คติธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ทวด

หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี


ท่านเป็นพระมหาเถระที่รู้จักกันทั่วประเทศ ในนาม" หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด "
คาถาบูชาท่าน คือ นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา

ชาติกาล 3 มีนาคม พ.ศ. 2125

ชาติภูมิ บ้านเลียบ ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา

บรรพชา เมื่ออายุได้ 15 ปี

อุปสมบท เมื่ออายุ 20 ปี

มรณภาพ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225

สิริรวมอายุได้ 99 ปี


คติธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ทวด

  • ธรรมประจำใจ
พูดมาก เสียมาก พูดน้อย เสียน้อย

ไม่พูด ไม่เสีย นิ่งเสีย โพธิสัตว์

  • ละได้ย่อมสงบ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแต่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไปสู่การสลายตัวทั้งสิ้น ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข
ละได้ย่อมสงบ
  • สันดาน
ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได ้
แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง
ซึ่งไม่เหมือนกันย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก
  • ชีวิตทุกข์
การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ
จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ เสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ
เมื่อเราจะออกจากบ้าน ก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ นี่คือ ความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย

  • บรรเทาทุกข์
การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้น
เราจะต้องรู้ว่า เรานี้จะต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคม เราต้องเป็นตัวของเราเอง
และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่า สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ

คติธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ทวด


  • ยากกว่าการเกิด
ในการที่เราเกิดมา ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย
แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นสิยาก เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย

  • ไม่สิ้นสุด
แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด
กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น

  • ยึดจึงเดือดร้อน
ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโนน่ ยึดนี่
ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงธรรมสากล จักรวาลโลกมนุษยนี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก
สัตว์โลกทุนคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม
ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน เกิดการฆ่าฟันกัน
เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า
สิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือ หลักความจริงของธรรมะ
  • อยู่ให้สบาย
ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น
เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย
อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์
เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ เหนือรัก เหนือชัง

  • ธรรมารมณ์
การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง
อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือ รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน
เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่าง ๆ แล้วถ้าสิ่งต่างๆไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจน้อยใจ เป็นทุกข์
  • กรรม
ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า
เกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้ว
ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์ มีความรื่นเริง

  • มารยาทของผู้เป็นใหญ่
ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง
มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ

  • โลกิยะ หรือ โลกุตระ
คนที่เดินทางโลกุตระ ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะ ย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก เพราะอะไร ?

ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ?

ถ้าเป็นไปได้ พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ ?
แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน เราต้องตัดสินใจ ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง

  • ศิษย์แท้
พิจารณากายในกาย พิจารณาธรรมในธรรม พิจารณาวิญญาณ ในวิญญาณ
นั่นแหละ คือ สานุศิษย์อันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

  • รู้ซึ้ง
ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล ผลนั้นเกิดจากเหตุ
เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว เราจึงรู้ซึ้งถึงพุทธศาสนา

  • ใจสำคัญ
การทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์
จะต้องทำด้วยความศรัทธา ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย

  • หยุดพิจารณา
คนเรานี้ ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว จิตมันจะฟุ้งซ่าน
และถ้าภาวะนั้น ตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อย ๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้

  • บริจาค
ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอก
การสวดมนต์เป็นการภาวนา การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ การบริจาคภายในย่อมได้กุศล มากว่า การบริจาคภายนอก นี่คือเรื่องของนามธรรม

  • ทำด้วยใจสงบ
เราจะทำบุญก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี จงทำด้วยความสงบ
อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น มันจะพาเราไปสู่หายนะ เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จงอย่าทำ นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด




ขอบคุณบทความจาก พลังจิต

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์