บันทึกธรรมภาษิต โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

บันทึกธรรมภาษิต โดย หลวงปู่เทสก์  เทสรังสี




(๑) ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ถ้ายังปฏิบัติไม่ถึงจิตถึงใจ ยังได้ชื่อว่าปฏิบัติไม่ถึงหลักธรรมของจริง เพราะธรรมทั้งหลายเกิดจากจิตจากใจอย่างเดียว

(๒) ความคิดนึกปรุงแต่ง สัญญาอารมณ์ทั้งปวง หรือสรรพกิเลสทั้งปวงเกิดจาก จิต นี้ทั้งนั้น เมื่อไม่มีสติควบคุมจิต แต่ตรงกันข้าม เมื่อมีสติควบคุมแล้วย่อมให้เกิดปัญญา

(๓) ผู้ไม่รู้เท่าเข้าใจที่ตั้งที่เกิดของ ขันธ์ห้า ขันธ์สี่ ขันธ์หนึ่ง ขันธ์ทั้งสามย่อมถูกกิเลสกลืนกินหรือครอบงำได้ นักปราชญ์ย่อมรู้เท่าเข้าใจที่ตั้งที่เกิดของขันธ์ห้า ขันธ์สี่ ขันธ์หนึ่ง แล้วท่านย่อมพ้นจากการครอบงำของมันได้

ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ขันธ์สี่ ได้แก่ อรูปฌาน
ขันธ์หนึ่ง ได้แก่ สัญญาเวทยิตนิโรธ

(๔) กายคตาสติ ย่อมเป็นที่ตั้งของกัมมัฏฐานทั้งปวง กายอันนี้ถึงมันจะมีหรือไม่มี มันก็ถืออยู่ดีๆ นี้แหละ ยิ่งปฏิสนธิ ก็ยิ่งถือใหญ่ เจริญสมถะและวิปัสสนา ถ้าทิ้งกายเสียแล้ว จะไม่มีหลักเห็นชัดแจ้งในกัมมัฏฐานทั้งปวง

(๕) ผู้ใดไม่เห็นทุกข์ ผู้นั้นคือผู้ไม่เห็นธรรม ผู้ได้รับทุกข์ จนเหลือที่จะอดกลั้นแล้ว เมื่อหวนกลับเข้ามาถึงตัวนั่นแลจึงจะรู้จักว่าทุกข์นั้นแลคือ ธรรม ผู้เกลียดทุกข์เป็นผู้แพ้ ผู้พิจารณาทุกข์ คือ ผู้เจริญในทางธรรม

(๖) เมื่อสติตามกำหนดจิตแล้ว จิตจะไม่สับส่ายไปมา กิเลสทั้งหมดจะระงับได้ด้วย สติ ตัวเดียวเท่านี้

(๗) เมื่อสติตามกำหนดจิต รู้อยู่ทุกอิริยาบถ จิตจะค่อยรวมเข้าเป็นหนึ่ง นั่นคือ ใจ ซึ่งไม่มีการส่งส่ายไปมา มีแต่ผู้รู้เฉยๆ หรือเรียกว่าธาตุรู้ ก็ได้

(๘) ธาตุรู้เป็นผู้อยู่กลางๆ ไม่มีอาการใดๆ ทั้งหมด ฉะนั้นธาตุรู้จึงไม่มีความรู้สึกดีชั่วอะไร ธาตุรู้นี้ต้องมี สัญญา สังขาร อุปาทาน เข้าไปสัมปยุตจึงจะเกิดอาการต่างๆ ขึ้นมาได้ เช่น สังขารปรุงแต่งดีชั่วหยาบละเอียดต่างๆ จึงเกิดขึ้นมา เมื่อสังขารปรุงแต่งแล้ว ปัญญาเข้าไปตรึกตรองในสิ่งนั้นๆ จึงถอดเอาความดี ความชั่วออกมาตั้งไว้ให้ปรากฏเห็นชัดว่าอันนี้ดีอันนี้ชั่ว

(๙) นักปฏิบัติจิตทั้งหลาย จะปฏิบัติจิตเก่งที่สุดได้เพียงภวังคุปัจเฉทะเท่านั้น หรืออัปปนาฌาน มิฉะนั้นก็อัปปนาสมาธิ ทั้งสามอย่างนี้เป็นอาการจิตรวมคล้ายๆ กัน แต่มีอารมณ์เป็นเครื่องอยู่ต่างกันและรวมก็ต่างกัน ท่านจึงเรียกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น ภวังคุปัจเฉทะ นั้น จิตจะรวมเป็นหนึ่งตัดอารมณ์ภายนอกทั้งปวงหมด แล้วก็ตั้งอยู่เป็นหนึ่งในที่เดียว จะไม่มีอารมณ์ใดๆ ทั้งหมดนอกจากอารมณ์ของภวังค์ อารมณ์ของของภวังค์นี้คล้ายๆ กับไปอยู่ในที่แจ้งแห่งหนึ่ง มีความรู้สึกแต่ในที่แจ้งนั้นจะเกิดนิมิตมีอาการต่างๆ เช่น เห็นรูปก็จะเพลินในรูปนั้น เห็นแสงสว่าง ก็จะเพลินในแสงสว่างนั้น เมื่อจิตถอนจากภวังคุปัจเฉทะแล้ว จะไม่รู้เรื่องอะไรทั้งหมด หรือรู้ก็เป็นลางๆ

อัปปนาฌาน เพ่งจิตอย่างเดียวจนจิตรวมเข้าเป็นหนึ่งเหมือนกันแล้วไม่รู้อะไรทั้งหมด เรียกว่า อัปปนาฌาน

อัปปนาสมาธิ นั้น เหมือนกับอัปปนาฌาน แต่รวมเข้าไปแล้วมีสติพิจารณาอารมณ์ของสมาธินั้นอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

(๑๐) ผู้แสวงหาความสุข อยู่บนกองทุกข์แล้ว จะไม่เจอะความสุขเลยเด็ดขาด แต่ค้นหาความสุขในความทุกข์แล้ว ทุกข์นั้นจะหายไป

(๑๑) ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้ว ต้องกลับเข้ามาหาตัวเอง ถ้าเป็นโลกแล้วจะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา

(๑๒) ถ้าจะชนะโลกได้ ต้องเอาชนะตนเองเสียก่อน ความชนะโลกย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ไม่ชนะตนเอง

(๑๓) สันติสุขเป็นความชนะของผู้ชนะโลกนี้ ผู้มีอำนาจดับโลกแต่หาสันติไม่ได้ ได้ชื่อว่า ผู้แพ้อยู่ร่ำไป

(๑๔) หากความเข้าใจของหมู่ชนใด คณะใดก็ตาม หรือในโลกนี้ทั้งหมดเห็นว่า ผู้จะเอาชนะโลกนี้ได้ต้องชนะตนเองเสียก่อนด้วยสันติวิธี เขาหาว่า นั่นเป็นความโง่ที่สุดของโลกนิยม หรือผู้มีแสนยานุภาพอันเกรียงไกร อย่างนี้แล้วสัจธรรมก็ควรเก็บไว้ในตู้ล็อคกุญแจเสียดีกว่า




ที่มา...ธรรมจักร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์