ปัญญาจากความว่าง
ภูมิปัญญาที่แท้จริงในขั้นวิปัสสนานั้นสามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของจิต โดยที่เราไม่สามารถบังคับควบคุมให้จิตคิดและพิจารณาอะไรต่อมิอะไรตามที่เรามีเจตนาน้อมนึกหรือคิดไปได้ ซึ่งหากเรายังคงมีอำนาจบังคับจิตใจของเรามีความคิดในการพิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือยังสามารถน้อมนึกไปพิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อยู่ แสดงว่านั่นยังไม่ใช่ภาวะของสมาธิจิตที่แท้จริง...
จิตที่ได้สมาธิในขั้นฌานสมาธิ (อันเป็นสมาธิในระดับที่สามารถใช้งานได้ ) จะมีอาการของความสงบ สว่าง มีปิติ มีความสุข มีอาการรวมเป็นหนึ่งเดียวของจิต จิตในอาการเช่นนี้จะสามารถตัดกระแสจากความรู้สึกภายนอก ความรู้สึกทางกายจะไม่ปรากฏให้รับรู้รับทราบ แม้กระทั่งลมกายใจก็ยังหาไม่เจอ ความคิดก็เริ่มไม่ปรากฏ มีแต่จิตดวงเดียวที่ยังมีกำลังส่องสว่างอยู่
อาการของสมาธิในขณะนั้นจึงไม่อาจน้อมนึกให้คิดหรือพิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ไม่ว่าจะเป็นฟัน ขน เล็บ หนัง หรืออะไรก็ตาม ย่อมไม่อาจน้อมนำจิตให้ไปพิจารณาในสิ่งเหล่านั้นได้
อาการของฌานสมาธิมีทั้งที่เกิดภูมิความรู้ในขั้นของวิปัสสนา และฌานที่ขาดภูมิความรู้ หรือที่เรียกว่า “ฌานว่าง” คือมีอาการว่างเป็นอารมณ์จิต ซึ่งฌานที่ติดว่างนี้เป็นฌานที่ไม่เกิดประโยชน์อันใด
โดยทั่วไปแล้วผู้ปฏิบัติแต่ละคนย่อมไม่อาจทราบได้ว่าเมื่อจิตของตนดำเนินมาจนถึงขั้นฌานนี้แล้วจิตของตนจะมีอาการเป็นเช่นไร?.....จะเกิดภูมิความรู้อันได้แก่ปัญญาธรรม หรือไม่เกิดภูมิปัญญาความรู้อะไร (มีแต่ความว่าง) เพราะสมาธิในขั้นตอนนี้เป็นสมาธิของความเป็นเอง คืออยู่เหนืออำนาจการน้อมนึกทางกายทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจะพัฒนาไปเองตามกำลังของจิต
จะว่าไปแล้วคนที่เกิดภูมิปัญญาในสมาธิก็เป็นเพราะบุญเก่าของเขามีมากพอแล้ว จึงส่งผลให้เกิดภูมิจิตภูมิธรรมและความรู้แจ้งปรากฏขึ้นภายในจิต ส่วนผู้ปฏิบัติที่จิตไปติดว่าง ไม่เกิดภูมิความรู้ในธรรมก็เพราะว่าบุญของเขายังไม่พอ บารมีธรรมยังไม่แก่กล้าพอ
สรุปได้ว่าอาการของจิตที่ได้สมาธิในขั้นนี้จะมีอยู่ด้วยกันสองประเภท หนึ่งคือภาวะสมาธิที่มีแต่ความว่าง อันเนื่องมาจากการที่อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ดังนั้นเมื่อจิตเข้าถึงสมาธิ จิตจึงเอาแต่ความว่าง เปรียบเสมือนเด็กที่ร่างกายยังไม่แข็งแรง หากจะให้ไปเรียนชกมวยจึงยังไม่มีความพร้อม ต้องรอจนกว่าร่างกาย (อินทรีย์) จะมีความแข็งแรงดีเสียก่อน
และสองคือ เมื่อจิตเข้าถึงภาวะฌานสมาธิแล้วกลับเกิดอาการผุดรู้ (เกิดความรู้ความเห็น เกิดภูมิปัญญา) ขึ้นเองตามธรรมชาติของจิต อันเป็นอาการของการผุดรู้โดยไม่มีรากฐานของการน้อมนำให้พิจารณาในภูมิแห่งความรู้นั้นๆ ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสะสมบุญมาแต่เมื่อครั้งอดีตกาล แล้วเฝ้ารอเวลาจนกระทั่งอินทรีย์มีอาการแก่กล้า จึงพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรม และปัญญาธรรม อันเป็นปัญญาแห่งการรู้แจ้งในธรรม
ผู้ปฏิบัติบางท่านอาจเคยประสบกับปัญหาจิตติดในฌานที่มีความว่างเป็นอารมณ์จิตและพยายามดิ้นเพื่อให้จิตไม่ติดว่าง ด้วยเพราะอยากมีภูมิปัญญาความรู้ จึงพยายามลดกำลังของฌานตนเองลงมาเพื่อให้จิตเสื่อมคุณสมบัติของฌานในขั้นนี้ ซึ่งพอจิตเริ่มเสื่อมคุณสมบัติของฌานลงมาจิตก็จะเริ่มมีความคิดปรากฏขึ้นภายในจิต ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติที่ยังอ่อนประสบการณ์เข้าใจว่าตนเกิดภูมิความรู้ให้จิตคิดพิจารณาตามขั้นภูมิของวิปัสสนาได้แล้ว จึงน้อมนึกไปยังฟัน ขน เล็บ หนัง เพื่อให้จิตมีเครื่องรู้และพิจารณาไปตามที่ได้ตั้งใจให้จิตพิจารณา
อันที่จริงแล้วอุบายการพิจารณา ฟัน ขน เล็บ หนัง เหล่านี้เป็นเพียงขั้นภูมิในการตกแต่ง เพื่อให้จิตบ่มเพาะเชื้อของการพิจารณาเอาไว้ภายในจิต เพราะเมื่อจิตเข้าถึงฌานสมาธิแล้ว จิตย่อมไม่อาจน้อมนึกไปพิจารณาสิ่งใดได้ แต่การที่เราได้ตกแต่งประเด็นการพิจารณาไว้เสียก่อนนี้ ย่อมเป็นเหตุให้จิตในภวังค์นำเอาประเด็นที่เราได้ตกแต่งไว้ก่อนแล้วนั้นเข้ามาสู่ขั้นภูมิของการพิจารณาได้ อันเป็นการพิจารณาด้วยความเป็นเอง อยู่เหนือการน้อมนึกใดๆทั้งสิ้น
ถึงแม้ว่าจิตจะเดินตามขั้นภูมิของการพิจารณาไปเอง แต่ขั้นภูมิที่เกิดจากการตกแต่งอุบายในการพิจารณานี้ก็ยังคงอยู่ในภูมิของสมมติบัญญัติโลกหรือโลกียะภูมิ ซึ่งยังคงต้องอาศัยสมมติบัญญัติโลกเพื่อความเข้าใจ จิตจึงยังคงเกิดภูมิความรู้แจ้งในเรื่องของโลก อันเป็นความจริงของโลกและมหาจักรวาลเท่านั้น ยังไม่ถึงโลกุตระภูมิอันเป็นภูมิที่เหนือโลกและเหนือสมมติ
ภูมิจิตในขั้นโลกุตระภูมิจะหลั่งใหลแบบสายน้ำที่ไหลต่อเนื่องกันไปไม่มีขาดตอน จนกระทั่งจิตก้าวพ้นโลก ความรู้ที่เกิดขึ้นมาใหม่จึงเลยสมมติเป็นภูมิความรู้ในโลกุตระภูมิ อันเป็นภูมิสูงสุดที่จะสามารถนำพาดวงจิตวิญญาณทั้งหลายให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ออกไปได้
จะเห็นได้ว่า ภูมิปัญญาอันเป็นของแท้ของจริงนั้นย่อมเกิดขึ้นมาจากความว่าง แต่หากยังคงน้อมนึกถึงสิ่งใดได้อยู่ ความรู้ที่เกิดขึ้นจึงยังไม่ใช่ของจริง พอจิตพ้นอาการทางโลกแล้ว จิตจึงเกิดภูมิความรู้อย่างใหม่ขึ้นมา ซึ่งภูมิความรู้นี้เองที่เป็นภูมิแห่งความรู้แจ้ง และเป็นความรู้ที่มีรากฐานมาจากความว่างอย่างแท้จริง