ระลึกถึงความตายสบายนัก
ระลึกถึงความตายสบายนัก
: การเจริญมรณสติในชีวิตประจำวัน โดย พระไพศาล วิสาโล
(ได้รับหนังสือเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ เล่มนี้จากงานศพญาติเมื่อวันก่อน
อ่านแล้ว "ได้" อะไรมากมาย ขอหยิบยกบางส่วนมาแบ่งปันค่ะ)
ระลึกถึงความ ตายสบายนัก
มันหักรักหักหลงในสงสาร
บรรเทามืดโมหันต์อันธการ
ทำ ให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ
พระศาสนโสภณ (จตตสลลเถร)
สำหรับคนทั่วไปไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับความตาย
เพราะความตายไม่เพียงพรากเราไปจากทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่เรารักและหวงแหนเท่านั้น
หากยังนำมาซึ่งความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างยิ่งยวด
ก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายจะหมดไป
ความตายที่ไม่เจ็บปวดจึงเป็นยอดปรารถนาของทุกคน
รองลงมาจากความปรารถนาที่จะเป็นอมตะ
แต่ความจริงที่เที่ยงแท้แน่นอนก็คือเราทุกคนต้องตาย
ความตายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็จริง
แต่ใครบ้างที่ยอมรับความจริงข้อนี้ได้
ด้วยเหตุนี้ผู้คนเป็นอันมากจึงพยายามหนีห่างความตายให้ไกลที่สุด
ขณะเดียวกันก็พยายามไม่นึกถึงมัน โดยทำตัวให้วุ่น
หาไม่ก็ปล่อยใจเพลิดเพลินไปกับความสุขและการเสพ
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีชีวิตราวกับลืมตาย
ดังนั้นจึงไม่พอใจหากมีใครพูดถึงความตายให้ได้ยิน
ถือว่าเป็นอัปมงคล คำว่า “ความตาย”กลายเป็นคำอุจาดที่แสลงหู
ต้องเปลี่ยนไปใช้คำอื่นที่ฟังดูนุ่มนวล เช่น “จากไป” หรือ “สิ้นลม”
ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะต้องตายไม่ช้าก็เร็ว
แต่แทนที่จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้า
คนส่วนใหญ่เลือกที่จะ “ไปตายเอาดาบหน้า”
คือ ความตายมาถึงเมื่อไร ค่อยว่ากันอีกที
แต่วันนี้ขอสนุกหรือขอหาเงินก่อน
ผลก็คือเมื่อความตายมาปรากฏอยู่เบื้องหน้า
จึงตื่นตระหนก ร่ำร้อง ทุรนทุราย ต่อรอง ผัดผ่อน
ปฏิเสธผลักไส ไขว่คว้าขอความช่วยเหลือ
แต่ถึงตอนนั้นก็ยากที่จะมีใครช่วยเหลือได้
เตรียมตัวเตรียมใจเพียงใด ก็ได้รับผลเพียงนั้น
ถ้าเตรียมมามากก็ผ่านความตายได้อย่างสงบราบรื่น
ถ้าเตรียมมาน้อย ก็ทุกข์ทรมานแสนสาหัสกว่าจะหมดลม
หากความตายเปรียบ เสมือนการสอบ ก็เป็นการสอบที่ยุติธรรมอย่างยิ่ง
จะว่าไปชีวิตนี้ทั้งชีวิตก็คือโอกาสสำหรับการเตรียมตัวสอบครั้งสำคัญนี้
สิ่งที่เราทำมาตลอดชีวิตล้วนมีผลต่อการสอบดังกล่าว
ไม่ว่าการคิด พูด หรือทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม
การกระทำแม้เพียงเล็กน้อยไม่เคยสูญเปล่าหรือเป็นโมฆะ
ที่สำคัญก็คือการสอบดังกล่าวมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ไม่มีการแก้ตัวหรือสอบซ่อม
หากสอบพลาดก็มีความทุกข์ทรมานเป็นผลพวงจนสิ้นลม
ความตายเป็นสิ่งน่ากลัวสำหรับผู้ใช้ชีวิตอย่างลืมตาย
หรือคิดแต่จะไปตายเอาดาบหน้า
แต่จะไม่น่ากลัวเลยสำหรับผู้ที่เตรียมพร้อมมาอย่างดี
อันที่จริงถ้ารู้จักความตายอยู่บ้าง
ก็จะรู้ว่าความตายนั้นมิใช่เป็นแค่ “วิกฤต” เท่านั้น
แต่ยังเป็น “โอกาส”อีกด้วย กล่าวคือเป็นวิกฤตในทางกาย
แต่เป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณ
ในขณะที่ร่างกายกำลังแตกดับ ดิน น้ำ ลม ไฟ
กำลังเสื่อมสลาย หากวางใจได้อย่างถูกต้อง
ก็สามารถพบกับความสงบ
ทุกขเวทนาทางกายมิอาจบีบคั้นบั่นทอนจิตใจได้
มีผู้คนเป็นจำนวนมากได้สัมผัสกับความสุขและรู้สึกโปร่งเบาอย่างยิ่ง
เมื่อป่วยหนักในระยะสุดท้าย
เพราะความตายมาเตือนให้เขาปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ที่เคยแบกยึดเอาไว้
หลายคนหันเข้าหาธรรมะจนค้นพบความหมายของชีวิตและความสุขที่แท้
ขณะที่อีกหลายคนเมื่อรู้ว่าเวลาเหลือน้อยแล้วก็หันมาคืนดีกับคนรักจนไม่
เหลือสิ่งค้างคาใจใด ๆ และเมื่อความตายมาถึง
มีคนจำนวนไม่น้อยที่จากไปอย่างสงบ
โดยมีสติรู้ตัวกระทั่งนาทีสุดท้ายยิ่ง
ไปกว่านั้นมีบางท่านที่เห็นแจ้งในสัจธรรมจากทุกขเวทนา
อันแรงกล้าที่ปรากฏเฉพาะหน้า จนเกิดปัญญาสว่างไสว
และปล่อยวางจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งปวง
บรรลุธรรมขั้นสูงได้ใน ขณะที่หมดลมนั้นเอง
สำหรับผู้ใฝ่ธรรม ความตายจึงมิใช่ศัตรู
หากคือครูที่เคี่ยวเข็ญให้เราดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง
คอยกระตุ้นเตือนให้เราอยู่อย่างไม่ประมาท
และไม่หลงเพลิดเพลินกับสิ่งที่มิใช่สาระของชีวิต
ขณะเดียวกันก็สอนแล้วสอนเล่าให้เราเห็นแจ้งในสัจธรรมของชีวิต
ว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้ ไม่มีอะไรน่ายึดถือ
และไม่มีอะไรที่ยึดถือเป็นของเราได้เลยแม้แต่อย่างเดียว
ยิ่งใกล้ความตายมากเท่าไร
คำสอนของครูก็ยิ่งแจ่มชัดและเข้มข้นมากเท่านั้น
หากเราสลัดความดื้อดึงได้ทันท่วงที
นาทีสุดท้ายของเราจะเป็นนาทีที่ล้ำค่าอย่างยิ่ง
เพราะสามารถนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้
ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกนาทีนั้นว่า “นาทีทอง”
ทำไมถึงกลัวตาย :
ความตายไม่ว่าจะน่ากลัวอย่างไรในสายตาของคนทั่วไป
ก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย
ความตายหากวัดที่การหมดลมหรือหัวใจหยุดเต้น
ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์
แต่ความกลัวตายนั้นสามารถหลอกหลอนคุกคามผู้คนนานนับปีหรือยิ่งกว่านั้น
ความกลัวเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้น
จึงมีภาษิตว่า “คนกล้าตาย ครั้งเดียว
แต่คนขลาดตายหลายครั้ง”
ความกลัวตายยังน่ากลัวตรงที่เป็นแรงผลักดัน
ให้เราพยายามผลักไสความตายออกไปให้ไกลที่สุด
จนแม้แต่จะคิดถึง เรียนรู้ หรือทำความรู้จักกับมัน ก็ยังไม่กล้าทำ
เพราะเห็นความทุกข์เป็นศัตรู
ทำใจให้คุ้นชินกับ ความตาย :
ไม่ว่าจะหลีกหนีให้ไกลเพียงใด เราทุกคนก็หนีความตายไม่พ้น
ในเมื่อจะต้องเจอกับความตายอย่างแน่นอน
แทนที่จะวิ่งหนีความตายอย่างไร้ผล
จะไม่ดีกว่าหรือหากเราหันมาเตรียมใจรับมือกับความตาย
ในเรื่องนี้ มองแตญ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้กล่าวแนะนำว่า
“เราไม่รู้ว่าความตายคอยเราอยู่ ณ ที่ใด
ดังนั้นขอให้เราคอยความตายทุกหนแห่ง”
เราสามารถทำใจให้คุ้นชินกับความตายได้ด้วยการระลึกนึกถึงความตายอยู่เสมอ
นั่นคือเจริญ “มรณสติ” อยู่เป็นประจำ
การเจริญมรณสติคือการระลึกหรือเตือนตนว่า ...
๑) เราต้องตายอย่างแน่นอน
๒) ความตายสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ
อาจเป็นปีหน้า เดือนหน้า พรุ่งนี้ คืนนี้ หรืออีกไม่กี่นาทีข้างหน้าก็ได้
เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องสำรวจหรือถามตนเองว่า...
๓) เราพร้อมที่จะตายหรือยัง
เราได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง
และพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งทั้งปวงแล้วหรือยัง
๔)หากยังไม่พร้อม เราควรใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
เร่งทำสิ่งที่ควรทำให้เสร็จสิ้น อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า
หาไม่แล้ว เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้
เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่
ได้ตรัสแนะนำให้ภิกษุเจริญมรณสติเป็นประจำ
อาทิ ให้ระลึกเสมอว่า เหตุแห่งความตายนั้นมีมากมาย
เช่น งูกัด แมลงป่องต่อย ตะขาบกัด หาไม่ก็อาจพลาดพลั้งหกล้ม
อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน เสมหะกำเริบ ลมเป็นพิษ
ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์ทำร้าย จึงสามารถตายได้ทุกเวลา
ไม่กลางวันก็กลางคืน ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่า
บาปหรืออกุศลธรรมที่ตนยังละไม่ได้
ยังมีอยู่หรือไม่ หากยังมีอยู่ ควรพากเพียร ไม่ท้อถอย
เพื่อละบาปและอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย
หากละได้แล้ว ก็ควรมีปีติปราโมทย์
พร้อมกับหมั่นเจริญกุศลธรรมทั้งหลายให้เพิ่มพูนมากขึ้น
ทั้งกลางวันและกลางคืน
แม้กระทั่งเมื่อพระองค์ใกล้จะปรินิพพาน
โอวาทครั้งสุดท้ายของพระองค์ก็ยังเน้นย้ำถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ดังตรัสว่า
“สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”
ธรรมะไทย