มหากุศลจิต
อ. สำรวม สุทธิสาคร
มูลนิธิพุทธศาสนศึกษา วัดบุรณศิริมาตยาราม
มหากุศลจิต หรือ กามาวจรกุศลจิต
เป็นชื่อของกุศลประเภทหนึ่ง ที่ยังเกี่ยวข้องกับกามคุณอารมณ์ เป็นกุศลจิตที่เป็นโลกียกุศล ซึ่งทำให้ต้องกลับมาเวียนว่าย ตายเกิดอีก
แต่ก็มิใช่เป็นสิ่งไม่ดี
เพียงแต่ไม่ได้ทำพ้นจากความทุกข์ คือการเวียนว่าย ตายเกิดเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งที่ช่วยขัดเกลากิเลสต่างๆ ให้เบาบางลงและเป็นปัจจัยให้ปฏิบัติธรรมแล้วบรรลุมรรคผลนิพพานได้
จิตที่ชื่อว่ามหากุศล หรือกามาวจรกุศลนั้น มีการแบ่งด้วยลักษณะ ๓ คือ
๑. ปั ญ ญ า
การมีปัญญาเข้าประกอบหรือไม่มีปัญญาเข้าประกอบ
มหากุศลที่มีปัญญาเข้าประกอบ
จะมีความเข้าใจในหตุผลในการกระทำ มีความเข้าใจในเรื่องกรรม การเวียนว่ายตายเกิด มีความใจสภาวธรรมเรื่องนาม รูป มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
มหากุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา
ก็จะไม่มีลักษณะเหล่านี้ เช่น กุศลที่ทำตามคำบอกเล่ากันมา ทำตามความเชื่อ
การที่จะมีปัญญาในการทำกุศลได้นั้นต้องอาศัยการฟังเรียกว่า "สุตมยปัญญา"
อาศัยการพิจารณาใคร่ครวญ เรียกว่า "จินตมยปัญญา"
และอาศัยการปฏิบัติเรียกว่า "ภาวนามยปัญญา"
ปัญญานั้นมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อมีความรู้ ความเข้าใจแล้วก็จะทำให้กุศลที่ทำมีกำลังมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลที่มีกำลังมากขึ้นด้วย
๒. เ ว ท น า
คือความรู้สึกเป็นสุข เรียกว่า "โสมนัสเวทนา"
หรือรู้สึกเฉยๆ เรียกว่า "อุเบกขาเวทนา"
ในการเกิดขึ้นของมหากุศลนั้น บางครั้งก็รู้สึกว่ามีปีติ มีความสุขปลาบปลื้ม จัดเป็นโสมนัสเวทนา บางครั้งก็รู้สึกเฉย จัดเป็นอุเบกขาเวทนา
การทำกุศลที่มีความรู้ความเข้าใจ และทำอย่างเต็มกำลัง จะมีส่วนช่วยทำให้จิตเกิดโสมนัสเวทนาได้ง่ายขึ้น
๓. ก า ร ชั ก ช ว น หรือ มี กำ ลั ง
กุศลประเภทหนึ่ง มีกำลังมาก ปรารภในการทำเอง ไม่ต้องอาศัยผู้อื่นชักชวน เรียกว่า "อสังขาริก"
ส่วนอีกประเภทหนึ่ง มีกำลังอ่อน ต้องอาศัยผู้อื่นชักชวน เรียกว่า"สสังขาริก"
จากกระแสของการพัฒนา ทำให้คนมีความโลภ มีความต้องการเสพอารมณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมากขึ้น เมื่อมีความต้องการ ต้องมีการแสวงหา เพื่อให้ได้เสพอารมณ์ตามที่ต้องการ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกาย พร้อมกับการขาดการศึกษา สดับตรับฟังธรรมะ จึงทำให้ความต้องการที่จะทำบุญ ความดีต่างๆ น้อยลง
ทำให้บุญประเภทที่มีกำลังแก่กล้า (อสังขาริก) เกิดขึ้นน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นบุญประเภทที่มีกำลังอ่อน ต้องอาศัยผู้อื่นชักชวน หรือมีเครื่องล่อ เครื่องจูงใจจึงจะทำ
เมื่อจำแนกด้วย ๓ ลักษณะนี้ จะทำให้มหากุศลจิตแบ่งออกได้เป็น ๘ ประเภท ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
๑. เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา อสังขาริก (ไม่ต้องมีการชักชวน)
๒. เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา สสังขาริก (ต้องมีการชักชวน)
๓. เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา อสังขาริก (ไม่ต้องมีการชักชวน)
๔. เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา สสังขาริก (ต้องมีการชักชวน)
๕. เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยปัญญา อสังขาริก (ไม่ต้องมีการชักชวน)
๖. เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยปัญญา สสังขาริก (ต้องมีการชักชวน)
๗. เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา อสังขาริก (ไม่ต้องมีการชักชวน)
๘. เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา สสังขาริก (ต้องมีการชักชวน)
เมื่อพิจารณามหากุศลทั้ง ๘ ประเภทแล้ว มหากุศลประเภทที่ ๑ จะดีที่สุด ในการทำกุศลครั้งนั้น มีทั้งความโสมนัส ยินดี มีปัญญา และมีกำลังแก่กล้าไม่ต้องอาศัยผู้อื่นชักชวน และมหากุศลประเภทที่ ๘ ดีน้อยที่สุด คือมีความรู้สึกเฉยๆ ไม่มีปัญญา และต้องอาศัยผู้อื่นชักชวน
ดังนั้นการทำกุศล ควรทำให้มีลักษณะประเภทที่ ๑ อยู่เสมอๆ
กุศลที่ทำเช่นไร ผลของกุศลก็มีลักษณะเช่นนั้น เราเรียกผลของมหากุศลว่า "มหาวิบาก" ซึ่งจะมีความสำคัญมากในการให้ผลนำเกิด
ถ้าเรามีมหาวิบากประเภทที่ ๑ นำเกิด ก็ถือว่ามีต้นทุนคือทรัพย์ภายในที่สูงมาก จะรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำกุศล มีปัญญาในการกุศลรู้เหตุผล เห็นประโยชน์ในการทำและปรารภในการทำกุศลเองได้ง่าย
(คัดลอกบางตอนมาจาก "สาระจากพระอภิธรรม" โดย อ. สำรวม สุทธิสาคร ใน ธรรมะเพื่อชีวิต เล่มที่ ๖๕ ฉบับเข้าพรรษา ๒๕๕๓ จัดทำโดย มูลนิธิพุทธศาสนศึกษา วัดบุรณศิริมาตยาราม, หน้า ๗-๑๐)
ที่มา http://www.dhammajak.net/