อันว่าด้วยเรื่อง“พระโพธิสัตว์”
ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)
- พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างกันอย่างไร โพธิญาณคืออะไร ?
o พระโพธิสัตว์
คือบุคคลผู้ตั้งจิตปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ แม้จะต้องบำเพ็ญบารมียากลำบากเพียงใดก็ตาม
o พระอรหันต์
คือท่านผู้บรรลุมรรคผลชั้นสูงสุด ละกิเลส คือ โลภ โกรธ หลงได้สิ้นเชิง
o พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คือท่านผู้ตรัสรู้สัจธรรมด้วยพระองคเองแล้ว สั่งสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามได้
o โพธิญาณ
คือปัญญาอันรู้ประจักษ์ คือตรัสรู้สัจธรรม หมายถึงพระปัญญาของพระพุทธเจ้า ผู้ตั้งพระพุทธศาสนา - คำอธิษฐานของพระโพธิญาณ มีเนี้อความเป็นองค์ประกอบอะไรบ้าง ขอคำแนะนำ
พระโพธิญาณ คือ ปัญญาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ต้องขอจากใคร เพียงแต่ตั้งใจว่าจะบำเพ็ญคุณงามความดี ที่เรียกว่าบารมีอย่างไม่ย่อท้อ หรือยอมแพ้แก่อุปสรรคใดใด เพื่อให้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ คือช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของประชาสัตว์ ได้อย่างกว้างขวางก็พอแล้ว
เป็นผู้มีความเข้มแข็ง ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ถึงขนาดว่า ถ้าให้เอาหน้าอกไถไปบนมีดโกนเป็นระยะทางยาวไกล ก็พร้อมที่จะเป็นเช่นนั้น
หรือจะยอมตกนรกหมกไหม้ ตลอด ๔ อสงไขยแสนกัลป์ แล้วได้เป็นพระพุทธเจ้าก็ยินดี เป็นต้น
ถ้าจิตใจเข้มแข็งขนาดนี้ ก็เป็นพระโพธิสัตว์ได้
ความเป็นพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่เพื่อมีความสุข มีคนมากราบไหว้ แต่เพื่อทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ตลอดพระชนมชีพ - เรื่องพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ พระโพธิสัตว์หลายพระองค์ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานนั้น มีหลักการและเหตุผลอย่างไร
มีหลักการเหตุผลที่ว่า
ในพระพุทธศาสนา ตำแหน่งหรือฐานะในพระพุทธเจ้านั้นไม่จำกัด ไว้หรือผูกขาดไว้เพื่อผู้ใด ผู้หนึ่งโดยเฉพาะ ผู้ใดทำความตั้งใจดี มีความพากเพียรดี พยายามบำเพ็ญคุณงามความดีเพียงพอก็สามารถบรรลุฐานะนั้นได้เท่าเทียมกันหมด
การเป็นพระโพธิสัตว์ คือ บุคคลนั้นจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกัน
เมื่อตำแหน่งพระพุทธเจ้าเปิดกว้างไว้สำหรับทุกคน ใครก็ตามที่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็มีสิทธิตั้งความปรารถนาและบำเพ็ญบารมีได้เท่าเทียมกันหมด
ในระหว่างบำเพ็ญบารมีเรียกว่า"พระโพธิสัตว์" การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อสามารถเป็นพระพุทธเจ้า โปรดมุนษย์สัตว์และเทพ ให้พ้นจากทุกข์โดยไม่หวังอะไรตอบแทน แม้แต่คำขอบใจ หรือเครื่องสักการะบูชา
เป็นการทำความดีเพื่อความดีอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องมุ่งให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ และได้รับความสุขเป็นสำคัญ
หลักการและเหตุผลนี้ จึงประเสริฐวิเศษ และมีค่าสูงสมควรแก่การยกย่องและประพฤติปฏิบัตตามอย่างแท้จริง - ถ้าพระโพธิสัตว์จะตั้งจิตไม่ปรารถนาทำบุญร่วมกับคนพาล จะทำให้เป็นการเลือกทีรักมักที่ชังหรือไม่ ?
พระโพธิสัตว์จะตั้งจิตอย่างไร ก็แล้วแต่เหตุผลของท่าน
บางท่านอาจตั้งจิตหลีกเลี่ยงคนพาล เพราะยังไม่อยากจะยุ่งกับบุคคลเหล่านั้น บางครั้งอาจตั้งจิตทำบุญร่วมกับคนพาล เพื่อตามไปช่วยคนพาลให้กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีก็ได้ ไม่มีอะไรเป็นข้อบังคับตายตัว
เรื่องเหล่านี้ขึ้นอยู่กับกาละและเทศะ รวมทั้งเหตุผลในแต่ละกรณี - บางท่านกล่าวว่า พระอรหันต์ต่ำกว่าพระโพธิสัตว์
โดยอธิบายว่า พระโพธิสัตว์บรรลุอรหัตตผลแล้ว แต่ยังไม่ถึงนิพพาน เพราะจะช่วยรื้อสัตว์ขนสัตว์ออกจากทุกข์ก่อน ขอฟังคำอธิบาย
กล่าวโดยเจตนา
พระโพธิสัตว์มีปณิธานที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อแสดงธรรมโปรดประชาชนอย่างกว้างขวาง ในแง่นี้ จึงนับว่ามีเจตนาอันยิ่งใหญ่ สูงกว่าผู้มุ่งเพียรทำตนเอง ให้หลุดพ้นจากทุกข์เช่นพระอรหันต์
ตามขั้นตอนของจิตใจ พระโพธิสัตว์ที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ก็เป็นพระพุทธเจ้าไปเลย จะเป็นพระอรหันต์ด้วย เป็นพระโพธิสัตว์ด้วยเป็นไปไม่ได้
นี้ตอบตามหลักวิชาทั่วไป ขอยกตัวอย่างเช่นพระพุทธเจ้าของเรา
เมื่อตอนประกาศแสดงปณิธานจะเป็นพระพุทธเจ้า ต่อหน้าพระพักตร์ พระพุทธเจ้าทีปังกรนั้น พระองค์พร้อมที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ทรงยับยั้งไว้ก่อน
ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพิ่มเติม เพื่อพระพุทธเจ้าในอนาคต และก็ได้เป็นพระโคตมพระพุทธเจ้า ตามที่พระทีปังกรพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์แล้ว
ข้อเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่งก็คือ
พระโพธิสัตว์ย่อมไหว้พระภิกษุสามเณร เป็นการแสดงคารวะต่อศีลธรรม ทั้งที่มีปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
รวมความว่าพระอรหันต์เป็นผู้บรรลุถึงจุดสุดยอดแล้ว แต่พระโพธิสัตว์ท่านรอไว้ถึงจุดสุดยอดในภายหลังเพื่อจะได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา สั่งสอนประชาชนได้กว้างขวางมากกว่าเป็นเพียงพระอรหันต์
(คัดลอกบางตอนมาจาก : คำถาม-คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา เล่ม ๒
โดย อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ, พิมพ์ครั้งที่ ๒ ๒๕๔๒,
โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์,
หน้า ๑๑, ๗๒-๗๓, ๘๓-๘๔, ๑๐๔-๑๐๖)
ที่มาhttp://www.dhammajak.net/
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!