สิ่งแวดล้อมคือเธอ เธอคือสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมคือเธอ เธอคือสิ่งแวดล้อม



        สิ่งแวดล้อมมีอยู่สองแบบคือ สิ่งแวดล้อมทางสังคม และ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

ในการปฏิบัติวิถีพุทธ เธอควรดูแลขันธ์ 5 ของเธอ แต่ขณะเดียวกันก็ควรดูแลสิ่งแวดล้อมของเธอด้วย เพราะสิ่งแวดล้อมนั้นก็คือตัวเธอเอง เธอมีส่วนในการสร้างสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

นานมาแล้ว ฉันเขียนหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งเกี่ยวกับการเจริญสมาธิที่มีชื่อว่า "ดวงตะวันดวงใจฉัน" ในการนั่งสมาธิครั้งหนึ่ง เมื่อฉันให้ความใส่ใจทั้งหมดที่ฉันมีไปที่หัวใจของฉัน
 
        "หายใจเข้า ฉันตระหนักรู้ถึงหัวใจของฉัน หายใจออก ฉันยิ้มให้กับหัวใจของฉัน" ทันใดนั้น ฉันรู้ทันทีว่าดวงใจดวงนี้มิใช่หัวใจดวงเดียวที่ฉันมี ฉันมีหัวใจอีกมากมายหลายดวง เมื่อฉันมองไปยังดวงตะวันบนท้องฟ้า ฉันรู้ว่านั่นคือหัวใจอีกดวงหนึ่งของฉัน หากหัวใจของฉันหยุดเต้น ฉันคงตายในทันที แต่หากหัวใจอีกดวง ซึ่งคือดวงตะวัน เกิดระเบิดขึ้น หรือหยุดทำหน้าที่ของดวงตะวัน ฉันก็คงตายทันทีเช่นเดียวกัน ดังนั้น มีหัวใจหนึ่งดวงอยู่ภายในร่างกายของฉัน และหัวใจอีกดวงอยู่ภายนอกร่างกายของฉันด้วย ดวงตะวันคือหนึ่งในบรรดาหัวใจของฉัน

เมื่อเธอมองเห็นเช่นนี้ เธอจะไม่สามารถแน่ใจได้อีกต่อไปว่า ตัวเธอนั้นมีอยู่แต่เพียงภายใต้ผิวหนังของเธอเท่านั้น เธอจะสามารถก้าวข้ามทวิภาวะของการมีตัวตนและไม่มีตัวตนไปได้อย่างง่ายดาย

ในทางจิตวิทยาเชิงพุทธ เราได้เรียนรู้ว่าในห้วงลึกของจิตใจของเรานั้นมีเมล็ดพันธุ์อยู่มากมายที่เรียกว่า "พีชะ" พวกเรามีเมล็ดพันธุ์แห่งความกลัว ความโกรธ และความหดหู่สิ้นหวังอยู่ลึกๆ ในจิตใจ ในขณะที่เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นถูกรดน้ำ มันจะปรากฏขึ้นในบริเวณเหนือจิตของเราในรูปแบบพลังงาน เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "การปรุงแต่งของจิต" ถ้าหากว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความกลัวกำลังหลับใหลอย่างเงียบสงบอยู่ข้างล่าง เราก็จะมีความสงบสุขอยู่ได้ แต่หากเมล็ดพันธุ์แห่งความกลัวได้รับการสัมผัส มันจะได้รับการปรุงแต่งหรือปรากฏขึ้นเป็นรูปร่างของความกลัวและเราจะเป็นทุกข์ การฝึกปฏิบัตินั้นก็เพื่อรักษาเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นให้คงอยู่ข้างล่าง ไม่เปิดโอกาสให้มันปรากฏตัวขึ้น

นักประสาทวิทยาและนักชีววิทยาบอกเราว่า หน่วยพันธุกรรมหรือยีนภายในเซลล์ของเรานั้นไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวมันเอง แต่ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และหมั่นปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของเราให้ดีอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ายีนที่ดี หรือเมล็ดพันธุ์ที่ดีจะได้รับการดูแลรดน้ำอยู่เสมอ นี่เป็นการฝึกปฏิบัติการดูแลปกป้องตัวเรา ลูกหลาน ครอบครัว และสังคมของเรา ในขณะเดียวกันก็ไม่เปิดโอกาสให้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีได้รับการรดน้ำมากนัก

ในทางจิตวิทยาเชิงพุทธ เราพูดถึงสัมผัสที่เกิดขึ้นระหว่างอวัยวะรับสัมผัสกับวัตถุแห่งการรับรู้ต่างๆ สมมุติว่าหลวงพี่ต้นสนเชิญระฆัง และเสียงระฆังมากระทบหูของเรา การปรุงแต่งของจิต ที่เรียกว่า สัมผัส หรือผัสสะ จะก่อตัวขึ้นในจิตใจที่เรียกว่า "ความรู้สึก" ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่เราชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือความรู้สึกที่เป็นกลางๆ ถ้าความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งปกติ หรือไม่มีความสำคัญใดๆ จิตใต้สำนึกของเราก็จะละเว้นไม่สนใจ พวกเรามีความรู้สึกแบบนี้มากมายหลายแบบในแต่ละวัน ถ้าความรู้สึกนั้นรุนแรงเพียงพอ ก็จะเกิดประกอบกันขึ้นของจิตที่เรียกว่าความใส่ใจ ความสนใจ ความตั้งใจ หรือที่ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า "มนสิการ"



ธรรมบรรยายโดย ท่านติช นัท ฮันห์

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์