สมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญา : หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ส ม า ธิ เ ป็ น เ ค รื่ อ ง ห นุ น ปั ญ ญ า
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
ปัญญานั้นหมายถึงการถอดการถอน
การคลี่คลายดูสิ่งต่างๆ ให้เห็นตามความเป็นจริง
แล้วถอนไปโดยลำดับลำดาตั้งแต่กิเลสขั้นหยาบๆ
จนกระทั่งถึงขั้นละเอียดสุด หลุดพ้น
ท่านเรียกว่าปัญญาทั้งนั้น แต่เป็นขั้นๆ ของปัญญา
สมาธิเป็นเพียงทำจิตให้สงบเพื่อจะได้พิจารณาง่ายลงไป
ผิดกับการพิจารณาทั้งที่จิตพื้นฐานแห่งความสงบไม่ได้อยู่เป็นมาก
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้บำเพ็ญทางสมาธิ
ท่านเรียกว่าสมาธิอบรมปัญญา
ดังที่กล่าวไว้ในอนุศาสน์ สมาธิปริภาวิตา
ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา
สมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญา
ให้พิจารณาสิ่งทั้งหลายที่รู้ได้แจ่มแจ้งชัดเจนโดยลำดับลำดา
ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ
ปัญญาเมื่อสมาธิได้อบรมแล้วย่อมมีความคล่องตัว
คือได้รับการอบรม ได้รับความหนุนมาจากสมาธิแล้ว
ย่อมมีความคล่องตัวในการพิจารณาแยกแยะอารมณ์ต่างๆ
จนถึงกับตัดขาดได้ หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ
นั่นท่านว่า สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ
คือหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ
นี่หลักธรรมที่ท่านแสดงเป็นพื้นฐานอันตายตัวไว้เป็นจุดศูนย์กลางโดยแท้จริง
ท่านจึงสอนให้อบรมสมาธิเพื่อเป็นบาทเป็นฐาน
เพื่อจิตได้มีความสงบตัว มีความอิ่มตัวในอารมณ์ทั้งหลาย
อยู่ด้วยความสงบเย็นใจ
เมื่อจิตมีความสงบเย็นใจแล้ว
ย่อมพาพิจารณาอะไรเป็นการเป็นงานได้ดีกว่า
การใช้จิตพิจารณาทั้งที่จิตหาความเป็นสมาธิไม่ได้
แลกำลังหิวโหยในอารมณ์เป็นไหนๆ
การพิจารณาจิตที่ไม่เคยมีความสงบเลยให้เป็นปัญญา
มักจะเป็นสัญญาเถลไถลออกนอกลู่นอกทางอยู่เสมอๆ
ไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวอะไร จนถึงกับว่าไม่ได้เรื่อง
ท่านจึงสอนสมาธิเป็นบาทเป็นฐาน
เป็นเครื่องยืนยันว่าจะได้ผลในการพิจารณาทางด้านปัญญา
เมื่อสมาธิมีอยู่ภายในจิตใจแล้ว
ใจไม่หิวโหย ใจไม่รวนเร ใจไม่กระวนกระวาย
ย่อมทำหน้าที่การงานของตนไปโดยลำดับตามสติที่บังคับให้ทำ
จนถึงกับได้ปรากฏผลขึ้นมาเป็นปัญญาโดยลำดับลดา
จนถึงขั้นปัญญาที่เห็นเหตุเห็นผลแล้ว
และหมุนตัวไปเองโดยไม่ต้องถูกบังคับ
เหมือนตั้งแต่ก่อนที่เคยบังคับนั่นเลย นี่เป็นอย่างนี้
(คัดลอกบางตอนมาจาก : หลักเกณฑ์การปฏิบัติ สมาธิ-ปัญญา โดย ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙, หน้า ๙-๑๑)