จิตที่ไม่ประมาท
กุศลกรรมทั้งหลายมีความไม่ประมาทเป็นมูล
วิชชาเป็นหัวหน้าในการยังกุศลกรรมทั้งหลายให้เกิด ยังกุศลกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วให้บริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น
อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลกรรมทั้งหลายให้เกิด ยังอกุศลกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วให้บริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น
ชาวพุทธทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด
อย่างไร จิต จึงจะถือว่า ไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะทุกเมื่อ?
จิตที่ประมาท คือ จิตที่หลงไปตามความพอใจ ไม่พอใจ มีผลเป็น อวิชชา (โลภะ โทสะ โมหะ) เมื่อเราประมาท อวิชชาที่ถูกสะสมมาก่อนหน้า จะสั่งบุคคลผู้นั้นให้เกิดความพอใจไม่พอใจตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามากระทบสัมผัส (ผัสสะ) ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อินทรีย์ ๖) เป็นอัตโนมัติ เรียกว่าติดจนเป็นนิสัย (นิสยปัจจัย) โดยมีรูป รส กลิ่น เสียง และจินตนาการ เป็นจุดเริ่มต้น (อารัมปัจจัย) การหลงไปตามความพอใจ ไม่พอใจนี้ จึงเป็นต้นเหตุของทุกข์ทั้งปวง
การทำจิตให้ไม่ตกอยู่ในความประมาท ก็คือ การไม่หลงไปตามสิ่งที่มากระทบสัมผัส ไม่ให้เกิดความพอใจ ไม่พอใจ จนกลายเป็นหลง การที่จะดับความพอใจไม่พอใจและความหลง ได้นั้นต้องดับด้วยความจริง เพราะความพอใจไม่พอใจเป็นความเห็น ความจริงที่จะนำมาดับความพอใจไม่พอใจได้นั้น คือ ความจริงของโลกและชีวิต กฎธรรมชาติ ๒ กฎ ได้แก่ กฏไตรลักษณ์ และ กฏอิททัปปัจนายตาปกิจจสมุปาท
ในทางปฏิบัติ เมื่อตาเห็นรูป ให้นึกคิดพิจารณาตามความเป็นจริงว่า รูปที่เห็น (อายะตนะภายใน) ไม่เที่ยง เกิดขึ้น คงอยู่ และก็ต้องดับไป สิ่งที่เห็น (อายะตนะภายนอก หรือ วัตถุ) ใหม่ เก่า และก็ต้องแตกสลาย พิจารณาเพียงเท่านี้ทุกครั้งให้เท่าทันปัจจุบัน (ปัจจุบันอารม) ความอยากได้วัตถุก็ถึงกาลต้องดับไป (ดับทุกข์ ดับอวิชชา) เมื่อสามารถปฏิบัติได้ตลอด ด้วยความไม่ประมาท ความกำหนัดในวัตถุกาม ก็จะถึงจุดที่ดับไปสิ้นไปในที่สุด
เช่นเดียวกันกับรูป เมื่อหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัส และใจคิดนึก ก็ให้พิจารณาในลักษณะเช่นเดียวกัน การพิจารณาโดยใช้ความจริงไปดับความเห็นนี้ (วิปัสสนา) ดับความพอใจไม่พอใจและความหลงได้ โดยเฉพาะคนที่กำลังเครียดเรื่องงาน เรื่องหนี้สิน ให้พิจารณาว่า ความนึกคิดไม่เที่ยง ติดๆ กัน ๕ นาที ๑๐ นาที ความเครียดจะหายไป ไม่ต้องกินยา กินเหล้า ยังมีกำลังนึกหาทางออก หาทางแก้ไขปัญหาชีวิตได้อีกอย่างสบาย
จิตที่ไม่ประมาท จึงนับเป็นจิตที่ยิ่งใหญ่ ด้วยประการเช่นนี้