อคติ ๔
ความเป็นกลาง ยากยิ่ง จริงๆหนอ
อคติ คือต้นตอ หัวข้อใหญ่
ความลำเอียง จึงสำแดง แฝงภายใน
พาลเทใจ ให้กูลเกื้อ ช่วยเหลือกัน
อคติ แยกออกไป ได้สี่อย่าง
ฉันทาคติ คือหนึ่งทาง ตัวอย่างนั้น
เมื่อชอบใคร ความเป็นกลาง ก็จางพลัน
ถือว่านี่ คือพวกฉัน ดันกันไป
โทสาคติ ด้วยความชัง ขาดยั้งคิด
ขุ่นในจิต ตัดสินใจ ไร้ครวญใคร่
ด้วยความเกลียด ในส่วนตัว พันพัวใจ
ความเป็นกลาง ย่อมหายไป ได้เช่นกัน
โมหาคติ ด้วยความหลง ซื่อตรงหาย
โง่งมงาย สำคัญผิด คิดสั้นๆ
ขาดเฉลียว มองความทุกข์ สุขอนันต์
ความเป็นกลาง จึงเหหัน พลันกลับกลาย
ภยาคติ ด้วยกลัวภัย พาใจหวั่น
เกรงโทษทัณฑ์ เข้ามาหา พาหัวหาย
ขืนซื่อตรง ชีวิตหวัง พังทลาย
ความเป็นกลาง ย่อมเคลื่อนย้าย หายจากใจ
และนี่คือ สาเหตุใหญ่ พาใจเคลื่อน
เปรียบดังเขื่อน เจอน้ำหลาก ยากกั้นไหว
อคติ มักแฝงเร้น ไม่เว้นใคร
ขึ้นอยู่กับ ว่าจิตใจ ใครแกร่งพอ...กระดังงาลนไฟ
พระไตรปิฎก เล่มที่ 21
อคติสูตรที่ ๑
[๑๗> ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้
อคติ ๔ ประการเป็นไฉน บุคคลย่อมถึงฉันทาคติ ย่อมถึงโทสาคติ ย่อมถึงโมหาคติ ย่อมถึงภยาคติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้แล ฯ
ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ดุจพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๗
อคติสูตรที่ ๒
[๑๘> ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้
๔ ประการเป็นไฉน บุคคลย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้แล ฯ
ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม ดุจพระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น ฯ
ที่มาdhammajak