พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
วาสนา ก็คือความเคยชิน ตั้งแต่ของจิตใจ ตลอดจนการแสดงออกที่กลายเป็นลักษณะประจำตัว ใครมีความเคยชินอย่างไร ก็เป็นวาสนาของคนนั้นอย่างนั้น และเขาก็จะทำอะไรๆ ไปตามวาสนาของเขา หรือวาสนาก็จะพาเขาไปให้ทำอย่างนั้นๆ
เวลาพบเห็นอะไร ใครสั่งสมจิตใจชอบมาทางไหน ก็ไปทางนั้น เช่น มีของเลือก ๒-๓ อย่าง คนไหนชอบสิ่งไหนก็จะหันเข้าหาแต่สิ่งนั้น
แม้แต่ไปตลาด ไปร้านค้า ไปที่นั่นมีร้านค้าหลายอย่าง อาจจะเป็นห้างสรรพสินค้า เดินไปด้วยกัน คนหนึ่งชอบหนังสือก็ไปเข้าร้านหนังสือ อีกคนไปเข้าร้านขายของเครื่องใช้ เครื่องครัว เป็นต้น แต่อีกคนหนึ่งไปเข้าร้านขายของฟุ่มเฟือย
อย่างนี้แหละเรียกว่า วาสนาพาไป คือ ใครสะสมเคยชินมาอย่างไร ก็ไปตามนั้น และวาสนานี้แหละจะเป็นตัวการที่ทำให้ชีวิตของเราผันแปรไปตามมัน พระท่านมองวาสนาอย่างนี้
เพราะฉะนั้น วาสนาจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยไม่รู้ตัว ท่านก็เลยบอกว่าให้เรามาตั้งใจสร้างวาสนาให้ดี เพราะวาสนานั้นสร้างได้
คนไทยเราชอบพูดว่าวาสนานี้แข่งกันไม่ได้ แต่พระบอกว่าให้แก้ไขวาสนา ให้เราปรับปรุงวาสนา เพราะมันอยู่ที่ตัวเรา ที่สร้างมันขึ้นมา แต่การแก้ไขอาจจะยากสักหน่อย เพราะความเคยชินนี้แก้ยากมาก แต่แก้ได้ปรับปรุงได้ ถ้าเราทำ ก็จะมีผลดีต่อชีวิตอย่างมากมาย
ขอให้จำไว้เป็นคติประจำใจเลยว่า "วาสนามีไว้แก้ไข ไม่ใช่มีไว้แข่งขัน"
ถ้าคิดเป็น ก็พลิกวาสนาได้
บางคนเกิดมาจน บอกว่าตนมีวาสนาไม่ดี หรือบางทีบอกว่า เราไม่มีวาสนา พูดอย่างนี้ยังไม่ถูก คนจนวาสนาดีก็มี วาสนาไม่ดีก็มี คนมีก็อับวาสนาได้
ถ้าเกิดมาจนแล้ว มัวแต่หดหู่ ระย่อ ท้อแท้ใจ ได้แต่ขุ่นมัว เศร้าหมอง คิดอย่างนี้อยู่เรื่อย ก็แน่นอนละว่าวาสนาไม่ดี เพราะคิดเคยชินในทางไม่ดี จนความท้อแท้อ่อนแอกลายเป็นลักษณะประจำตัว
แต่ถ้าเกิดมาจนแล้วคิดถูกทางว่า ก็ดีนี่ เราเกิดมาจนนี่แหละเจอแบบฝึกหัดมาก พระท่านว่าคนนี้เป็นสัตว์พิเศษ จะประเสริฐได้ด้วยการฝึก เพราะเราจน เราจึงมีเรื่องยากลำบากที่จะต้องทำ มีปัญหาให้ต้องคิดและเพียรพยายามแก้ไขมาก นี่แหละคือได้ทำแบบฝึกหัดมาก
วาสนาสร้างเองได้ (2)
เมื่อเราทำแบบฝึกหัดมาก เราก็จะยิ่งพัฒนามาก ได้พัฒนาทักษะให้ทำอะไรได้ชำนิชำนาญ พัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งอดทน มีความเพียรพยายาม ใจสู้ จะฝึกสติฝึกสมาธิก็ได้ทั้งนั้น และที่สำคัญยอดเยี่ยมคือได้ฝึกปัญญา ในการคิดหาทางแก้ไขปัญหา
คนที่เกิดมาร่ำรวยมั่งมี ถ้าไม่รู้จักคิด ไม่หาแบบฝึกหัดมาทำ มัวแต่หลงเพลิดเพลินในความสุขสบาย นั่นแหละจะเป็นวาสนาไม่ดี ต่อไปจะกลายเป็นคนอ่อนแอ ทำอะไรไม่เป็น ปัญญาก็ไม่พัฒนา กลายเป็นคนเสียเปรียบ
เพราะฉะนั้น ใครจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ จะดูที่ฐานะข้างนอก ว่ารวย ว่าจน เป็นต้น ยังไม่แน่ คนที่รู้จักคิด คิดเป็น คิดถูกต้อง สามารถพลิกความเสียเปรียบเป็นความได้เปรียบ แต่คนที่คิดผิด กลับพลิกความได้เปรียบเป็นความเสียเปรียบ และทำวาสนาให้ตกต่ำไปเลย
จึงต้องจำไว้ให้แม่นว่า ไม่มีใครเสียเปรียบหรือได้เปรียบอย่างสัมบูรณ์ ถ้าคิดเป็น ก็พลิกความเสียเปรียบให้เป็นความได้เปรียบได้ แต่อย่าเอาเปรียบกันเลย เรามาสร้างวาสนากันให้ดี จะดีกว่า
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์นั้นเป็นผู้ที่พ้นจากอำนาจของวาสนา พระพุทธเจ้าทรงละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้หมด หมายความว่า พระองค์ไม่อยู่ใต้อำนาจความเคยชิน แต่อยู่ด้วยสติปัญญา
มาสร้างวาสนาดีๆ ที่จะให้มีความสุข
ทีนี้เรื่องของคนสามัญก็คือ พยายามแก้ไขวาสนาที่ไม่ดี และปรับปรุงสร้างวาสนาให้เป็นไปในทางที่ดี คือการที่เราตั้งใจทำจิตใจให้เกิดเป็นกุศลอยู่เสมอ
จิตใจของเราจะไปตามที่มันเคยชิน อย่างคนที่เคยชินในการปรุงแต่งไม่ดี ไปนั่งไหนเดี๋ยวก็ไปเก็บเอาอารมณ์ที่ผ่านมา ที่กระทบกระทั่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น แล้วนำมาครุ่นคิด กระทบกระทั่งตัวเอง ทำให้ไม่สบาย
ทีนี้ถ้าเรารู้ตัวมีสติ ก็ยั้งได้ ถ้าคิดอะไรไม่ดีขึ้นมาก็หยุด แล้วเอาสติไปจับ คือไปนึกระลึกเอาสิ่งที่ดีขึ้นมา ระลึกขึ้นมาแล้วทำจิตใจให้สบาย ปรุงแต่งในทางที่ดี ต่อไปจิตก็จะเคย พอไปนั่งไหนอยู่เงียบๆ จิตก็จะสบาย นึกถึงเรื่องที่ดีๆ แล้วก็มีความสุข