ความสุขเกิดจากอะไร
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ กรุงเทพธุรกิจ
สัปดาห์นี้คงจะเป็นตอนสุดท้ายในเรื่องเกี่ยวกับความสุข (Happiness) หลังจากนำมาเสนอมาแล้วสองตอนนะครับ เอาไว้โอกาสเหมาะเมื่อไร จะนำเรื่องนี้มานำเสนออีกนะครับ แต่ก่อนจบในเรื่องนี้ ก็อยากจะพาท่านผู้อ่านมาดูกันนะครับว่า ความสุขเกิดจากอะไร? ในเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้นำเสนอไว้แล้วว่า รายได้ และยีน (พันธุกรรม) ก็ส่งผลต่อความสุขของเราได้ในระดับหนึ่ง
Richard Layard นักเศรษฐศาสตร์ที่หันมาเขียนหนังสือชื่อ Happiness ได้ระบุไว้ว่า มีปัจจัยที่สำคัญหกประการ (นอกเหนือจากเรื่องเงินและพันธุกรรม) ที่ส่งผลต่อความสุขของคนเรา แต่ก่อนที่จะมาดูปัจจัยที่นำมาสู่ความสุขนั้น เรามาดูก่อนนะครับว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ไม่ส่งผลต่อความสุขบ้าง Layard ระบุไว้ว่า อายุ เพศ ความฉลาด ระดับการศึกษา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสุขของเราโดยตรง เพียงแต่ปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความสุขบ้างเท่านั้น
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสุขโดยตรงของคนเราประกอบด้วยปัจจัยทั้งหมดหกประการ เริ่มจากความสัมพันธ์ ระหว่างสมาชิกในครอบครัว จากงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า คนเราจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้นเมื่อแต่งงาน ซึ่งเป็นจริงทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ก่อนแต่งงานสองหรือสามปีเพิ่มมากขึ้น และจะมีความสุขสูงสุดในปีที่แต่งงาน หลังจากแต่งงานได้ปีหนึ่งระดับความสุขอาจจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังสูงกว่าก่อนแต่งงาน (ผมมีลูกน้องคนหนึ่งเพิ่งแต่งงานไป เท่าที่สังเกตก็จะเริ่มมีความสุขจนกลมเลยครับ) นอกจากนี้ ยังพบอีกนะครับว่า คนที่แต่งงานจะมีอายุยืนกว่าคนที่เป็นโสด
ปัจจัยประการที่สองคือเรื่องงานครับ โดยเฉพาะงานที่เมื่อทำแล้วรู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคมหรือบุคคลอื่น จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มมากขึ้น พบว่าเมื่อคนเราตกงาน ระดับความสุขจะลดลง ซึ่งไม่ใช่เพราะรายได้ลดลงนะครับ แต่เกิดจากความรู้สึกในประโยชน์และคุณค่าของตนเองลดลง
ปัจจัยประการที่สามคือสังคมรอบ ๆ ตัวและเพื่อนร่วมงานครับ ถ้าเรามีความรู้สึกว่าคนรอบ ๆ ตัวเรามีความเป็นมิตร สามารถที่จะไว้วางใจได้ จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นครับ มีงานวิจัยที่ถามว่า เราสามารถไว้ใจคนรอบข้างได้หรือไม่? ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าคำตอบจากประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ต่างกันมากเลยครับ ในประเทศบราซิลนั้นอยู่ที่ 5% ส่วนประเทศนอร์เวย์อยู่ที่ 64%
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ผู้วิจัย แกล้งทำกระเป๋าเงินตกลงบนท้องถนน โดยมีชื่อที่อยู่ของเจ้าของกระเป๋าอยู่ และพบว่าในประเทศที่มีอัตราการส่งกลับคืนสูงสุดนั้น เป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่นเดียวกันครับ น่าสนใจนะครับ อยากจะรู้เหมือนกันว่า อัตราการส่งคืนในเมืองไทยจะเท่ากับเท่าใด
ปัจจัยประการที่สี่เป็นเรื่องของสุขภาพครับ ซึ่งเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะเห็นด้วย เพียงแต่เรื่องที่น่าแปลกใจ ก็คือสุขภาพกลับไม่ได้เป็นปัจจัยอันดับแรก ที่ส่งผลต่อความสุขของคนนะครับ เข้าใจว่าเป็นเพราะเราสามารถปรับตัว และยอมรับต่อสุขภาพของเราได้เป็นอย่างดีครับ
ปัจจัยประการที่ห้าได้แก่ความอิสระส่วนตัว หรือ Personal Freedom ครับ ตอนแรกผมก็นึกว่าเป็นอิสระส่วนบุคคลนะครับ แต่คนที่เขียนหนังสือดังกล่าวเป็นนักเศรษฐศาสตร์เขาก็เลยมองเรื่องของ Personal Freedom เป็นเรื่องมหภาคครับ จากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่าง ๆ จะพบว่าในประเทศที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียง รัฐบาลที่มีคุณภาพ (ปราศจากการทุจริตและระบบการบริการที่มีประสิทธิผล) ประเทศปราศจากความรุนแรง ประชาชนในประเทศนั้น จะมีความสุขมากกว่าประเทศที่มีลักษณะตรงข้าม (น่าสงสัยนะครับว่า ประเทศไทยในรอบสามสี่ปีที่ผ่านมา ประชาชนจะมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือลดลง?)
ปัจจัยประการสุดท้ายเป็นเรื่องค่านิยมของแต่ละคนครับ (Personal Value หรือ Philosophy of Life) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ และเป็นเรื่องที่เรากำลังให้ความสำคัญในปัจจุบันครับ เนื่องจากความสุขของแต่ละคน ย่อมจะมาจากตัวเราเองครับ คนเราจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้น เมื่อพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่น เราจะพบความสุขจากภายในตัวเราเองครับ
มีงานวิจัยที่พบอีกครับว่า ผู้ที่เชื่อในศาสนาหรือพระเจ้า จะมีความสุขมากกว่าผู้ที่ไม่ศรัทธา ทำให้เกิดข้อสงสัยเหมือนกันนะครับว่า ความเชื่อนั้นนำไปสู่ความสุข หรือเมื่อเรามีความสุขแล้ว จะทำให้เราเชื่อ แต่ก็เชื่อว่า ปัจจัยทั้งสองประการมีส่วนสัมพันธ์กันครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ ปัจจัยทั้งหมดที่นำไปสู่ความสุข? จริง ๆ สิ่งที่ฝรั่งเขาคิดก็ไม่แปลกใหม่นะครับ เพียงแต่มีพื้นฐานมาจากงานวิจัยเป็นหลักครับ ทำให้มีสิ่งที่พิสูจน์หรืออ้างอิงได้ครับ นอกจากนี้ยังมีการพบอีกครับ เรายากที่จะมีความสุข ถ้าไม่มีการตั้งเป้าหมายต่าง ๆ ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายในเรื่องต่าง ๆ และพยายามเพื่อให้บรรลุเป้านั้น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขเหมือนกันครับ เหมือนกับหลักการด้านการบริหารจัดการเลยครับ ที่ต้องเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ยังพบอีกนะครับว่าถ้าเป้าต่ำเกินไปก็ทำให้เราเบื่อได้ง่ายครับ แต่ถ้าสูงเกินไปและยากที่จะบรรลุ ก็ทำให้เราหงุดหงิดครับ ดังนั้น เคล็ดลับก็คือเป้าจะต้องท้าทายแต่ก็ไม่ยากจนเกินไปครับ เป้าที่ไม่สามารถบรรลุได้ จะทำให้เราหดหู่ครับ แต่เป้าที่ต่ำเกินไปก็น่าเบื่อนะครับ