ธรรมบรรยาย โดยท่าน ติช นัท ฮันห์
ในเวลาที่เรากำลังจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า-ออกของเราอยู่ แล้วมีความคิดเกิดขึ้นมา หรือมีอารมณ์ เกิดขึ้นมา เราจะจัดการกับมันอย่างไร ?
เมื่อเราได้นำความสนใจกลับมาสู่ลมหายใจของเรา เราก็ได้นำจิตของเรากลับมาหากายของเราแล้ว ลมหายใจที่มีสติ ก็จะช่วยสร้างพลังแห่งสติด้วย สตินั้นก็คือพลังอย่างหนึ่งที่จะสามารถทำให้เรา ตระหนักรู้ความรู้สึก และโอบรับความรู้สึก และเปลี่ยนแปรความรู้สึกนั้น
ในช่วงแรกเราอาจจะตั้งใจและใส่ใจที่จะตามลมหายใจเข้าออก และเมื่อเราได้มีสติขึ้น เกิดพลังแห่งสติขึ้นแล้ว เราอาจจะ ใช้พลังแห่งสตินั้น เพื่อที่จะตระหนักรู้ โอบอุ้ม และเปลี่ยนแปรความรู้สึกที่เกิดขึ้น และนั่นก็คือบทแบบฝึกหัดที่กล่าวว่า
๐ หายใจเข้าฉันตระหนักรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น
๐ หายใจออกฉันปลดปล่อยความตึงเครียดในความรู้สึกของฉัน
ในพระสูตรอานาปานสติ พระพุทธองค์ได้ทรงแนะนำให้เราใช้แบบฝึกหัดโดยตระหนักรู้ โอบรับร่างกายของเรา และ ปลดปล่อยความตึงเครียดที่อยู่ในร่างกายของเราเสียก่อน หลังจากที่เราสามารถทำเช่นนั้นกับร่างกายของเราได้ เราก็ สามารถที่จะทำกับความรู้สึก อารมณ์ของเราได้เช่นเดียวกัน
๐ หายใจเข้าฉันตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของฉัน
๐ หายใจออกฉันปลดปล่อยความรู้สึกตึงเครียดในความรู้สึกของฉัน
ความรู้สึกนั้นอาจจะรุนแรงมากจนกลายเป็นอารมณ์ และมีหนุ่มสาวหลายท่าน ที่อาจจะไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์รุนแรง ที่เกิดขึ้น คนหนุ่มสาวเหล่านั้นได้ฆ่าตัวตายเพราะอารมณ์รุนแรงเหล่านั้น เพราะเขาคิดว่า การตายคือหนทางแห่งการ ออกจากอารมณ์รุนแรงนั้น และนั่นคือเหตุผลที่เราจะต้องสอนคนหนุ่มสาวนั้น ให้รู้วิธีโอบรับความรุนแรงทางอารมณ์ ทีเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปรความรุนแรงของอารมณ์นั้น
อารมณ์รุนแรงนั้นก็เป็นดั่งพายุที่ร้ายแรง มันมาแล้วมันก็จะต้องไป แต่ทำไมเราจะต้องตายกับอารมณ์เดียวเท่านั้น อารมณ์นั้นเป็นส่วนเล็กๆ ของเราส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เราเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าอารมณ์เพียงอารมณ์เดียวนั้น ถ้าเรารู้วิธี ที่จะใช้พลังแห่งสติจัดการกับอารมณ์นั้น ควบคุมอารมณ์นั้น เราสามารถที่จะเปลี่ยนแปรอารมณ์นั้น และทำให้สงบลงได้
การฝึกตามลมหายใจอย่างมีสติกับท้องของเรา
การมีสติกับท้องที่พองขึ้นและท้องยุบลงในขณะที่หายใจเข้าออก เป็นวิธีการที่จะ จัดการกับอารมณ์รุนแรงได้อย่างดียิ่ง ในขณะที่เรามีอารมณ์รุนแรงเกิดขึ้น เราไม่ควร ปล่อยให้ตัวของเรา ใจของเราอยู่ในระดับสมอง วุ่นวายอยู่บนความคิดในสมอง เราควรจะนำความสนใจทั้งหมดมาอยู่ใต้สะดือในระดับท้อง และมุ่งความสนใจ ทั้งหมดอย่างเต็มที่ไปที่ท้องที่พองขึ้นและยุบลง ในการตามลมหายใจ เข้าและออก ถ้าเราอยู่ตรงนั้นอย่างหนักแน่นกับลมหายใจเข้า-ท้องพอง หายใจออก -ท้องยุบลง ในเพียงเวลาแค่ 5 นาที อารมณ์รุนแรงนั้น ก็สามารถที่จะสงบลงได้
แต่เราไม่ควรจะรอให้เกิดอารมณ์รุนแรงแล้วเราถึงจะเริ่มฝึกปฏิบัติ เพราะว่าเมื่อถึง เวลาที่เราเกิดอารมณ์รุนแรงแล้ว เราจะลืมที่จะฝึกปฏิบัติ เราควรจะเริ่มฝึกตั้งแต่วันนี้ วันละ 5-10 นาที การฝึกตามลมหายใจกับท้องที่พองขึ้นและยุบลง และถ้าเราฝึก เช่นนั้นได้ประมาณสัก 3 อาทิตย์ มันจะกลายเป็นนิสัยของเรา และเมื่อเราเกิดอารมณ์ รุนแรงขึ้น เราก็จะจำได้ที่จะฝึกปฏิบัติ และเมื่อเราประสบความสำเร็จ ผ่านอารมณ์ รุนแรงแบบนี้ไปได้ เธอก็จะไม่มีความกลัวกับอารมณ์รุนแรงที่จะเกิดขึ้นอีก และเธอ ก็จะบอกกับตัวเธอเองได้ว่า เมื่อมีอารมณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีกในครั้งต่อไป เธอก็รู้ที่จะ จัดการกับมันอย่างไร และจะผ่านมันไปได้อย่างไร
เมื่อเด็กร้องไห้ เธออาจจับมือเด็กคนนั้น และเชื้อเชิญให้เด็กคนนั้นตามลมหายใจ ร่วมกับเธอ โดยตามลมหายใจร่วมกับท้องที่พองขึ้นและยุบลง เราควรจะสอนเด็กๆ หรือวัยรุ่นให้รู้วิธีการหายใจกับท้องแบบนี้ และนั่นจะช่วยให้เขารักษาชีวิตให้รอด มาได้
ที่ประเทศฝรั่งเศสที่เราพำนักอยู่ มีเด็กหนุ่มสาวที่ฆ่าตัวตายวันละประมาณ 34-35 คน ที่ประเทศฮ่องกงก็เช่นเดียวกัน มีเด็กหนุ่มสาวกระโดดตึกฆ่าตัวตาย เพราะไม่รู้วิธี ที่จะจัดการกับอารมณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ที่ประเทศอังกฤษ อเมริกาเหนือ คนหนุ่มสาว ฆ่าตัวตายกันเป็นจำนวนมากขึ้น
เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากที่เราจะต้องฝึกปฏิบัติตามลมหายใจอย่างมีสติ ดูแล ความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้นมาให้ได้ เมื่อเราสามารถที่จะปฏิบัติได้ เราก็จะสามารถ แลกเปลี่ยน และช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ได้อีกมากมาย แบบฝึกหัดที่ 7 และ 8 ของ อานาปานสติก็คือ แบบฝึกหัดที่จะให้เรากลับมาอยู่กับลมหายใจ ของเรา
งานภาวนา "สู่ศานติสมานฉันท์"
23-27 พฤษภาคม 2550
thaiplumvillage
สติกำกับลมหายใจ
คัดมาจากช่วง "ถาม-ตอบ"
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!