ชีวิต...ขาลง
ชีวิต...ขาลง
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 7 มีนาคม 2553
โดย…..ชัยยศ ยโสธโร
“คุณเตรียมพร้อมเพื่อรับกับชีวิต..ขาลงบ้างหรือยัง และอย่างไร”
ยูจีน โอเคลลีเป็นนักธุรกิจ นักบริหารที่มีอนาคตก้าวไกล
ในฐานะผู้บริหารระดับกลางของบรรษัทธุรกิจข้ามชาติ
ระดับหลายพันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ตำแหน่งประธานบรรษัทรออยู่ไม่ไกล
ยูจีนมีความฝัน ความหวังว่าวันหนึ่งเมื่อถึงจุดที่อะไรต่างๆ ลงตัว
เขากับภรรยาจะไปท่องเที่ยว พักผ่อน ทำงานการกุศล
แต่แล้ว วันหนึ่งที่ว่าก็มาไม่ถึง ในวัย ๕๓ ปี
ยูจีนล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเนื้องอกในสมอง
สมรรถภาพร่างกาย รวมถึงประสาทสั่งการต่างๆ จะค่อยๆ เสื่อมสภาพ
นาฬิกาชีวิตของยูจีนค่อยๆ นับถอยหลังและจะหยุดนิ่งในที่สุด
โชคดีหรือโชคร้ายก็ตาม เหตุการณ์นี้ทำให้ยูจีนมีโอกาสรู้วันตายของตนเอง
ขณะที่คนอื่นไม่มีโอกาสได้ทราบหรือเตรียมพร้อมความตายที่กำลังใกล้เข้ามา
ขณะที่ยูจีนมีเวลาตระเตรียมตัวเอง คนรอบข้าง รวมถึงการได้ทำสิ่งที่คั่งค้าง
ผัดผ่อนและปรารถนาที่จะทำภายในกำหนดเวลา ๓ เดือน
ก่อนที่โรคภัยจะคุกคามจนชีวิตสิ้นสุดลง
ยูจีนได้ใช้โอกาสนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความตายที่กำลังจะมาถึงให้ดีที่สุด
เขาตั้งเป้าหมายความสำเร็จของชีวิตในภาวะนี้ว่า
เขาจะเตรียมพร้อมและตายให้ดี และเป็นมิตรกับความตายมากที่สุด
พวกเราหลายคนไม่สามารถทราบวันตายของตนได้ว่าจะมาถึงเมื่อไร
เราทราบว่า ความตายต้องมาถึงแน่นอน
แต่เราทุกคนต่างหลอกลวงตนเองว่า
เราคงไม่ใช่คนที่ความตายจะมาหาในเร็วๆ นี้หรอก
วันเวลาของเราน่าจะยังอีกยาว..นาน นี่คือ การหลอกลวงตนเองในลักษณะหนึ่ง
ซึ่งหากเราสังเกตความเป็นไปของชีวิต ความเป็นในตัวเราเอง
เราก็จะพบสัญญาณเตือนตลอดเวลา
สัญญาณเตือนที่เด่นชัดอันหนึ่งก็คือ สัญญาณจากชีวิตขาลง
สัญญาณนี้คอยเตือน และค่อยๆ ให้เรารับรู้
และค่อยๆ ยอมรับความจริงได้ว่าว่า ชีวิตเรามีข้อจำกัด
นาฬิกาชีวิตของเรามีระยะเวลาที่จะหยุดลงในที่สุด
ชีวิตขาลงจึงเป็นสัญญาณเตือนให้เราได้ทบทวนและมาตั้งหลักว่า
อะไรคือสิ่งสำคัญที่เราควรทำก่อนที่จะหมดเวลา
เราทุกคนต่างมีท่วงทำนองชีวิตที่ไม่ต่างจากยูจีน
เราทำงานหนัก สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและฐานะ
ไข้วคว้าความสำเร็จและการบรรลุเป้าหมาย
มีบันไดที่รอคอยให้เราไต่ขึ้นและไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ
เพื่อที่จะพบว่าถึงวันหนึ่ง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเราก็ต้องส่งคืน
หรือ (ถูกบังคับ)เพื่อมอบสิ่งที่เราครอบครองให้กับผู้อื่นต่อไป
เริ่มต้นจากร่างกายที่เราได้รับจุดเริ่มต้นจากพ่อและแม่มาเป็นจุดตั้งต้น
จากนั้นเราได้รับอาหาร การบำรุงเลี้ยงดูไม่เพียงจากพ่อแม่
แต่ยังรวมถึงคนรอบข้าง และวงสังคมรอบข้างที่ค่อยๆ ขยายวงใหญ่ขึ้น
จากนั้นเราก็เข้าสู่แวดวงสังคม เริ่มต้นจากพ่อแม่พี่น้อง เพื่อน
โรงเรียน ที่ทำงาน หมู่คณะสังคมวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
สัมพันธภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต
และเป็นที่มาของความสุข ความทุกข์อย่างหนึ่งของชีวิต
จิตใจของเรารับรู้ความสุข ความทุกข์
และเราทุกคนต่างวิ่งหาความสุข หลบหนีความทุกข์
อาการวิ่งหาหรือหลบหนีเรากระทำทั้งโดยการพัฒนาวิธีคิด แรงจูงใจ
รวมถึงความเชื่อและการกระทำกลายเป็นบุคลิกภาพประจำตัว
ขณะเดียวกันจิตใจของเราก็เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ
สั่งสมความทรงจำและประสบการณ์ต่างๆ ในเรื่องราว ที่เราเลือกจดจำ
และเลือกหลงลืมตามความเป็นเรา
สัญญาณชีวิตขาลงที่หากเราสังเกตให้ดี
ก็จะพบว่ายามที่เราเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สิน มั่นคง
และเพียบพร้อมด้วยความมั่นคง ความสำเร็จ
มีบทบาทหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าและมีอิทธิพล
ยามนั้นสัมพันธภาพที่มีต่อตัวเรากลายเป็นที่รักและที่ปรารถนา
แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้หลุดลอย หรือเสื่อมคลายไป
เราไม่ได้เป็นที่รักของคนมากมายอีกต่อไป
สัญญาณชีวิตขาลงจากความเสื่อมไปของสิ่งที่เคยมี
เคยถือครองก็ช่วยให้เราได้ค้นพบมิตรแท้ มิตรที่แท้จริงไม่ทอดทิ้ง
แม้เราจะไม่ได้ร่ำรวยในทรัพย์สิน หรือในหน้าที่การงานอีกต่อไป
เช่นเดียวกันยามที่เราเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน วัยชรา
ไม่ยากเลยที่จะพบว่าสมรรถภาพร่างกายของเราค่อยๆ เสื่อมสลาย
สายตาเริ่มยาว และฝ้าฟาง ข้อต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายเริ่มขัดยอก
ปวดเมื่อยมากขึ้น ความเจ็บป่วยด้วยโรคภัยค่อยๆ เบียดเบียน
ในอีกทาง เราก็พบว่าสมองของเราเริ่มจดจำได้น้อยลง
ความหลงเริ่มเข้ามามากขึ้น
ชีวิต..ขาลงก็คือ โฉมหน้าที่บอกเราว่า ในที่สุดความเสื่อม
ความไม่จีรังยั่งยืนก็จะค่อยๆ คืบคลานเข้ามา
กระนั้นเราก็มีช่วงวันเวลาที่มากเพียงพอสำหรับการเตรียมตัว และเตรียมพร้อม
เริ่มต้นคือ การกลับมาค้นหาคุณค่าและความหมายของชีวิต
การค้นหาและทำความเข้าใจในความเป็นตัวเรา
การเรียนรู้และยอมรับในความจริงของชีวิต
จิตใจของเรามีธรรมชาติที่มักไหลลงสู่ที่ต่ำ
ไหลไปตามกิเลส มุ่งสู่ความเสื่อม
กระนั้นจิตใจของเราก็มีธรรมชาติที่สามารถฝึกฝนได้
ด้วยเหตุนี้ สมาธิภาวนา การศึกษาและปฏิบัติ
จึงเป็นกิจกรรมสำคัญของชีวิตที่อาจไม่เร่งด่วนแต่สำคัญอย่างยิ่ง
ที่รอคอยความใส่ใจ และการกระทำจากเรา
จากโรคภัยที่คุกคามและระยะเวลาที่เหลือ ๓ เดือน
ยูจีนเริ่มหันมาใส่ใจและจริงจังมากขึ้นกับการทำสมาธิภาวนา
เช่นเดียวกับหลายคนที่ได้รับสัญญาณภัย โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่มะเร็ง
คุกคามชีวิตคนสมัยใหม่มากขึ้นหลายคนบอก “โชคดีที่เป็นมะเร็ง”
เพราะเหมือนการได้รับโอกาสเตือนให้หันมาเอาจริงกับความหมายของชีวิต
ชีวิตเหมือนเกมส์พนันที่เราอาจคาดคิดว่า
เรายังมีช่วงเวลาสำหรับการแสวงหาประสบการณ์ที่พึงปรารถนา
กระนั้นความจริงที่เราอาจพบคือ
ช่วงชีวิตอาจสั้นสำหรับการค้นหาความหมายชีวิต
และการยอมรับความจริงเพื่อเป็นมิตรและเตรียมพร้อมรับความตายได้ดีที่สุด
หรือหากความตายดูเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป
ลองเตรียมพร้อมชีวิตสำหรับวัยเกษียณ
หรือช่วงโอกาสที่เราสูญเสียสิ่งมีค่า หวงแหน หรือบุคคลที่เรารักกำลังจากไป
ถือเป็นช่วงโอกาสของการค้นหา และตระหนักรู้ว่า
จิตใจของเราเป็นทุกข์ตรมรุนแรงกับเรื่องเช่นนี้อย่างไรบ้าง
สิ่งที่เราพบได้ หากใส่ใจพอคือ จิตใจมันมีธรรมชาติของการคิดนึกเองได้
ความรู้สึกเกิดขึ้น หายไป วนเวียนได้เหนือพ้นการควบคุม
เกิดอารมณ์เชิงลบเมื่อไร ชีวิตก็เจ็บปวดเมื่อนั้น
คราวนี้ก็ขึ้นกับว่าเราตอบสนองอาการเจ็บปวดนั้นอย่างไร
เราใช้การหลบหนีหรือ เข้าหาเรียนรู้เพื่อเตรียมรับกับสัญญาณภัยของชีวิตขาลง
ก่อนที่จะจบลงด้วยการลาจากโลกใบนี้และสัมพันธภาพที่เราแสนรัก
เหลือทิ้งไว้แต่รอยอาลัย คำพูดสรรเสริญ ความรู้สึกรำลึกถึงด้วยความอาลัยรัก
หรืออาการสมน้ำหน้า นินทาว่าร้าย โล่งอก สะใจของคนที่อยู่เบื้องหลัง
ทั้งนี้ก็ขึ้นกับวีรกรรม หรือวีรเวรที่เราสร้างในช่วงชีวิตที่ผ่านมา
สัญญาณ “SOS” คอยเตือนให้รู้แล้วว่าช่วงชีวิตขาลงกำลังมา
และเมื่อสัญญาณมรณะมา เราอาจเตรียมไม่ทันการณ์
ที่มา...คอลัมน์บทความพุทธิกา