นิวรณ์ข้อกามฉันท์
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การปฏิบัติทางจิตตภาวนา คืออบรมจิต เพื่อสมาธิ และเพื่อปัญญา ในเบื้องต้นก็อบรมจิตเพื่อสมาธิ คือเพื่อให้ใจตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐาน หรือเรียกจำเพาะว่าสมถกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นเครื่องสงบใจ และเมื่อใจสงบตั้งมั่น จึงจะเป็นสมาธิ สงบจากอะไร ก็คือสงบจากอกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดอันเป็นอกุศลทั้งหลาย หรือเรียกว่าสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือเรียกว่าสงบจากนิวรณ์ทั้งหลาย
๏ อารมณ์เป็นที่ตั้งของกิเลส ๖
เพราะจิตนี้ผูกพันอยู่กับกิเลส และอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส กิเลสนั้น ก็มีกามทั้งหลาย และอกุศลธรรมทั้งหลาย อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสนั้น ก็ได้แก่อารมณ์ทั้ง ๖ คือ
รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่ตาได้เห็น สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงที่หูได้ยิน คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสารมณ์ อารมณ์คือรสที่ลิ้นได้ทราบ โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ที่กายนี้ถูกต้องได้ทราบ และ ธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่อง มีเรื่องของรูป เรื่องของเสียงเป็นต้น ที่มโนคือใจได้คิดได้รู้ นี้คืออารมณ์
๏ กิเลสกาม วัตถุกาม
เมื่อเป็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกาม คือความใคร่ความปรารถนา กามคือความใคร่ความปรารถนาก็บังเกิดขึ้น ผูกอยู่กับจิตใจ หรือเรียกว่าเป็นที่ตั้งของราคะคือความติดใจยินดี ราคะก็บังเกิดขึ้นผูกอยู่กับจิตใจ ทำให้จิตใจวิตกคือตรึกนึกคิดไปในกาม หรือในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกาม หรืออารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะความติดใจยินดีดังกล่าวนั้น
อันกามนั้นมี ๒ คือ กิเลสกาม กามที่เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง วัตถุกาม กามที่เป็นวัตถุ คือเป็นที่ตั้งของกิเลสกามนั้นอย่างหนึ่ง กามที่เป็นตัวกิเลสนั้น ก็ได้แก่กามที่เป็นความใคร่ ความปรารถนา ความอยากได้ ความต้องการ หรือ ราคะ ความติดใจยินดี นันทิ ความเพลิดเพลินติดอยู่ นั้นเองเป็นตัวกิเลสกาม
และเมื่อกิเลสกามนี้ตั้งอยู่ในรูปที่ตาเห็นก็ตาม ในเสียงที่หูได้ยินก็ตาม ในกลิ่นที่จมูกได้ทราบก็ตาม ในรสที่ลิ้นได้ทราบก็ตาม ในโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่กายได้ถูกต้องได้ทราบก็ตาม ในธรรมะคือเรื่องราวของรูปเสียงเป็นต้น ที่ใจได้คิดได้รู้ก็ตาม รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวนั้น ก็ชื่อว่าเป็นวัตถุกาม คือเป็นวัตถุที่ใคร่ หรือวัตถุคือสิ่งอันเป็นที่ตั้งของความใคร่
๏ เบญจพิธกามคุณ ๕
แต่โดยมากวัตถุกามนั้น มักจะพูดหมายเอา ๕ ข้อ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ แต่อันที่จริงธรรมะคือเรื่องราวที่รักใคร่ปรารถนาพอใจก็ชื่อว่ากามด้วย แต่เมื่อเรียกเอาข้างต้น ๕ ข้อ ที่เป็นวัตถุคือเป็นรูปเท่านั้นก็เป็น ๕ ข้อ ซึ่งมีคำเรียกว่า เบญจพิธกามคุณ กามคุณมีอย่าง ๕ ส่วนข้อ ๖ คือธรรมะคือเรื่องราวนั้น ก็รวมอยู่ใน ๕ ข้อนี่ นั้นเอง เพราะว่าก็เป็นเรื่องของรูปเสียงเป็นต้นเหล่านั้น นั่นแหละ จิตใจเมื่อถูกกามดังกล่าวผูกไว้ จึงมีปรกติวิตกคือตรึกนึกคิดไปในกามทั้งหลาย เป็นกามาวจรจิต คือจิตที่เป็นกามาวจรเที่ยวไปในกาม อันเป็นจิตของสามัญชนทั่วไป และกิเลสกามดั่งที่กล่าวมานี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นตัวกามฉันท์ คือความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม คือจิตนี้เองมีฉันทะคือความพอใจรักใคร่ติดอยู่ในกาม จึงวิตกตรึกนึกคิดไปในกามอยู่เป็นอาจินต์
๏ สุภนิมิต
ความที่เป็นดั่งนี้ ก็เพราะจิตนี้เองไปยึดถือ และกำหนดไปในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อันเป็นเบญจพิธกามคุณนั้นว่าเป็นสุภะ คืองดงาม น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ เรียกว่า สุภนิมิต คือเครื่องกำหนดว่างาม ดั่งเมื่อได้เห็นรูป จิตก็กำหนดเป็นสุภะนิมิตในรูป ว่ารูปที่เห็นนั้นงามอย่างนั้นงามอย่างนี้ เมื่อได้ยินเสียง จิตก็กำหนดลงไปในเสียงนั้น ว่าไพเราะอย่างนั้นไพเราะอย่างนี้ ในกลิ่นก็กำหนดลงไปว่ากลิ่นดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ในรสก็กำหนดลงไปว่าอร่อยอย่างนั้นอร่อยอย่างนี้ ในสิ่งถูกต้องทางกายที่เรียกว่าโผฏฐัพพะ จิตก็กำหนดลงไปว่า ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ดั่งนี้คือสุภะนิมิต กำหนดลงไปว่างาม
๏ อโยนิโสมนสิการ
เมื่อกำหนดลงไปว่างาม ก็ใส่ใจว่างาม ความใส่ใจว่างามนี้ก็ดึงใจให้วิตกคือตรึกนึกคิดลงไปว่างาม เพราะว่าได้นำมาใส่เข้าในใจแล้ว ใจจึงติด และวิตกตรึกนึกคิดไปดั่งนั้น เพราะฉะนั้น ความใส่ใจอันเรียกว่า มนสิการ จึงสำคัญมาก ก็มาจากจิตนี้เองที่นำเอาสุภะนิมิตนั้นมาใส่ไว้ในใจ ซึ่งเป็นไปในรูปเป็นต้นดังกล่าว และก็ใส่ใจไว้เสมอ อันความใส่ใจไว้เสมอดั่งนี้ สำหรับนักปฏิบัติธรรมะ หรือผู้ปฏิบัติธรรมะ หรือว่าทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้ปฏิบัติทำจิตตภาวนา กล่าวว่าเป็น อโยนิโสมนสิการ คือเป็นการพิจารณาไปโดยไม่แยบคาย จึงเห็นว่างาม และนำมาใส่ใจ
๏ อาหารของกามฉันท์
เพราะฉะนั้น อาการที่จิตกำหนดว่างามอันเรียกว่า สุภนิมิต และการที่มาใส่ใจว่างาม ซึ่งเรียกตามภาษาธรรมะว่า โดยไม่แยบคาย และก็นำมาใส่ใจไว้โดยมากดั่งนั้น นี้เองเป็นตัวอาหารของกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม หรือว่าของราคะ หรือของกิเลสกาม กามฉันท์ได้สุภนิมิต และการที่ใส่ใจไว้โดยมากว่างาม เพราะมิได้พิจารณาโดยแยบคายดั่งนี้ จึงเป็นอาหารของกามฉันท์ หรือของราคะ เป็นเหตุให้กามฉันท์บังเกิดขึ้น บังเกิดเป็นเหตุให้กามบังเกิดขึ้น หรือกิเลสกามบังเกิดขึ้นในจิตใจ
๏ อสุภะ
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนผู้ปฏิบัติธรรมะ ให้มาใส่ใจโดยแยบคาย อันหมายความว่า ให้ใส่ใจพิจารณาตามสัจจะคือความจริง
ว่าอันที่จริงนั้น รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็น อสุภะ คือเป็นสิ่งที่ไม่งดงาม ดังที่ตรัสสอนไว้ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ข้อให้พิจารณากาย ว่ากายนี้เป็นไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตะโจ หนัง มังสัง เนื้อ นหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต หทยัง หัวใจ ยกนัง ตับ กิโลมกัง พังผืด ปิหกัง ม้าม ปับผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่ อันตคุณัง สายรัดไส้ อุทริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำหนอง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท มันข้น อัสสุ น้ำตา วสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ลสิกา ไขข้อ มุตตัง มูตร ดั่งนี้
๏ อสุภนิมิต โยนิโสมนสิการ
ให้พิจารณาค้นคว้าตรวจสอบดูในกายอันนี้ ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ดั่งนี้ และสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่งดงาม คือเป็นอสุภะไม่งดงาม เป็นของไม่สะอาดด้วย เป็นของไม่งดงามด้วย จำเพาะที่ตามองเห็นก็ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งก็ต้องมีการชำระคืออาบน้ำกันอยู่ทุกวัน และต้องตบแต่งกันอยู่ทุกวัน เพราะว่าเป็นที่ไหลออกจากสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย ไปทั่วกายทุกขุมขน ต้องพิจารณาตรวจค้นลงไปดั่งนี้ ให้เห็นว่าไม่งาม ให้เห็นว่าไม่สะอาด เรียกว่าเป็น อสุภนิมิต กำหนดหมายว่าไม่งาม
ว่าการพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอสุภะนิมิตนี้ เรียกว่าเป็นโยนิโสมนสิการ ความใส่ใจโดยแยบคาย คือพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของที่ไม่สะอาด ไม่งดงาม ให้ทำให้มาก เมื่อ อสุภสัญญา ความสำคัญหมายว่าไม่งดงาม ความไม่สะอาดปรากฏขึ้น จิตก็ได้อสุภนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายว่าไม่งดงาม และการที่ใส่ใจพิจารณานั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย เมื่อเป็นดั่งนี้ กามฉันท์ก็สงบ
กามฉันท์นั้นย่อมเกิดขึ้นเพราะสุภนิมิต และการที่มาใส่ใจถึงโดยไม่แยบคายโดยมาก อันเรียกว่ากระทำให้มากในอโยนิโสมนสิการ ส่วนกามฉันท์นี้ย่อมละเสียได้ด้วย อสุภนิมิต อสุภสัญญา กำหนดหมายว่าไม่งดงาม สำคัญหมายว่าไม่งดงาม และใส่ใจถึงให้มาก ดั่งนี้ ก็ชื่อว่าทำให้มากด้วยโยนิโสมนสิการ กามฉันท์ก็จะละไปได้ นี้เป็นทางปฏิบัติ
๏ เพราะอะไรจึงไม่ได้สมาธิ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ทำจิตตภาวนา จึงให้ตรวจดูจิตของตน ถ้ามีกามฉันท์อยู่ก็ให้รู้ว่ามี ถ้าไม่มีกามฉันท์อยู่ก็ให้รู้ว่าไม่มี แล้วก็ต้องให้รู้ว่ากามฉันท์นั้นบังเกิดขึ้นอย่างไร คือบังเกิดขึ้นเพราะ สุภนิมิต สุภสัญญา และด้วยใส่ใจถึงโดยมาก โดยไม่แยบคาย คือไปเห็นว่างดงามน่ารักน่าชม และก็ให้รู้ว่ากามฉันท์นั้นจะละได้อย่างไร ก็ต้องละได้ด้วยอสุภนิมิตสำคัญหมายว่าไม่งดงาม อสุภสัญญากำหนดหมายว่าไม่งดงาม สำคัญหมายว่าไม่งดงาม และด้วยการทำความใส่ใจถึงให้มากโดยแยบคายอย่างนั้น ก็จะละได้ ก็จะละกามฉันท์ได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ การทำจิตตภาวนาก็เป็นไปได้ จะสงบจากกามทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมะทำจิตตภาวนา จะยกเอากรรมฐานข้อไหนขึ้นปฏิบัติก็ตาม เช่น ยกข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกขึ้นมาพิจารณา ถ้าหากว่าจิตยังไม่ได้สมาธิ ก็ให้ตรวจดูจิตว่าเพราะอะไรจึงไม่ได้สมาธิ การทำอานาปานสติจึงไม่บังเกิดผล ก็ย่อมจะพบนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งในจิต เช่นว่าพบข้อกามฉันท์ ผู้ปฏิบัติก็ต้องมาจัดการกับกามฉันท์ในจิตเสียก่อน เพราะถ้ากามฉันท์มีอยู่ในจิต จิตก็จะถูกกามฉันท์ดึงไป แม้จะนำมาตั้งไว้ในอานาปานะลมหายใจเข้าออก จิตก็จะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปหากามฉันท์ คือไปหากามทั้งหลาย จึงต้องจัดการกับจิตในเรื่องนี้เสียก่อน
ด้วยการค้นหาเหตุว่าทำไมจิตจึงมาพัวพันอยู่กับกามฉันท์ข้อนี้ๆ ก็ย่อมจะพบว่าเพราะ สุภนิมิต สุภสัญญา และเพราะความมาใส่ใจถึงโดยไม่แยบคาย เพราะไปใส่ใจถึงว่างดงามน่ารักน่าชมนั้นเอง
จึงต้องปฏิบัติใส่ใจถึงคือพิจารณาให้เห็น อสุภนิมิต อสุภสัญญา ให้ได้อสุภสัญญา โดยใส่ใจถึงโดยแยบคาย ด้วยพิจารณาดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาในข้อกาย ดั่งที่กล่าวแล้ว ว่ากายนี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น พิจารณาใส่ใจค้นคว้าลงไปว่า ไม่สะอาดอย่างนี้ๆ ไม่งดงามอย่างนี้ๆ ความจริงย่อมจะปรากฏแก่จิต ในเมื่อใส่ใจถึงโดยแยบคายอยู่บ่อยๆ เมื่อเป็นดั่งนี้กามทั้งหลายก็สงบลงได้ จึงกลับมาทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ย่อมจะทำได้สะดวกขึ้น และสำเร็จเป็นอานาปานสติได้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
.......................................................
คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
นิวรณ์ข้อกามฉันท์ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!