ความตายคืออะไร?
สำหรับคนทั่วไป ถ้าเชื่อเสียอย่างเดียวว่าสมองคือเครื่องผลิต
ความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณ ก็ไม่ต้องพูดต่อความยาวสาวความ
ยืดให้มากไปกว่านั้น ความตายคือการยุติการทำงานของร่างกาย
และจิตใจ ประสบการณ์และการกระทำทั้งมวลล้วนสาบสูญลง
ณ จุดเวลาแห่งมรณกรรมนั้นเอง
แต่สำหรับพุทธศาสนิกชน หรือจำเพาะลงไปกว่านั้นคือพุทธ
ศาสนิกชนผู้มีสมาธิจิตผ่องแผ้ว มีศักยภาพในการน้อมจิตไปรู้เห็น
ขณะจุติและอุบัติของวิญญาณหลังกายหมดสภาพ ก็ย่อมเห็นเป็นอีก
อย่างว่า ความตายของคนเราคือการรวบรวมกรรมทั้งหมดใน
ชีวิตมาชั่งน้ำหนัก แล้วตัดสินว่าเอียงไปข้างใดระหว่างสูงขึ้น
หรือต่ำลงกว่าความเป็นมนุษย์
เมื่อคิดอย่างคนไม่แน่ใจ คิดอย่างคนไม่เคยมีประสบการณ์
ล้มหายตายจาก รวมทั้งรู้สึกว่าจะไม่มีทางได้รู้ล่วงหน้า ก็อาจยิ้มๆ
ปลอบกันว่าความตายจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด วันนี้ยังมีชีวิตก็พอ
หรือไม่ก็อาจสรุปรวบรัดว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วพรุ่งนี้ถ้าต้องตายก็ให้
มันเป็นไปตามที่มันจะเป็น
นั่นคือคำสุดท้ายสำหรับคนทั่วไปจริงๆ ‘ทำดีที่สุด!’
ผู้มีความรู้เห็นกรรมวิบากและภพภูมิดุจตาเห็นรูป ย่อมทราบ
ว่าจะทำได้ดีที่สุดนั้น ไม่อาจใช้สามัญสำนึกหรือความรู้สึกแบบคน
ธรรมดาเป็นไม้บรรทัดวัด แต่ต้องอาศัย ‘ความรู้’ ที่ได้จากความเห็น
แจ้งประจักษ์อันเป็นสิ่งเหนือโลก และในบรรดาญาณของผู้หยั่งรู้ด้วย
กันทั้งหมด พระพุทธเจ้ารู้ดีกว่าใคร ไม่มีใครรู้ได้เสมอพระองค์
เนื่องจากพระองค์บรรลุถึงซึ่งธรรมชาติบางประการที่เรียกกันว่า ‘พระ
สัพพัญญุตญาณ’ อันหมายถึงปรีชาญาณหยั่งรู้สรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น
อดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กเท่าอะตอมหรือใหญ่
ขนาดเอกภพ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกล ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของ
หยาบหรือของประณีต และไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นภพภูมิที่เกิดแต่
กรรมแบบไหน ผู้สำเร็จถึงซึ่งพระสัพพัญญุตญาณย่อมรู้แจ้งทั่ว
ตลอดไม่มีผิดพลาดเลย
พระพุทธเจ้าตรัสจำแนกเกี่ยวกับภพภูมิ รวมทั้งความคาบ
เกี่ยวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างเปลี่ยนภพภูมิไว้มาก โดยสรุปรวบ
ยอดที่พระองค์ท่านตรัสเกี่ยวกับภาวะความตายได้แก่นิยามแห่งมรณะ
ก็มรณะเป็นไฉน? มรณะคือความเคลื่อน ภาวะของ
ความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย
ความทำกาละ ความทำลายแห่งรูปนาม ความทอดทิ้งซากศพไว้
ความขาดแห่งชีวิตจากหมู่สัตว์หนึ่งๆ
สรุปคือตามความรู้แจ้งเห็นจริงของผู้มีญาณหยั่งรู้ตลอดสาย
ความตายไม่ใช่การยุติ ทว่าเป็นการเคลื่อนจากความเป็นอย่าง
หนึ่งไปสู่ความเป็นอีกอย่างหนึ่ง เมื่อถึงจุดแห่งความสิ้นสภาพ
การเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งๆ โดยทอดทิ้งซากเดิมไว้ในโลกนี้
ทิ้งซากศพไว้ แล้วผละไปเป็นสัตว์ในภพภูมิอื่นตามกรรม
แห่งตน...
คำว่า ‘สัตว์’ ในความหมายเชิงพุทธมิได้หมายถึงหมู หมา กา
ไก่ แต่ได้เหมารวมเอาสิ่งมีชีวิตทุกภพทุกภูมิทั้งหมดไว้ว่าเป็น ‘สังสาร
สัตว์’ คือสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่นี้
จะเป็นอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ มนุษย์ หรือเปรตต่างๆ ก็ล้วน
เป็นสังสารสัตว์ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น สำหรับหมู หมา กา ไก่ จะถือ
เป็นเหล่าสัตว์ในอบายภูมิ เรียกโดยเฉพาะว่าเป็น ‘เดรัจฉาน’
รูปแบบของความเป็นสัตว์ในภพภูมิหนึ่งจะสิ้นสุดลงด้วย
ความตาย แล้วย้ายไปสู่ความเป็นสัตว์อีกภพภูมิหนึ่ง พิจารณาจาก
ความจริงข้อนี้ แปลว่าระหว่างมีชีวิตเรามีเวลาประมาณหนึ่งเป็น
โอกาสให้ ‘สร้างภาพใหม่’ ก่อนจะเกิดการ ‘ล้างภาพเดิม’ ร่างกายของ
ทุกคนคือนาฬิกาชีวิตที่ส่งสัญญาณบอกเป็นระยะๆ ว่ามาถึงไหนแล้ว
ความตายคือจังหวะที่นาฬิกาชีวิตเดินไปจนสุดลาน แต่ละ
คนถูกไขลานไว้ต่างกันโดยกรรม
กล่าวคือบางรายต่อให้บำรุงดีขนาดไหน ใช้การแพทย์เข้า
ช่วยเพียงใด อย่างไรก็ต้องไปในวัยเยาว์ ส่วนบางคนไม่ค่อยระวังเนื้อ
ระวังตัว มัวเมากับสิ่งเสพย์ติดค่อนข้างมากด้วยซ้ำ กลับอยู่ได้ถึง ๘๐ก็มาก
การส่งเสียงเตือนในช่วงเวลาสุดท้ายของนาฬิกาชีวิตก็
ไม่เหมือนกัน บางคนถูกเตือนอย่างหนักหน่วง รุนแรง และถี่บ่อย
กระทั่งเจ้าตัวรู้สึกออกมาจากข้างในได้ว่าไม่น่าจะเกินเมื่อนั่นเมื่อนี่
แต่บางคนก็ไม่มีเค้าไม่มีเงา ไม่มีการเตือนแรงๆ แต่อย่างใด จู่ๆ ปุบปับ
ก็ส่งเสียงกริ๊งสุดท้ายขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่ทันสั่งเสียกับครอบครัว
อันนี้ ก็สุดแท้แต่กรรมเก่ากรรมใหม่มาบวกกันแล้วต้องมีอันเป็นไป
ตามนั้น…………………
ที่มา คัดลอกมาจากหนังสือ ณ มรณา ของดังตฤณ>