แก้ที่ต้นเหตุเพื่อผลที่ยั่งยืน
โดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
อริยสัจ 4 เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ส่งผลให้ท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมในอริยสัจ 4 ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค
พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปฏิบัติต่ออริยสัจ 4 ดังนี้
ทุกข์ หรือปัญหา ได้แก่ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เรามีหน้าที่จะต้อง กำหนดรู้ คือรู้ว่าขณะนี้เรามีทุกข์หรือมีปัญหาอยู่ เพราะถ้าไม่รู้ว่าเรากำลังมีปัญหา ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้
สมุทัย ได้แก่ ตัณหา มีกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา นอกจากนี้ยังมีอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวฉัน ของฉัน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เรามีหน้าที่จะต้อง ละ คืออย่าไปสร้างเหตุอีก
นิโรธ ได้แก่ การดับตัณหาและอุปาทาน เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำ ให้แจ้ง หรือทำให้สำเร็จ หากทำได้เสร็จ ทุกข์นั้นจะหมดไป ได้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน
มรรค มีองค์ 8 เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อดับตัณหาและอุปาทาน เรามีหน้าที่ที่จะต้องเจริญ หรือนำไปปฏิบัติ หากปฏิบัติได้สำเร็จก็จะเข้าถึงนิโรธ คือถึงนิพพาน ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
หลักการของอริยสัจ 4 จึงเป็นหลักของเหตุและผล จับกันเป็นคู่ ๆ ดังนี้
ทุกข์เป็นผล อันมีสมุทัย เป็นเหตุ นิโรธ เป็น ผล อันมีมรรคเป็นเหตุ
การที่พระพุทธองค์ทรงนำเอาผลขึ้นก่อนเหตุนั้น เพราะผลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เช่นเราได้เห็นร่างกายของผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ระยะสุดท้าย เห็นแล้วน่ากลัวมาก การป่วยดังกล่าวเป็นผล อันมีสาเหตุ มาจากการสำส่อนทางเพศ หากเราไปพูดถึงสาเหตุก่อน คือห้ามคนอย่าไปสำส่อนทางเพศเดี๋ยวจะเป็นเอดส์ คนก็จะไม่เชื่อเพราะยังไม่เห็นผล แต่ถ้าเราพูดถึงผลที่เกิดขึ้น นำผู้ป่วยเป็นเอดส์มาให้ดู คนเห็นแล้วจะกลัวและจะระวังไม่สร้างเหตุอันจะนำไปสู่ผล
เช่นเดียวกัน หากเราบอกคนทั่วไปว่า ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 (ทำเหตุ) แล้วจะถึงนิโรธนิพพาน (ได้ผล) คนอาจจะไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง แต่ถ้าเรายกเอาพระอรหันต์เช่นหลวงปู่มั่นมาให้ดู การที่ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้เพราะท่านปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 คนก็จะเชื่อเช่นนั้น
หลักเหตุและผลตามอริยสัจ 4 เป็นหลักสำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อแก้ปัญหาหรือ ทุกข์ที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนบุคคล ครอบครัว องค์กร และประเทศชาติ เพราะหลักของอริยสัจ 4 มีสาระสำคัญคือเมื่อมีปัญหาจะต้องรู้ว่าปัญหานั้นอยู่ที่ใด (ทุกข์จะต้องกำหนดรู้) หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาให้พบ แล้วหยุดสร้างเหตุนั้นเสีย (สมุทัยจะต้องละ) ตั้งปณิธานที่จะแก้ปัญหานั้นให้สำเร็จ (นิโรธจะต้องทำให้แจ้ง) นำวิธีการแก้ปัญหามาปฏิบัติให้ได้ผล (มรรคจะต้องเจริญ)
ด้วยหลักการดังกล่าวเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา ดังนี้
พ่อแม่ทุกข์เพราะลูก เนื่องจากลูกหมกมุ่นในอบายมุข อบายมุขเป็น เหตุ ทำให้ลูกประพฤติในสิ่งที่ไม่ดี ผล ก็คือพ่อแม่มีความทุกข์
ถ้าคิดว่าอบายมุขเป็นต้นเหตุที่ทำให้ลูกเสียคน พ่อแม่ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาทุกข์ของคนได้เพราะอบายมุขเป็นเพียงปลายเหตุมิ ใช่สาเหตุที่แท้จริง
การที่จะแก้ปัญหาใดๆ ได้สำเร็จต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา มิใช่แก้ที่ปลายเหตุ
ถามว่าทำไมลูกจึงหมกมุ่นในอบายมุข เพราะลูกคบเพื่อนไม่ดี การคบเพื่อนไม่ดีกลับเป็นเหตุ ลูกหมกมุ่นในอบายมุขกลายเป็นผล
ถามว่าทำไมลูกคบเพื่อนไม่ดี เพราะลูกขาดความอบอุ่นในครอบครัวจึงชอบออกจากบ้านไปคบเพื่อนไม่ดี การขาดความอบอุ่นในครอบครัวกลับเป็นเหตุ การคบเพื่อนไม่ดีกลายเป็นผล
ถามว่าทำไมลูกขาดความอบอุ่นในครอบครัว เพราะพ่อแม่ใช้วิธีเลี้ยงลูกที่ไม่ดี เอาแต่ดุด่าว่ากล่าวเป็นประจำ วิธีการเลี้ยงลูกไม่ดีของพ่อแม่กลับเป็นเหตุ ลูกขาดความอบอุ่นกลายเป็นผล
ถามว่าทำไมพ่อแม่ใช่วิธีเลี้ยงลูกไม่ดี เอาแต่ดุด่ากล่าวลูกเป็นประจำ เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกได้อย่างใจ ครั้นลูกไม่ได้อย่างใจก็ดุด่าว่ากล่าว ใช้วิธีการก้าวร้าวรุนแรงกับลูกประจำ การเอาแต่ใจตัวของพ่อแม่กลับเป็นเหตุ อันส่งผลถึงวิธีการเลี้ยงลูกที่ไม่ดี ทำให้ลูกขาดความอบอุ่น ชอบออกนอกบ้านไปคบเพื่อนที่ไม่ดี นำไปสู่การหมกมุ่นในอบายมุข ผลก็คือทำให้พ่อแม่มีความทุกข์ใจ
ดังนั้นต้นเหตุปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้พ่อแม่มีความทุกข์กับ ลูกก็คือ การที่พ่อแม่เอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่ อยากให้ลูกได้อย่างใจ ครั้นลูกทำอะไรไม่ได้อย่างใจก็ใช้วิธีการที่ก้าวร้าวรุนแรงด้วยการดุด่าว่า กล่าวการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่
พ่อแม่จะต้องตั้งเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาอันนำมาซึ่งความทุกข์ ให้สำเร็จ (นิโรธ) โดยเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงลูกเสียใหม่ (มรรค) แทนที่จะเอาแต่ใจตัวเอง ให้คิดถึงใจของลูกบ้าง เขาอยู่ในวัยรุ่นย่อมนิยมชมชอบสิ่งต่างๆ ไปตามวัยของเขา พ่อแม่ไม่ควรเอาวัยหรือมาตรฐานขอบตนมาใช้กับลูก เพราะต่างวัยต่างยุคสมัยกัน พยายามเข้าใจเข้า ใช้วิธีการแนะนำปรึกษาแทนการออกคำสั่ง เมื่อเขาทำสิ่งใดไม่ได้อย่างใจ ถามเขาว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น ให้เขามีโอกาสแสดงความเห็นบ้าง ฟังเขาบ้าง เมื่อเขาทำดีควรชมเขา เมื่อเขาทำผิดควรให้คำแนะนำแทนคำดุ ลดคำสั่งสอนซ้ำๆซากๆ ลงเพราะลูกเบื่อที่จะฟังให้เวลากับเขา หาโอกาพาเขาไปเที่ยว หากพ่อแม่เปลี่ยนพฤติกรรมที่ก้าวร้าวกับลูก ลูกก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเช่นกัน
แก้ที่ต้นเหตุให้ได้ ปัญหาก็จะหมดไปเอง
ที่มา..ธรรมจักร