การสัมผัสของขวัญแห่งชีวิต
เมื่อเรามีความคิดที่เต็มไปด้วยความโกรธ ความกลัว หรือความสิ้นหวัง ความคิดที่ไม่ดีเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราและสุขภาพของโลกในทันที ดังนั้นเราควรดำเนินชีวิตในวิถีที่ไม่ก่อให้เกิดความคิดเช่นนี้บ่อยๆ ความคิดที่เกิดขึ้นนี้เรียกได้ว่าเป็นกรรมหรือการกระทำประเภทหนึ่ง ที่จะกลายเป็นการสืบเนื่องของเราต่อไปในอนาคต
คำพูดต่างๆ ของเราควรจะเป็นสัมมาวาจาดังเช่นที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำไว้ สิ่งที่เราพูดออกไปควรเป็นการแสดงออกถึงความรักความเมตตา การไม่แบ่งแยก และความตั้งใจมั่นที่จะบรรเทาความทุกข์ เราควรใช้คำพูดที่เมื่อเรากล่าวแล้วจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เราได้รับการเยียวยา ทำให้ทุกคนบนโลกนี้ได้รับประโยชน์จากคำพูดแห่งความรักความเมตตา การให้อภัย และความกรุณาของเรา ในแต่ละวัน เราควรพูดอย่างนี้บ่อยๆ เพื่อที่จะเยียวยาและแปรเปลี่ยนตัวเราและโลกนี้
เมื่อเรามีการกระทำทางกายที่มีพลังอำนาจแห่งการปกป้อง รักษา สนับสนุน หรือบรรเทาทุกข์ การกระทำในลักษณะเช่นนี้จะช่วยเยียวยาตัวเราและโลกใบนี้ เมื่อจิตใจของเราเต็มเปี่ยมด้วยความกรุณา การกระทำที่ดีงามต่างๆ จะเกิดขึ้นเอง โดยที่เราไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก นั่นเพราะความรักและความกรุณาในใจได้เรียกร้อง ให้เราลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
เมื่อมองไปที่ต้นส้ม เราจะเห็นว่ามันได้ผลิใบ ผลิดอก ออกผลส้มที่สวยงาม นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ต้นส้มต้นหนึ่งจะสามารถทำเพื่อโลกใบนี้ได้ ในฐานะมนุษย์เราก็สามารถมอบสิ่งต่างๆ ให้กับโลกในทุกขณะของชีวิตของเราได้ ด้วยความคิด คำพูด และการกระทำของเรา เราควรมอบความคิดที่ดีที่สุด คำพูดที่ดีที่สุด และการกระทำที่ดีที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้คือการสืบเนื่องของเรา ไม่ว่าเราจะต้องการให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ "กรรมเหตุ" คือการกระทำที่เป็นต้นเหตุ จะนำมาซึ่ง "กรรมผล" คือการกระทำที่เป็นผล พวกเราต่างสืบเนื่องไปในอนาคตด้วยการกระทำทั้งหลายเหล่านี้นี่เอง
การสืบเนื่องอันงดงาม
เมื่อร่างกายนี้สลายลง เราไม่อาจนำสิ่งใดติดตัวไปกับเราได้เลย ไม่ว่าจะปริญญาบัตร ชื่อเสียงหรือเงินทอง สิ่งเดียวที่จะติดตามเราไปคือการกระทำทั้งหลายอันเป็นผลจากความคิด คำพูด และการกระทำของเราในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่
เราปรากฏขึ้น ณ เวลาหนึ่ง และเราก็เคยปรากฏขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายคราว เราอาจเรียกการปรากฏขึ้นในครั้งก่อนๆ ว่าเป็นชีวิตในชาติที่แล้วๆ มา หากเราได้ปรากฏขึ้นแล้วในอดีตและปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เราก็จะปรากฏขึ้นอีกในอนาคต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
การคิดว่า หลังจากร่างกายนี้ย่อยสลายลง เราจะไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เป็นการคิดที่ออกจะไร้เดียงสาอยู่สักหน่อย ด้วยการสังเกตอย่างลึกซึ้ง เรารู้ว่าไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นและไม่มีอะไรที่ตายลง ธรรมชาติที่แท้จริงนั้นไม่มีการเกิดและไม่มีการตาย ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิภาวนาในวิถีพุทธคงตระหนักรู้ถึงความจริงนี้ได้ไม่ยาก ก่อนที่ก้อนเมฆจะปรากฏขึ้นเป็นเมฆ ก้อนเมฆเองก็เป็นสิ่งอื่นมาก่อนหน้านี้ เป็นน้ำในห้วงมหาสมุทร เป็นความร้อนอันเกิดจากดวงอาทิตย์ และเป็นน้ำที่ระเหยขึ้นไปเป็นไอ ก้อนเมฆไม่ได้มาจากความไม่มีอะไรเลย ก้อนเมฆเกิดขึ้นจากบางสิ่งบางอย่าง เกิดขึ้นจากหลายๆ สิ่งที่ประกอบกันขึ้น ช่วงขณะที่เราเห็นก้อนเมฆเป็นก้อนเมฆนั้นเป็นเพียงช่วงขณะแห่งการสืบเนื่องเท่านั้น
ผลแห่งกรรมสองทบ
ในพุทธศาสนา คำว่า "ผลกรรม" หมายความถึงผลแห่งการกระทำของเราที่จะเกิดในอนาคต ผลกรรมมีความหมายสองแบบ แบบแรกคือขันธ์ 5 ซึ่งได้แก่ รูป, ความรู้สึก (เวทนา), การรับรู้ (สัญญา), การปรุงแต่งของจิต (สังขาร), และจิตรับรู้ (วิญญาณ) ความหมายอีกแบบหนึ่งของผลกรรมคือสิ่งแวดล้อม เราควรมองให้เห็นถึงธรรมชาติทั้งสองด้านของผลกรรมไปพร้อมกัน เธอก็คือสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เธอสร้างขึ้นทั้งในแง่ที่เป็นส่วนบุคคลและส่วนรวม อย่างไรก็ตาม เรายังต้องก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือก้าวข้ามผ่านทวิภาวะระหว่างขันธ์ทั้ง 5 และสิ่งแวดล้อมของเรา
เมื่อเธอแหงนมองดวงดาวและดวงจันทร์ เธอรู้ว่าเธอนั้นคือดวงดาวและดวงจันทร์ และเมื่อเธอมองภูเขาหรือป่าไม้ เธอรู้ว่าเธอเองนั้นคือภูเขา คือป่าไม้ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผลกรรมทั้งสองรูปแบบนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จริงแล้วๆ ธาตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ลม น้ำ ดิน และไฟนั้นมีการเข้าและออกระหว่างกันอยู่เสมอ ขณะที่เราหายใจออก มีบางอย่างออกไปสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อเราหายใจเข้า มีบางอย่างเข้ามาสูร่างกายของเรา ดังนั้นเธอจึงไม่เพียงอยู่ที่นี่ แต่เธออยู่ที่นั่นด้วย
วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ และประสาทวิทยาได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง "ภายในนี้" และ "ภายนอกโน้น พวกเรารับรู้ความจริงในแบบที่ขึ้นกับความชอบของแต่ละบุคคล และเราอาจตั้งคำถามว่าความจริงภายนอกโน้นเป็นสิ่งเดียวกับความจริงที่เรารับรู้ภายในนี้หรือไม่ หากเธอเจริญสมาธิอย่างต่อเนื่องและลึกซึ้ง เธอจะสามารถข้ามผ่านทวิภาวะของภายในนี้และภายนอกโน้นได้
เธออาจเชื่อว่าดอกไม้ดอกนี้อยู่ภายนอก แต่ฉันไม่มั่นใจเช่นนั้นเลยสักนิด คำถามที่ว่า ‘ดอกไม้ที่เธอเห็นนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ภายในจิตรับรู้หรืออยู่ภายนอกจิตรับรู้' เป็นคำถามที่ไม่ง่าย ในสาขาวิชาควอนตัมฟิสิกส์ สาขาประสาทวิทยา หรือสาขาวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ นี่เป็นคำถามที่ยากมาก แต่พระพุทธองค์ทรงบอกเราเป็นนัยๆ ไว้อย่างมากมายเพื่อให้เราได้สัมผัสกับความจริงอย่างที่มันเป็น ...๐
ธรรมบรรยายโดย ทานติช นัท ฮันห์