เมตตา แก้ความโกรธพยาบาท
(สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
เมตตา คือ ภาวะของจิตที่มีเยื่อใยไมตรีจิตมิตรใจคิดเกื้อกูลด้วยสุขประโยชน์ ปราศจากอาฆาตพยาบาทขึ้งเคียดโกรธแค้น แสดงออกทางสีหน้าและสายตาที่สงบแช่มชื่น มองดูด้วยสายตาอันแสดงถึงใจที่เอิบอาบด้วยความปราถนาดีให้มีความสุข ปราศจากความมุ่งร้ายที่เป็นภัยเวรทั้งปวง
เมตตานี้เป็นพรหมวิหารธรรมข้อหนึ่งที่พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต วิธีอบรม คือ ระวังใจมิให้โกรธแค้นขัดเคืองอาฆาตพยาบาท เมื่อ ภาวะของจิตเช่นนั้นเกิดขึ้น ก็พยายามสงบระงับเสีย หักคิดว่าตนเองรักสุข ต้องการความสุขฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นทั้งปวงก็ฉันนั้น และตนเองปราถนาสุขแก่คนซึ่งเป็นที่รักที่พอใจฉันใด ก็ควรปราถนาสุขแก่คนอื่นสัตว์อื่นฉันนั้น
เมื่อทำความสงบอาฆาตพยาบาทและทำไมตรีจิตมิตรใจให้เกิดขึ้นได้แล้ว ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่นโดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจงทั่วไป ด้วยใจที่คิดปราถนาสุขประโยชน์ ดังเช่นคิดว่า...
"จงอย่ามีเวร อย่าเบียดเบียน อย่ามีทุกข์ มีสุขรักษาตนให้สวัสดีเถิด"
อันที่จริงภาวะของจิตที่มีความรักใคร่ปราถนาให้เป็นสุข ย่อมมีอยู่ในตนและในคนที่เป็นที่รักอยู่เป็นปรกติ แต่ยังเจือด้วยราคะสิเนหาบ้าง เจือด้วยอาฆาตพยาบาทในผู้อื่นสัตว์อื่นบ้าง นี้จึงนับว่าเป็นภาวะของจิตที่เป็นสามัญธรรมดา
พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนธรรม ก็คือทรงสั่งสอนให้ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เป็นสามัญธรรมดานี้แหละ ให้เป็นธรรม คือเป็นคุณเกื้อกูลขึ้นมา คือให้ปรับปรุงความรักใคร่ปราถนาสุขดังกล่าวให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิให้คับแคบเฉพาะตนและคนซึ่งเป็นที่รักในวงแคบของตน หรือจำเพาะพวกของตน แต่ให้แผ่กว้างออกไป
ตลอดจนถึงไม่มีจำกัดไม่มีประมาณ และให้ปราศจากอาฆาตพยายาบาท ทั้งให้บริสุทธิ์จากราคะสิเนหาด้วย เพราะว่าอาฆาตพยาบาทเป็นศัตรูที่ห่างของเมตตา ราคะสิเนหาเป็นศัตรูที่ใกล้ของเมตตา
ความรักใคร่ที่เป็นสามัญธรรมดาของโลกย่อมเจือด้วยสิ่งทั้งสองนี้ ส่วนที่เป็นเมตตาอันบริสุทธิ์ย่อมปราศจากสิ่งทั้งสองนั้น ทางปฏิบัติอบรมก็ต้องอบรมสิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมดาโลกนี้แหละ ให้เป็นธรรมขึ้นมา และย่อมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก
ดังภาษิตที่ว่า "โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา...เมตตาเป็นธรรมเครื่องคุ้มครองโลก" ดังนี้
ที่มา ศีลและพรหมวิหาร ๔ : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก