ผลกรรมดีและกรรมชั่วก็เป็นไตรลักษณ์
ผลของกรรมเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทั้งผลของกรรมดี กรรมชั่ว ล้วนมีลักษณะสาม คือ ไม่เที่ยง ทนทุกข์อยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้ใด
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งผลของกรรมดีและผลของกรรมชั่วนั้น เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ ไม่มีที่จะยั้งยืนอยู่ได้ตลอดไป
พึงละความยึดมั่นในผลของกรรมทั้งปวง
สิ่งทั้งปวงเกิดแล้วต้องดับ คือมีลักษณะสาม มีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ โลกธรรมฝ่ายดีคือผลของกรรมดีก็เช่นกัน เกิดแล้วต้องดับ โลกธรรมฝ่ายไม่ดีคือผลของกรรมไม่ดีก็เช่นกัน เกิดแล้วต้องดับ
เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อรู้เช่นนี้ตามเป็นจริงแล้ว ก็พึงละความยึดมั่นในผลของกรรมที่ได้ประสบอยู่ ไม่ว่าจะเมื่อประสบผลดีหรือเมื่อได้ประสบผลชั่วก็ตาม
พึงทุ่มเทจิตใจให้กระทำแต่กรรมดี
ความยึดมั่นถือมั่น เป็นความไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละ แต่เมื่อยังละทุกอย่างไม่ได้ ก็พึงทุม่เทจิตใจให้ยึดมั่นการทำความดี มีความยึดมั่นความเชื่อในผลของการทำความดี ว่าทำดีจักได้ดีจริง มีความยึดมั่นความเชื่อในผลของการทำความชั่ว ว่าทำชั่วจักได้ชั่วจริง
ความยึดมั่นเช่นนี้จักเป็นทางนำไปดี ให้ได้ทำดี ไม่ทำไม่ดี ซึ่งก็ย่อมจักนำให้พ้นทุกข์โทษภัยของกรรมไม่ดี ได้รับแต่คุณประโยชน์สารพัดของกรรมดี
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก