ตายอย่างไรไม่ไปสู่อบาย
ตายอย่างไรไม่ไปสู่อบาย
คนกำลังใกล้ตาย การรักษาใจให้มีความเห็นชอบเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือเห็นสิ่งทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าของเรา ปล่อยวางให้เป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น เราอย่าเป็นเจ้าของสิ่งใดเลย เพราะสภาวธรรมทั้งหลายไมใช่ตัวตน อย่าไปเกาะกับสิ่งใดๆทั้งสิ้น อารมณ์ทั้งปวงเป็นตัวทุกข์
แล้วจะไม่ให้คิดสิ่งใดเลยหรือ?
ถ้าจะคิดก็ให้มันคิดด้วยปัญญา
คิดด้วยปัญญาคิดอย่างไร?
ถ้ามันรักมันเกลียดหรือกลัวอะไรขึ้นมา สิ่งที่ปรากฏนั้นก็สักว่าเป็นเพียงสภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมันการคิดด้วยปัญญาอย่างนี้มันไม่ทุกข์
ดังนั้นอะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปห่วงมันนัก พยายามปล่อยวางทั้งหมด ไม่ต้องเอาอะไร เอาแต่ความรู้สึกอันเดียว คือรู้สึกอยู่ที่จิต รู้สึกอยู่ที่กาย มีสติตามรู้เข้าไปที่ความรู้สึกนั้น เห็นกายส่วนหนึ่ง เห็นความรู้สึกส่วนหนึ่ง จิตผู้รู้ก็อีกส่วนหนึ่ง ทั้งสามส่วนนี้ล้วนเป็นธรรมชาติหมือนกันไม่มีสาระแก่นสารเพื่อการยึดถือแต่อย่างใด
จิตที่ปล่อยวางได้ คือจิตที่พ้นทุกข์
นี่คือข้อปฏิบติเพื่อรักษาใจให้มีความเห็นชอบ หากรักษาใจไม่ได้ เกิดความห่วงใยในทรัพย์สมบัติ ห่วงใยในลูกหลาน ถ้าตายลงในลักษณะแบบนี้ นับเป็นเรื่องน่าสลดสังเวชเหลือเกิน
เพราะกาลกิริยาที่มีความห่วงใยเป็นเหตุให้เกิดเป็นยักษ์ สุนัข แพะ โค กระบือ หนู ไก่ และนก เป็นต้น ในเรือนของตน พระพุทธเจ้าท่านทรงให้เราพิจารณาสังขาร คือร่างกาย จิตใจ ว่าทั้งสองอย่างนี้ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเป็นเพียงธรรมชาติ มันไม่เป็นไปตามปรารถนาของใครทั้งนั้นมันอยากเจ็บมันก็เจ็บมันอยากปวดมันก็ปวด
เราโง่ไปรักมันทำไม!
แยกจิตออกมาเสีย คือออกมารู้ทุกข์อย่าเข้าไปเป็นทุกข์
อริยสาวกท่านยอมรับว่ากายนี้มันไหวไปตามเรื่องของมันเป็นหนุ่มแล้วมันก็แก่แก่แล้วก็เจ็บ เจ็บแล้วก็ตายสังขารมันทำตามหน้าที่ของมันให้ทรุดลงไปเรื่อยๆอย่างนี้แหละแต่เราไม่เห็นธรรมชาติอันนี้ เลยเข้าใจว่าเราแก่ เราเจ็บ เราตายกิเลสก็เบียดเบียนกัดกินเราเรื่อยไป
ฉะนั้น ปล่อยวางสังขารเสียมันไม่มีเราอยู่ในนั้นจริงๆสิ่งที่เราสัมผัสสัมพันธ์ล้วนเป็นธรรมชาติเป็นของกลางทั้งนั้น ความเกิดเป็นของกลาง ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็เป็นของกลางผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นของกลางทั้งนั้น เอาจิตไปอยู่กับของกลางเหล่านี้ในนั้นไม่มีดีไม่มีชี่ว ไม่มีอะไรสักอย่าง มันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอันใดกับเราเลย จิตสักว่าจิต ธรรมสักว่าธรรม
เราประพฤติปฏิบัติธรรมมาตลอดชีวิตก็เพื่อถอดแว่นตาดำออกจากจิตอันนี้เองจะได้มองทุกสิ่งตรงตามความเป็นจริง บังเหียนของชีวิตมันอยู่ตรงนี้นี่คือจุดยืนของชีวิตที่ปลอดภัยอย่างยิ่ง
---------------
คัดลอกจากหนังสือโลกทิพย์ ปีที่ 25 ประจำเดือนพฤษภาคม 2549
โดย อาปาสันติ