
ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและศาสนา
รองศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
........จากอดีตที่ผ่านมานับพันๆ ปีนั้นจะเห็นว่า “ศิลปะกับศาสนา”
มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาช้านาน
เพราะศิลปะมักถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อในการเผยแพร่ศาสนาไปยังศาสนิกชน
หรือสร้างเป็นสัญลักษณ์ของศาสนา
เช่น การสร้างงานจิตรกรรมเพื่ออธิบายหลักธรรม
หรือบันทึกเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับประวัติชีวิตของศาสดาหรืออธิบายคำสอนของศาสดา
การสร้างวัตถุหรือหรือรูปเคารพในศาสนาต่างๆ
ศิลปะที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนานั้นมีแทบทุกประเภท
ตั้งแต่ประเภทประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรมและประเภทอื่นๆ
.........จุดประสงค์หรือเป้าหมายในการสร้างศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา
ต่างไปจากการสร้างศิลปะประเภทอื่น
เพราะศิลปินผู้สร้างศิลปะ เนื่องในศาสนาหรือศาสนาศิลป์นั้น
มีเป้าหมายของเนื้อหาแน่นอนอยู่ที่การศิลปกรรมเพื่อรับใช้ศาสนา
ซึ่งสาระสำคัญของศาสนาทุกศาสนานั้น
มุ่งให้มนุษย์มีชีวิตที่ดี มีศิลธรรมประจำใจ
ดังนั้น เนื้อหาหรือเป้าหมายของศาสนศิลป์
จึงเน้นที่ ความดีและความงาม
เพื่อให้ผู้เสพได้รับความรู้สึกนึกคิดบนพื้นฐาน
ที่เป็นแนวปรัชญาของศาสนาแต่ละศาสนา
.........อย่างไรก็ตาม เมื่อศิลปินมีแนวคิดที่เป็นอิสระพ้นจากศาสนาแล้ว
จึงสร้างศิลปะเพื่อศิลปะขึ้นในยุคต่อมาก็ตาม
แต่ ! ศิลปินก็ยังดำรงแนวคิดที่มุ่งให้ศิลปะ
เป็นสื่อของความดีและความงามในจิตใจมนุษย์
มากกว่าที่จะใช้ศิลปะไปในทางเลวร้าย
จนกลัวกันว่า ศิลปะกับศาสนาเป็นสิ่งเดียวกัน หรือเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกันมาก
ดังที่ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้เขียนไว้ว่า
ความมุ่งหมายของศิลปะคือเกื้อกูลศีลธรรมและยกระดับจิตใจของมนุษย์
แม้ว่าการแสดงออกในบางครั้งจะใช้เรื่องอกุศลเป็นสื่อ
แต่เป็นไปเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาและวิธีแก้ไข
เช่น ศิลปะทางกามวิสัยตามเทวสถานในอินเดียศิลปะเหล่านั้น
มีความมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางศีลธรรมและสังคม
เนื่องจากโรคระบาดได้ทำลายชีวิตของประชาชนไปมากมาย
จึงต้องช่วยกระตุ้นและสนับสนุนให้การกำเนิดมนุษย์
ศิลปะการแสดงออก ๒ ชนิด
ชนิดหนึ่งเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา
อีกชนิดหนึ่งเป็นศิลปะเพื่อศิลปะ
แต่มีจุดหมายอย่างเดียวกัน เพื่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ
ส่วนศาสนาก็มีจุดหมายปลายทางทางด้านจิตใจเช่นกัน
คือสอนให้คนเป็นคนดีโดยอาศัยหลักธรรม
แต่ศิลปะสอนโดยอาศัยการเรียนรู้จากการประสานกลมกลืนกันและความงาม
(ศิลปะและศีลธรรม : ธนิต อยู่โพธิ์ แปลจาก Art and Morality)
.........ดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าปรัชญาของศิลปะและศาสนานั้นค่อนข้างจะใกล้ชิดกันมาก
จนสิ่งทั้งสองสามารถผสานกลมกลืนกันไปได้เป็นอย่างดี
ในอดีตศิลปะหลายประเภท พัฒนามาจากศิลปะเนื่องในศาสนา
ก่อนที่จะพัฒนามาสู่ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัย
ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งในซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตก
ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ถ้ำอชันตะ (AJANTA CAVE)
ในประเทศอินเดียซึ่งเป็นจิตรกรรมเนื่องในพุทธศาสนายุคแรก
ที่อาจจะเป็นต้นแบบที่ให้อิทธิพลต่อจิตรกรรมฝาผนัง
เนื่องในพุทธศาสนาในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคต่อๆ มา
รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังของไทยเราด้วย
นอกจากนี้งานศิลปะเนื่องในศาสนาประเภทอื่นทั้งประติมากรรม สถาปัตยกรรม
ตลอดจนถึงภาพพิมพ์ก็มีต้นกำเนิดและพัฒนามาจากจุดประสงค์ในการพิมพ์คัมภีร์ศาสนา
ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นการพิมพ์และศิลปะภาพพิมพ์ในปัจจุบัน เช่น
ต้นกำเนิดของการพิมพ์และศิลปะศิลปะภาพพิมพ์ซีกโลกตะวันออกนั้น
น่าจะมาจากการพิมพ์คัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดของจีนที่เรียกว่า วัชรสูตร (the Dimon Sutra)
ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ มีตัวหนังสือและภาพประกอบ
พิมพ์ด้วยกระดาษเป็นม้วนยาว ๑๖ ฟุต กว้าง ๑ ฟุต มีตัวหนังสือบอกปีที่พิมพ์ว่า
พิมพ์เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๑๔๑๑
ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกฤษ กรุงลอนดอน
คัมภีร์ดังกล่าวอาจเป็นต้นแบบสำคัญที่ก่อให้เกิดการพิมพ์
และศิลปะภาพพิมพ์ในเกาหลีและญี่ปุ่นในยุคต่อๆ มา
ส่วนการพิมพ์และศิลปะภาพพิมพ์ในซีกโลกตะวันตกก็เชื่อว่า
ได้รับแบบอย่างไปจากจีนเช่นเดียวกับอารยะธรรมอื่นๆ ที่ไปจากจีนเป็นจำนวนมาก
การพิมพ์ในยุโรปช่วงแรกก็เป็นการพิมพ์คัมภีร์ในคริสต์ศาสนา
ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นการพิมพ์หนังสือและศิลปะภาพพิมพ์ในยุคต่อๆ มา
จนพัฒนามาเป็นศิลปะภาพพิมพ์ร่วมสมัยในปัจจุบัน
จึงเห็นได้ว่า ศิลปะที่เนื่องในศาสนาเป็นต้นกำเนิดของศิลปะหลายประเภท
ที่พัฒนามาสู่ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัย
........นอกเหนือจากผลงานศิลปะโดยตรง “ช่างและศิลปิน”
ผู้สร้างศิลปะเนื่องในศาสนาก็มีบทบาทอย่างสำคัญ
ในการพัฒนาศิลปะให้ก้าวหน้าและมีคุณภาพ
เพราะช่างและศิลปินผู้สร้างงานศิลปะเนื่องในศาสนา
จะต้องมีความศรัทธาในศาสนาเป็นเบื้องต้นอยู่ในจิตใจ
จึงพยายามที่จะนฤมิตผลงานของตนให้ยิ่งใหญ่
และมีคุณค่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ศิลปินและช่างประเภทนี้จะต้องมีความรู้ทั้งด้านศิลปะและศาสนา
ประกอบกันไปด้วยเพื่อให้ได้ศิลปกรรมที่ตรงตามปรัชญาของศาสนา
แต่...การที่ศิลปกรรมจะมีสัมฤทธิผลสมบูรณ์นั้น
จักต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกมาก
ตั้งแต่ความชำนาญเชี่ยวชาญในศิลปะประเภทนั้นๆ
ความเข้าใจในหลักและปรัชญาของศาสนา
ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะต้องมีอยู่ในตัวช่างหรือศิลปินผู้สร้างศิลปะ
คุณสมบัติเช่นนี้ต่างไปจากความเป็นช่างหรือศิลปินสมัยใหม่
ที่ส่วนมากสร้างศิลปะเพื่อสนองความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นหลัก
แต่ผู้สร้างศาสนศิลป์หรือพุทธศิลป์นั้น
มุ่งไปที่ผลที่จะเกิดกับผู้เสพซึ่งเป็นศาสนิกชนเป็นสำคัญ
ดังนั้น การสร้างศิลปกรรมเนื่องในศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ผู้สร้างจะต้องมีศักยภาพในตัวสูงยิ่งที่เดียว
หมายเหตุภาพ : จิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษสา “มหานครนิพพาน”
ผลงานชุดธรรมศิลป์ ของศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ
Love illusion ความรักลวงตา เพลงที่เข้ากับสังคมonline
Love illusion Version 2คนฟังเยอะ จนต้องมี Version2กันทีเดียว
Smiling to your birthday เพลงเพราะๆ ไว้ส่งอวยพรวันเกิด หรือร้องแทน happybirthday