบันที่เป็นความดี นั่นคือการแก้ทุกข์ที่ดีที่สุด>>
...เรียกง่าย ๆ ว่า ...ให้ลืมอดีตและอยู่กับปัจจุบัน!