ฝึก ใส่ใจ ให้เป็น
ในขณะที่สิ่งแวดล้อมสัมผัสกับเมล็ดพันธุ์ภายในตัวเรา มันจะดึงความสนใจของเราไปยังจุดใดจุดหนึ่ง และปรากฏขึ้นเป็นการปรุงแต่งของจิต เมล็ดพันธุ์ที่ถูกสัมผัสนั้นอาจเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งสติหรือเมล็ดพันธุ์แห่งความปรารถนา ความโกรธ หรือ ความสับสนก็ได้ ถ้าเธอใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ปฏิบัติธรรม เสียงระฆังจะมีความหมายที่พิเศษ เพราะเธอจะได้ฝึกฟังเสียงระฆังในความหมายที่ต่างไปจากปกติ เสียงของระฆังที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมนั้นมีความหมายว่า "โปรดกลับสู่บ้านที่แท้จริงของเธอ เบิกบานกับการหายใจ และอยู่กับปัจจุบันที่นี่ ขณะนี้" คลังวิญญาณของเราเรียนรู้สิ่งนี้เป็นอย่างดี ทุกครั้งที่เราได้ยินเสียงระฆัง เราจะกลับมาตระหนักรู้ลมหายใจของเราโดยปราศจากความพยายามหรือการตัดสินใจใดๆ เราตามลมหายใจอย่างน้อยสามครั้ง เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก สิ่งนี้นำมาซึ่งความสงบ ความเบิกบาน และปัญญาที่ทำให้เรารู้ว่าเรายังคงมีชีวิตอยู่ นี่คือปาฏิหาริย์แห่งการตื่นรู้ที่เราสามารถสัมผัสได้เสมอ
การฝึกฝนกับเสียงระฆังเป็นประจำทำให้เกิด "การใส่ใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม" การใส่ใจในลักษณะเช่นนี้ช่วยรดน้ำเมล็ดพันธุ์ที่ดีต่างๆ เช่น เมล็ดพันธุ์แห่งสติ และเมล็ดพันธุ์แห่งความเบิกบาน อย่างไรก็ตามรายรอบตัวเรานั้นยังมีเสียงและภาพต่างๆ มากมายที่ดึงความใส่ใจของเราไปสู่เมล็ดพันธุ์ด้านลบ เช่น ความปรารถนา ความกลัว ความโกรธ ความเศร้าโศกเสียใจ เราควรจัดสิ่งแวดล้อมของเราให้มีปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดการใส่ใจที่เหมาะสม มิเช่นนั้นเราอาจถูกชักจูงไปสู่การใส่ใจที่ไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น รายการโทรทัศน์บางรายการอาจมีภาพหรือเสียงที่เลวร้ายสำหรับเด็กๆ ฉันทราบมาว่าก่อนที่เด็กในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเรียนจบชั้นประถมศึกษา พวกเขาแต่ละคนอาจจะได้รับชมภาพที่มีพฤติกรรมรุนแรงกว่า 100,000 ครั้ง และ ภาพการฆาตกรรมถึง 8,000 ครั้งจากโทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้นั้นมากเกินไป เราอ้างใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อผลิตสื่อที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ความโกรธ ความกลัว และความปรารถนา มากมายเหลือเกิน
หากเธอเห็นว่าสิ่งแวดล้อมในสังคมนั้นไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ความสงบ ความเบิกบาน ความเมตตา และการไม่ใช้ความรุนแรง เธอควรจะทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้น หรือหาหนทางที่จะย้ายไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมอื่นที่ปลอดภัย แม้การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะทำให้เธอต้องประกอบอาชีพที่ค่าตอบแทนต่ำลง อาศัยอยู่ในบ้านที่เล็กลง หรือใช้รถคันเล็กลง เธอก็ควรยอมรับสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เธอและลูกหลานของเธออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้น
บางครั้งเธอรู้สึกหดหู่ใจ นั่นเป็นผลจากการบริโภคภาพ เสียง สัมผัส หรือสิ่งอื่นๆ ที่กระตุ้นเมล็ดพันธุ์ด้านลบในตัวให้ปรากฏตัวขึ้น นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเราจึงควรฝึกปฏิบัติดูแลเอาใจใส่ขันธ์ทั้ง 5 และสิ่งแวดล้อมในสังคมรอบตัวเรา
พระพุทธองค์สอนพวกเราว่า ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจังและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่เราจะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของเราให้ดีขึ้น เราอาจนั่งสนทนาธรรมกับสังฆะเพื่อหาหนทางที่จะพัฒนาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในสังคมของเรา การปฏิบัติเช่นนี้สามารถทำได้ในครอบครัว ในกลุ่มเพื่อนบ้าน หรือจะฝึกปฏิบัติกันในระดับจังหวัด หรือระดับประเทศก็ได้ สิ่งแวดล้อมในสังคมนั้นมีความสำคัญในการกำหนดอนาคตของเราเป็นอย่างมาก
ธรรมบรรยายโดย ท่านติช นัท ฮันห์
หมู่บ้านพลัม