ศรัทธา ตามแบบ พระพุทธศาสนา
ศรัทธาในพระพุทธเจ้า มุ่งถึงศรัทธาอันเกิดจากความรู้ในธรรมของพระองค์ที่เกิดจาก “วิมังสา ความสอบสวนพิจารณา”
ทางพระพุทธศาสนาต้องการให้คนวิมังสาตั้งแต่ในองค์พระศาสดาเอง โดยปกติ วิมังสาของคนมักมีในอรรถ คือ ความหมายถึง สอบสวนพิจารณาความบ้าง มีในสิ่งประกอบทั้งหลาย (สังขาร) บ้าง มีในอง์ศาสดาหรือในครูบาอาจารย์บ้าง
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ให้สอบสวนพระองค์ ตั้งตนตั้งแต่ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา อาชีพ ความยั่งยืนของความประพฤติ ตลอดถึงธรรมในพระองค์
จึงกล่าวได้เต็มที่ว่า "พระองค์มิได้ตรัสสอนให้มีศรัทธาในพระองค์เลย แต่กลับสอนให้มี "วิมังสา" ในพระองค์ให้ดีเสียก่อน" แล้วจึงค่อยมาฟังธรรม เพราะจะได้เกิดความตั้งใจที่จะรับธรรม
ลักษณะที่ทรงแสดงธรรมนั้น คือ
๑. ยิ่งๆ ขึ้น หมายถึง สูงขึ้นไปโดยลำดับที่ละขั้น ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด เช่น ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า ประโยชน์อย่างยิ่ง
๒. สุขุม คือละเอียดๆ มากขึ้น คือทรงแสดงละเอียดขึ้นๆ
๓. เทียบฝ่ายดำและฝ่ายขาว ให้เห็นความแตกต่างกันชัด ทั้งเหตุและผล
ฉะนั้น ผู้ฟังด้วยความเข้าใจ เมื่อได้ฟังธรรมที่เหมาะกับตน คือถูกระดับของพื้นเพ อันเหมือนอย่างมีบันไดมาทอดให้ขึ้น ตรงพื้นที่ตนได้ยืนอยู่พอดี ก็จะเดินขึ้นบันไดไปทันที ทีละขั้นพร้อมกับได้เห็นของจริงที่น่าดูน่าชมเป็นอันมาก ยิ่งสูงขึ้น ก็ยิ่งได้เห็นชัดยิ่งขึ้น จึงได้ความรู้สึกขึ้นเองว่า “พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้จริงหนอ พระธรรมได้ตรัสบอกไว้ดีจริงหนอพระสงฆ์ได้ปฏิบัติดีจริงหนอ”
ความรู้สึกเกิดขึ้นเองดังนี้ จะเรียกว่า "ศรัทธาหรือปัญญา" ก็ได้ทั้งสองอย่าง ถ้าเรียกว่าศรัทธา ก็เป็น "ศรัทธาที่เป็นตัวปัญญาด้วย" เป็นสิ่งที่ถูกต้องมั่นคง ไม่มีใครหลอกให้เป็นอื่นไปได้ แม้จะปลอมแปลงเป็นองค์พระมา ดังมีเรื่องเล่าว่า
อุบาสกผู้หนึ่งชื่อ สูระ ฟังธรรมของพระศาสดาได้บรรลุถึงกระแสธรรม ที่เรียกว่า โสดาบัน คือได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วกลับบ้านไป
ขณะนั้นมารใจบาป ได้นิรมิตรูปเป็นองค์พระพุทธเจ้า เสด็จไปประตูบ้านของเขาให้คนเข้าไปบอกเขาว่าพระศาสดาเสด็จมา เขาคิดว่าเขาเพิ่งมาจากสำนักพระองค์เดี๋ยวนี้เอง จักทรงมีเรื่องอะไร จึงออกไปหน้าบ้าน ถวายบังคมด้วยสำคัญว่า พระศาสดา
ฝ่ายมารแปลงได้กล่าวว่า ตามที่เราสอนว่ารูปเป็นต้นว่าไม่เที่ยงนั้น ผิดไปเสียแล้วเพราะพูดไปโดยมิได้พิจารณา จึงรีบมาบอกแก้ ให้ถือเอาใหม่ว่า รูปเป็นต้นนั้นเป็นของเที่ยง
สูระอุบาสกคิดว่า "มิใช่ฐานะที่พระพุทธเจ้า จะตรัสคำอะไร โดยมิได้ใคร่ครวญ มิได้ประจักษ์" ผู้นี้ต้องเป็นมารมาเพื่อตัดความเลื่อมใสของตนเป็นแน่แท้ จึงถามมารทั้งที่อยู่ในรูปแห่งพระว่า เป็นมารหรือและมาทำไม
ฝ่ายมารไม่อาจจะลวงต่อไปจึงบอกว่า เป็นมาร มาเพื่อตัดศรัทธาของเขาให้คลอนแคลน เขาจึงตอบว่า แม้สักร้อยมารพันมารก็ทำไมได้ แล้วดีดนิ้วขับ มารก็หายวับไปในขณะนั้น
เรื่องนี้ให้คติว่า "ศรัทธาที่ถูกต้องนั้น เกิดจากศึกษาให้รู้เข้าใจธรรมโดยถูกต้อง เมื่อมีใครมาอ้างว่า พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้นอย่างนี้ จะได้วินิจฉัยได้เองว่าจริงหรือไม่" เป็นสัทธรรมปลอมหรือสัทธรรมจริง เทียบเหมือนว่าพระจริงหรือพระปลอม ซึ่งมารแปลงมา
: ส่องโลกส่องธรรม
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก