ศักยภาพของหัวใจ คือ รักคนได้ทั้งโลก

ศักยภาพของหัวใจ คือ รักคนได้ทั้งโลก



พรหมวิหาร 4 ก็เป็นวิธีอธิบายพัฒนาการของความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งคนที่จะปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้สมบูรณ์ได้นั้น จะต้องใช้ปัญญาขั้นสูงพอสมควร

ยกตัวอย่างง่ายๆ หนึ่งเมตตา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) กรุณา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) มุทิตา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) อุเบกขา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก)

พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติของบุคคลผู้เป็นพรหม ฉะนั้นคนที่จะเป็นพรหมได้จึงจะต้องใช้ปัญญากันมากพอสมควร พรหมนั้นเป็นที่รู้กันมาว่าในวัฒนธรรมความเชื่อแบบอินเดียโบราณ คือพระผู้สร้างโลกและสร้างสรรพสิ่ง เพราะฉะนั้น คนที่ได้ชื่อว่าเป็นพรหมนี ก็จะต้องมีคุณธรรมของพรหม 4 ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาให้สมบูรณ์

แต่เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา นั้น จะปฏิบัติให้สมบูรณ์เป็นเรื่องยากมาก เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักจะเมตตาเฉพาะคนที่ตัวเองรัก คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง กรุณาเฉพาะคนที่รัก คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง มุทิตาเฉพาะคนที่ตัวเองรัก คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เห็นไหม สามข้อนี้ปฏิบัติยากมากเพราะเป็นเรื่องของคนกับคน คนกับอารมณ์ พอมาถึงอุเบกขา ยิ่งยากมากกว่านั้นนับร้อยนับพันเท่า เพราะอุเบกขาเป็นเรื่องของคนกับธรรม หรือคนกับหลักการ

ธรรมชาติของมนุษย์มักจะมีความโน้มเอียงตกเป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่บวกก็ลบ ไม่สูงก็ต่ำ ไม่ขวาก็ซ้าย ไม่เธอก็ฉัน แต่อุเบกขา คนที่จะปฏิบัติได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมในทางจิตใจ สามารถมองทะลุสมมติบัญญัติทั้งปวง มีโลกทัศน์ในลักษณะอยู่เหนือดูอัลลิตี (Duality) ก็คือ เหนือสิ่งซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามทั้งหมดทั้งปวง สามารถทะลุทะลวงสมมติแล้วลอยเด่นอยู่เหนือสิ่งสมมติทั้งหลายทั้งปวง มองโลกทั้งในแง่ดีทั้งในแง่ร้าย มองคนทั้งคนดีและคนร้าย มองสรรพสัตว์ทั้งคนดีและคนร้าย ด้วยราคาเดียวกัน ไม่มีใครสูงกว่าใคร ไม่มีใครต่ำกว่าใคร และตัวเองก็ไม่เลือกเข้าข้างใคร

การที่จะปฏิบัติเป็นคนที่อยู่ในโลกแต่มีภาวะจิตใจซึ่งเหนือโลกเช่นนี้ได้นั้น ต้องการปัญญาขั้นสูง ฉะนั้นพรหมวิหารธรรมจึงเป็นธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นพรหม ไม่ใช่ธรรมะตื้นๆ ธรรมดาๆ แต่เป็นธรรมะขั้นสูง ผู้ที่จะบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมได้ครบสมบูรณ์ จึงหาไม่ได้ง่ายๆ แต่ใครก็ตามทำการบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมได้สมบูรณ์ ต้องถือว่าคนนั้นมีคุณค่าเท่ากับเป็นพรหมทีเดียว เพราะคนคนนั้น จะสามารถสร้างโลกสร้างชีวิตได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข พอๆ กับที่พระพรหมสร้างโลกทั้งผอง ให้มีความลงตัว ให้มีความสมบูรณ์ สร้างครั้งเดียวแล้วไม่ต้องกลับมาสร้างใหม่ เห็นไหม ฉะนั้นใครก็ตามที่มีพรหมวิหารธรรมในหัวใจ ก็จะสามารถปฏิบัติต่อคนทั้งโลก สามารถปฏิบัติต่อธรรมะ ซึ่งเป็นแกนกลางที่ทำให้โลกนี้มีความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ได้อย่างมีความสมดุล

โดยสรุปคนที่จะปฏิบัติพรหมวิหารธรรมในหัวใจได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีพุทธภาวะ ก็คือมีปัญญา มีวิสุทธิภาวะ ก็คือ มีจิตซึ่งหลุดพ้นจากอวิชชา และแน่นอนที่สุดก็ต้องมีกรุณาภาวะ คือรักที่แท้เป็นเรือนใจ จึงจะสามารถปฏิบัติพรหมวิหารธรรมได้อย่างสมบูรณ์ ไปๆ มาๆ ทั้งพรหมวิหารธรรมและรักสี่ประการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เป็นเนื้อเดียวกัน

อุเบกขาเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากปฏิบัติได้ยาก และทั้งๆ ที่ ปฏิบัติได้ยาก ถึงกระนั้นก็ยังปฏิบัติกันผิดๆ ไหนๆ ถามแล้วก็ขออธิบายลงลึกในรายละเอียดนิดหนึ่ง พรหมวิหารธรรมทั้งสี่ประการนั้น จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทหรือสภาพแวดล้อมนั้นๆ เช่น เมตตา ใช้ในสถานการณ์ปกติ คือมองดูคนทั้งโลก มองดูสรรพชีพ สรรพสัตว์ทั่วทั้งโลกด้วยสายตาแห่งไมตรีจิต เป็นมิตรต่อคนทั้งโลก ในลักษณะ "We are the world" "โลกทั้งผองพี่น้องกัน" นั่นคือเมตตา

กรุณา ใช้ในสถานการณ์ที่คนซึ่งอยู่ข้างหน้าเรา สรรพชีพสรรพสัตว์กำลังตกทุกข์ได้ยาก เราจึงยื่นมือเข้าไปช่วย ถ้าเขาอยู่เฉยๆ เรายื่นมือเข้าไปช่วย เราก็จะโดนข้อหาหวังดีแต่ประสงค์ร้ายใช่ไหม เขาไม่ต้องการอาหาร เรายกอาหารไปให้เขา เราก็ถูกข้อหายัดเยียดอาหารให้เขา ทั้งๆ ที่เราหวังดี แต่เพราะทำไม่ถูกกาลเทศะ กลายเป็นหวังดีประสงค์ร้าย ฉะนั้นกรุณาถ้าไม่ถูกกาลเทศะกลายเป็นเสื-อกได้

มุทิตา ในสถานการณ์ที่คนซึ่งอยู่เบื้องหน้าของเราได้ดีมีความสุข เราให้กำลังใจเขา ทำไมต้องให้กำลังใจเขา เพราะถ้าเราไม่รีบให้กำลังใจ ใจของเราจะพลิกจากมุทิตาเป็นริษยา คือจะทนต่อคุณงามความดีของคนอื่นไม่ได้ เมื่อปล่อยให้ริษยาก่อตัวขึ้นในใจ ริษยานั้นก็จะเผาไหม้ใจของเราให้เป็นจุณ จากนั้นจะลุกลามไปเผาไหม้คนซึ่งเราริษยา พระพุทธเจ้าแนะให้มุทิตาก็เพื่อป้องกันริษยา และเป็นการยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น ปรารถนาให้คนอื่นดีกว่าตน นั่นคือ เป็นปฏิบัติการที่ฝึกใจให้เป็นพระโพธิสัตว์องค์น้อยๆ มุทิตานี่นะเป็นรอยต่อทำให้คนเป็นพระโพธิสัตว์นะ

ถ้าเราเห็นคนอื่นได้ดีแล้วเข็มไมล์หัวใจของเราไม่กระดิกด้วยริษยา แสดงว่าเราเริ่มมีพัฒนาการที่จะเป็นพระโพธิสัตว์เกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นใครอยากเป็นพระโพธิสัตว์ให้บำเพ็ญมุทิตาจิตให้มากๆ นะ เห็นคนอื่นได้ดีมีสุขแล้วเข็มไมล์หัวใจนี่ไม่กระดิกในทางลบเลย มีแต่เบิกบาน ผ่องใสกับเขา เหมือนสายฝนตกมาแล้วหลังฝนพรำ เห็ดก็งอกออกจากพื้นดิน เห็ด เพราะมุทิตาต่อสายฝน เห็ดจึงสามารถผุดออกมาจากผืนดินได้ เช่นเดียวกัน คน เพราะมุทิตาต่อคนอื่น หัวใจจึงสามารถหลุดพ้นจากความคับแคบของโซ่ตรวนแห่งความริษยาได้

อุเบกขา ใช้ในสถานการณ์ที่คนกำลังขัดแย้งกับหลักธรรม หลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และหลักกฎหมาย เราควรปล่อยให้คนเหล่านั้นได้รับผิดชอบผลแห่งการกระทำด้วยตัวของเขาเอง โดยปราศจากการแทรกแซงโดยสิ้นเชิง เราวางตัวเป็นกลางด้วยความตื่นรู้ แล้วก็กันตัวเองออกมา เฝ้าดูคนที่ทำผิดหลักการ ผิดหลักกรรม ผิดหลักธรรมนั้น รับผลแห่งการกระทำของเขาเอง อย่างตรงไปตรงมา ตามลักษณะของความเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ว่า สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ดับไปก็เพราะสิ่งนี้ดับไป เราเป็นผู้ดู ผู้สังเกตการณ์ ปล่อยให้คนที่สวนทางกับหลักการ หลักธรรม หลักกรรมทั้งหลายนั้น รับผลซึ่งเขาได้ก่อเหตุเอาไว้ด้วยตัวของเขาเองอย่างตรงไปตรงมา นั่นแหละคือการวางตัวเป็นกลาง

การวางตัวเป็นกลางอย่างนี้ จะต้องใช้ปัญญาขั้นสูง เพราะมีคนจำนวนมากที่พยายามจะวางตัวเป็นกลาง แต่เนื่องจากปราศจากปัญญา การพยายามวางตัวเป็นกลาง เลยกลายเป็นการปล่อยปละละเลย ฉะนั้นอุเบกขาจึงมีสองลักษณะ หนึ่ง อุเบกขาที่มาพร้อมกับปัญญา เป็นอุเบกขาที่แท้จริง พึงประพฤติปฏิบัติ
สองอุเบกขาที่มาพร้อมกับความโง่ เรียกว่า อัญญานุเบกขา เป็นอุเบกขาที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะหากวางอุเบกขาด้วยความโง่ ยิ่งพยายามวางอุเบกขา กลายเป็นว่ายิ่งทอดธุระ ยิ่งปล่อยปละละเลย ฉะนั้น พรหมวิหารธรรมทั้งสี่ประการ จะปฏิบัติให้สมบูรณ์ต้องดูสภาพแวดล้อมด้วยเสมอไป ถ้าไม่ดูสภาพแวดล้อม จู่ๆ ก็เมตตา ก็กลายเป็นเมตตาจนเกินพอดี เขามีปัญหาช่วยเหลือมากเกินไป กลายเป็นแบกภาระแทนเขา เขาได้ดีมีสุข มุทิตาไม่ดูกาลเทศะ ทำให้คนที่ถูกมุทิตาหลงตัวเอง อุเบกขาพอไม่ใช้ปัญญากลายเป็นการทอดธุระ ปล่อยปละละเลย เฉยมั่ว เฉยเมย และเฉยเมิน

ในการฝึกมุทิตากับคนอื่น ให้เรามองตัวเรากับมองตัวเขา ว่าเราทั้งคู่นี่ช่างโชคดีจังเลยนะ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วท่ามกลางการเป็นมนุษย์นี้ กว่าจะเกิดมาก็แสนยาก กว่าจะดำรงชีวิตรอดก็แสนยาก แล้วทั้งๆ ที่เกิดแสนยาก ดำรงชีวิตแสนยากนั้น เขาก็ยังอุตส่าห์สู้ฟันฝ่าอุปสรรคมาได้จนประสบความสำเร็จ คนเช่นนี้ช่างน่านับถือในความวิริยะอุตสาหะจังเลย ฉันขอชื่นชมต่อคุณนะ แล้ววันหนึ่ง ฉันจะพยายามพัฒนาตัวเองให้เป็นเหมือนคุณบ้าง

นี่เห็นไหม มองกว้างๆ อย่างนี้ แล้วเราไม่อิจฉาไม่ริษยาเขาเลย เพราะอะไร เพราะเขาก็คือเพื่อนร่วมโลกเหมือนกันกับเรา ให้มองคนที่อยู่ตรงหน้าว่าเขากับเราต่างก็เป็นเพื่อนผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายในสังสารวัฏอันเดียวกัน การที่เราไปชิงชังรังเกียจเขาไปริษยาเขา ก็คือ เรากำลังโกรธเกลียดชิงชังเพื่อนของเรานั่นเอง แล้วคนที่เกลียดเพื่อน สุดท้ายก็จะเสียเพื่อน และจะกลายเป็นคนไม่มีเพื่อน ดังนั้นการทำร้ายเพื่อน การริษยาเพื่อน แท้ที่จริงก็คือการทำร้ายตัวเรานั่นแหละ เรื่องอะไรเราจะไปทำร้ายตัวเราด้วยการทำร้ายเพื่อน เห็นไหม ดังนั้น หากเราแผ่มุทิตาต่อเขา ใจของเราก็เบิกบาน เหมือนดอกไม้ ทันทีที่แสงตะวันสาดมาต้อง ดอกไม้ไม่ขังตัวเองไว้ เปิดใจรับแสงตะวัน ดอกตูมก็กลายเป็นดอกบาน เห็นไหม แต่ถ้าดอกไม้ตูมไม่เปิดใจรับแสงตะวัน ทั้งปีทั้งชาติก็ตูมอยู่อย่างนั้น แล้วกลิ่นหอมจะมาแต่ไหน

ความเป็นดอกไม้ก็ไม่สมบูรณ์
ความสมบูรณ์ของดอกไม้อยู่ที่คุณเป็นดอกไม้แล้วคุณได้บาน แล้วร่วงโรยไปตามกาลเวลา ความสมบูรณ์ของคนก็อยู่ที่คุณเป็นคน แล้วจิตใจของคุณได้เบิกบานเพราะปราศจากไฟริษยา
ความริษยานั้นเป็นคุกชนิดหนึ่ง เมื่อเราเติมมุทิตาเข้าไป จิตใจของเราก็เบิกบาน เมื่อเบิกบาน ความเป็นมนุษย์ของเราก็สมบูรณ์ จุดเดียวกับดอกไม้ เมื่อเปิดใจรับแสงตะวัน กลีบของดอกไม้ก็คลี่บานแล้วส่งกลิ่นหอม ความเป็นดอกไม้ก็สมบูรณ์ เมื่อคนคนหนึ่ง เปิดหัวใจให้กว้างขวาง ผลิบานต่อความเจริญก้าวหน้าของเพื่อนมนุษย์ เขาก็กำลังก้าวไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะว่ามุทิตาคือภาวะของจิตใจของคนที่กำลังเป็นพระโพธิสัตว์องค์น้อยๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว

รายงานโดย :ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย:

ที่มา
http://board.palungjit.com/
หนังสือพิมพ์ โพสทูเดย์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์