นักปราชญ์ในสมัยโบราณ พรรณาถึงคุณพ่อแม่ไว้ว่า "หากจะเอาท้องฟ้ามาเป็นกระดาษ เอาเขาพระสุเมรุมาศมาเป็นปากกา เอาน้ำในมหาสมุทรมาเป็นน้ำหมึก จดจารึกพรรณนาคุณพ่อแม่ไปจนกว่าจักสิ้นกระดาษและน้ำหมึก ก็ไม่สามารถจะพรรณนาคุณพ่อแม่ไว้ได้ครบถ้วน"
อาศัยเหตุผลที่ว่า ลูกทุกคนต้องมีหน้าที่ปฏิบัติต่อพ่อแม่ดังนี้
ท่านเลี้ยงเรามา เราต้องเลี้ยงท่านตอบ
ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว ต้องเลี้ยงท่านตอบ ข้อนี้หมายความว่า พ่อแม่ได้เลี้ยงเรามาแล้วเป็นอย่างดี ครั้นเมื่อท่านแก่เฒ่าลงลูกจึงต้องพยายามเลี้ยงดูท่านเป็นอย่างดี ให้เหมือนกับที่ท่านได้อุตส่าห์เลี้ยงเรามาด้วยความลำบากยากเข็ญ วิธีเลี้ยงพ่อแม่นั้นมี ๒ อย่าง คือ เลี้ยงร่างกายหนึ่ง เลี้ยงน้ำใจหนึ่ง
เลี้ยงร่างกาย นั้นได้แก่ พยายามจัดข้าวปลา อาหาร ขนม และลูกไม้อย่างดี ๆ แปลก ๆ ใหม่ ๆ มาบำรุงท่าน ไม่ให้บกพร่องตลอดทุก ๆ มื้อ เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร
หาเครื่องนุ่งห่มที่ดี เหมาะสมแก่ท่านมาให้ตกแต่งตามสมควร
จัดทำที่อยู่อาศัยให้ท่านได้พักผ่อนอย่างผาสุก
ยามท่านป่วยไข้ ก็รีบจัดหาหมอมารักษาพยาบาลและตนเองก็พยายามเฝ้าคอยดูแลท่าน ไม่ทอดทิ้งให้ท่านว้าเหว่ ต้องร้องเรียกท่านด้วยเสียงอันดัง เพราะท่านกำลังป่วยไข้ เวลาท่านอาเจียนหรือขี้รด เยี่ยวราดก็ต้องพยายามจัดล้างจัดซัก หรือเปลี่ยนผ้าใหม่ให้ท่านด้วยมือของตนเองด้วยความเต็มใจ ให้เหมือนกับที่ท่านได้ทำให้เราเมื่อเล็ก ๆ
ฉะนั้น ในการบำรุงเลี้ยงร่างกายนี้ บางคนพ่อแม่มีฐานะดีสมบูรณ์ไม่เดือดร้อนอะไร เราจะคิดว่าไม่จำเป็นก็ไม่ถูก เมื่อถึงฤดูมีผลไม้อะไรใหม่ ๆ และแปลก ๆ เช่น เงาะ หรือ ทุเรียน เป็นต้น ก็ควรจะจัดหาไปให้ท่านบ้าง แม้สักเล็กน้อยก็ยังดี ถึงว่าของนั้นท่านจะหาซื้อเองได้ แต่ท่านย่อมจะม่ความรู้สึกว่าของที่ท่านได้รับจากลูกนั้น ท่านได้กินทั้งผลไม้และน้ำใจที่ได้รับจากลูกด้วย
บางคราวด้วยความรักลูก ยังอุตส่าห์แบ่งเอาทำบุญกับพระที่วัดใกล้ ๆ บ้าน และยังคุยให้ท่านฟังด้วยว่า ของนี้ลูกเขาฝากมาให้รู้สึกว่ามันทำให้ท่านเกิดความอิ่มอกอิ่มใจมิใช่น้อย
ส่วนการเลี้ยงน้ำใจนั้น จงได้พยายามทำทุกอย่างไม่ให้ข้ดเคืองใจพ่อแม่ เมื่อท่านมีประสงค์จะเอาอะไร หรือจะให้เราทำอะไรแล้ว จงพยายามทำตามที่ท่านต้องการด้วยความเต็มใจ แม้สิ่งนั้นจะไม่ถูกกับความประสงค์ก็ดี หรือเป็นของไม่ควรทำ แต่ไม่ถึงกับเสียหายก็ดี ก็ขอให้พยายามทำตามเถิด อย่าขัดขืนให้ท่านไม่สบายใจเลย จงคอยสังเกตดูว่าสิ่งใดท่านชอบทำสิ่งใดท่านชอบรับประทาน แม้ท่านไม่ได้บอกขอร้องเรา ก็จงพยายามจัดทำหรือจัดหามาสนองท่าน
หากทำได้เช่นนี้ ท่านจะปลื้มใจมาก เพราะดีใจว่าลูกรู้จักน้ำใจท่าน
ถ้าบางครั้ง ไม่สามารถจะทำตามประสงค์ของท่านได้แล้วก็อย่าเพิ่งออกปากเถียงหรือคัดค้าน จงเฉย ๆ ไว้ก่อน แล้วหาอุบายพูดให้ท่านเข้าใจเองว่า สิ่งนั้นเป็นของผิดหรือเหลือวิสัยที่จะทำได้ อย่างนี้จัดว่าพยามเลี้ยงน้ำใจของพ่อแม่
ครั้นเมื่อท่านล่วงลับไปแล้วเราควรจะ ทำบุญอุทิศให้ท่าน คือ เมื่อท่านต้องตายทำลายขันธ์ไปตามธรรมดาของสังขารแล้ว ลูกก็ไม่ควรแต่จะเศร้าโศกเสียใจร้องไห้รำพัน จนไม่มีจิตใจจะทำฌาปนกิจศพของท่านอย่างไร
ควรจะระงับความทุกข์ใจ แล้วพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงว่า พ่อแม่เราต้องตายไปตามธรรมดาของคนทุกคนที่เกิดมาแล้วก็ต้องตายทั้งสิ้น ปู่ย่าของเรา ทวดของเรา ท่านก็ตายไปแล้วเช่นเดียวกัน และท่านเหล่านั้นก็หาเอาอะไรไปได้สักนิดหนึ่งไม่แม้สิ่งใดที่ท่านรักดั่งดวงใจ ท่านก็เอาไปไม่ได้เลย แม้ถึงตัวเราเองก็เช่นเดียวกัน ในไม่ช้าก็ต้องตายไปอีกเช่นเดียวกับท่าน หน้าที่ของเราก็คือ ต้องทำบุญกุศล อุทิศผลบุญนั้น ๆ ไปให้แก่ท่านเท่านั้น เพราะจะทำอย่างอื่นนั้นก็ไม่ถูกไม่ควร ด้วยว่าท่านไม่มีชีวิตเสียแล้ว จะบำรุงกายบำรุงใจอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะนักปราชญ์กล่าวไว้ว่า... บุญกุศลที่เราอุทิศไปให้เท่านั้นหากท่านได้มีโอกาสรับอนุโมทนาก็จะสำเร็จประโยชน์เป็นความสุขความเจริญแก่ท่านได้
และเราก็ควรทำแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลจริง ๆ ไม่ควรทำบาปเลย ในการทำฌาปนกิจหรือทำบุญอุทิศให้พ่อแม่นี้ เช่น จะฆ่าเองหรือสั่งให้คนอื่นฆ่า เอาเนื้อสัตว์มาทำบุญก็ไม่ควร หรือจะมีมหรสพให้สนุกสนาน ก็ไม่เหมาะ เพราะไม่ใช่เรื่องบุญกุศล ควรทำแต่เรื่องบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ฟังธรรมเทศนา ตามสมควรแก่กาลเวลาเท่านั้น บุญกุศลที่จะอุทิศไปให้แก่พ่อแม่จะได้เป็นบุญที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ให้มีบาปอันใดมาเจือปน ซึ่งจะเป็นเวรกรรมต่อไปอีก เพราะมาปรารภการทำบุญให้พ่อแม่เป็นเหตุ
การอุทิศก็ต้องตั้งใจอุทิศด้วยน้ำใจอันสงบ และใสสะอาดจริง ๆ ไม่ใช่ทำด้วยความรีบร้อน หรือสักแต่ว่ารินน้ำตรวจจนจบพระยถา...พอเป็นพิธีเท่านั้น
ผู้ที่ได้บำรุงเลี้ยงพ่อแม่ ตอบแทนพระคุณของท่านทั้งสอง ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้มาก ย่อมได้บุญมาก ย่อมเป็นที่รักใคร่ของผู้พบเห็น เทพยดาให้ความคุ้มครอง ย่อมปลอดภัยเมื่อมีอันตรายแก่ชีวิต …….
ที่มา : อานิสงส์ของการสวดพระพุทธคุณ
โดย : พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมมฺโม)
หน้า 38 - 43
หน้าที่ของลูกในการตอบแทนคุณพ่อแม่
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!