"การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องง่ายนิดเดียวที่ใกล้ตัว ไม่จำเป็น ต้องไปวัด ไปที่ปฏิบัติธรรมก็ทำได้" เป็นคำพูด ที่มักได้ยินกันบ่อยๆ แต่ไม่บอกรายละเอียดว่า จะปฏิบัติอย่างไรดี หรือบางทีผู้รู้ท่าน แนะนำ เราก็ไม่สนใจที่จะยอมลงมือปฏิบัติสักที ทำให้เสียโอกาส ที่จะมีประสบการณ์อันเป็นผลจากการปฏิบัติได้ จึงทำให้ความสนใจ และใส่ใจต่อการปฏิบัติไม่มี ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามที่จะเป็น ปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตประจำวัน รุมเร้า เผาผลาญ จิตใจ จนที่สุดก็ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จิตใจสับสน วุ่นวาย
ยิ่งเมื่อเจอปัญหาเข้ามาในชีวิตแม้น้อยนิด ก็รับไม่ไหว กลายเป็น เรื่องใหญ่โต กลุ้มอกกลุ้มใจ แก้ไม่ตก นั่งคิด นอนคิด อยากตาย จนเป็นปัญหาวุ่นวายในสังคมปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ก็เนื่อง ด้วยว่า เราขาดการปฏิบัติแบบง่ายๆ อันเป็นพื้นฐานรายวันที่จะทำให้จิตใจสงบและมั่นคงนั่นเอง
วันนี้อยากนำท่านสู่โลกแห่งความเป็นจริงของชีวิต อย่าอยู่แค่ความรู้สึก หรือแค่ความคิด และความฝันเท่านั้น ขอให้อยู่กับ ความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญ และเป็นอยู่ ณ ขณะนี้ เวลานี้ เมื่ออ่านแล้วขอให้ลงมือปฏิบัติทันที อย่ารีรอ ถ้าจะให้ดี ตัดบทความนี้ติดไว้ในบันทึก และนำมาอ่านเตือนใจ ฝืนอารมณ์ความรู้สึกเดิมๆ ตนเอง และยั้งอารมณ์แห่งฉันทะความพึงพอใจ ที่จะเริ่มปฏิบัติให้เกิดให้ได้ หากมีปัญหาข้อสงสัยรีบปรึกษาท่านผู้รู้ทันที
หลักการปฏิบัติกรรมฐาน อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความสงบใจ ๑๐ วิธี เรียกว่า อนุสติ ๑๐ คือ อารมณ์ควรระลึกถึง ๑๐ ประการ เป็นอุบายวิธีกำหนดอารมณ์ ก่อให้เกิดความสงบใจที่ได้ผลดังนี้
๑.พุทธานุสติ นึกถึงพระพุทธเจ้า แม้พระองค์ปรินิพพานนานมาแล้ว แต่ว่าพระคุณของพระองค์ยังอยู่ พระพุทธเจ้าที่เรา นึกถึงไม่ใช่เพียงแค่เจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ ที่ทรงได้บรรลุธรรมเท่านั้น แต่หมายถึง พระพุทธเจ้าในอดีตเป็นแสนๆ พระองค์นับไม่ถ้วน และจะมาอุบัติในอนาคตอีกนับไม่ถ้วน ก็ยังเป็นเช่นนี้ พระองค์มีพระคุณอันประเสริฐต่อมวลมนุษย์ (ดูความหมายคำแปลจากพุทธคุณ บทอิติปิโส..) จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จนองค์การสหประชาชาติให้การยอมรับว่า วันที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน นั้นเป็นวันสำคัญของโลก
๒.ธรรมานุสติ การระลึกถึงพระธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงได้แสดงแล้ว ว่าเป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ด้วยตนเอง ควรน้อมนำมาปฏิบัติ และพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตก็ทรงแสดงธรรม
๓.สังฆานุสติ ระลึกถึงพระอริยสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เราระลึกน้อมถึงนั้น ท่านเน้นเอาพระอริยบุคคล ไม่ใช่พระสมมติสงฆ์ที่มีปัญหาวุ่นวายอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันทุกวันนี้ เรายอมรับในความพากเพียรพยายาม ของท่านเหล่านั้น ที่ท่านสามารถยกระดับจิตใจตนเองจากปุถุชนธรรมดาสู่ระดับอริยชนได้ เป็นตัวอย่างที่ดีให้เรา ได้ศึกษาเรียนรู้บทบาทประสบการณ์ของแต่ละท่าน พร้อมที่เราจะเดินตาม
๔.สีลานุสติ นึกถึงว่า วันนี้เรารักษาศีลยังบริสุทธิ์อยู่หรือ ถ้ายังก็ให้รีบระวัง อย่าให้ผิดอีก นึกทีไรให้สบายใจเสมอ ไม่ต้องมาตะขิดตะขวงใจภายหลังว่า เราพลาดข้อนั้นข้อนี้ ถ้าศีลเราบริสุทธิ์ ใจก็สดใส สบายและมั่นใจ
๕.จาคานุสติ นึกถึงสิ่งที่เราได้เสียสละ บริจาค ช่วยเหลือ ว่า ที่ผ่านๆ มาได้ทำอะไรอันเป็นส่วนแห่งการเสียสละไว้บ้าง เช่น ได้ช่วยสร้างโรงพยาบาลรักษาคนยากจน หรือวันนี้ได้สละละอารมณ์โกรธกับเพื่อนร่วมงานได้ เป็นต้น ก็ให้หมั่นนึกถึง และพอนึกทีไรก็สบายใจทุกที
๖.เทวตานุสติ นึกถึงเทวดา ตามความเชื่อของชาวพุทธ คำสอน และหลักฐานคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนายืนยันแน่นอน ถึงความมีอยู่ของเทวดา ก็คือ องค์เทพยดาทั้งหลาย ที่ท่านอยู่ในภพภูมิภาวะอันเป็นทิพย์ ผู้มีสภาวะอันละเอียดและสูงกว่าเหล่า มวลมนุษย์ทั้งหลาย ท่านยังมีอำนาจเหนือมนุษย์ปุถุชน สามารถให้โทษบันดาลคุณแก่มนุษย์ปุถุชนทั้งหลายได้ สิ่งที่เราคิดที่เราทำ เทวดาท่านรู้ท่านเห็นพอๆ กับสิ่งที่ตัวเรารู้เราเห็นนั่นแหละ
๗.มรณานุสติ นึกถึงความตาย อันจะมีมาถึงเรา ภัยคือความตาย เป็นภัยอันใหญ่หลวงของมนุษย์ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย ขอให้เราปรับและทำใจ รับรู้ถึงความเป็นจริงของชีวิต ต้องยอมรับความเป็นจริงในข้อนี้ให้ได้ นึกให้เกิดความเคยชิน จนได้รู้จักอารมณ์แห่งความตายได้ และกลายเป็นเพื่อนกับความตาย เมื่อรู้จักกันและคุ้นเคยกันกับความตายแล้ว เพื่อนย่อมช่วยเพื่อนยามมีทุกข์แน่นอน
๘.กายคตาสติ การระลึกถึงร่างกายของเรา ให้ทราบถึงความเป็นจริงว่า มีส่วนที่ไม่งาม ไม่น่าดู อย่ามัวแต่ตกแต่งตัวจนลืม ความเป็นจริง ว่าทุกส่วนของร่างกายนั้นจริงๆ แล้วเป็นที่รวมแห่งความสกปรก ให้ละความยึดติดในร่างกายลงไปเสียบ้าง สักวันร่างกายก็ต้องถึงวันสูญสลาย แล้วจะหาทางป้องกันและรักษาอย่างไรดี
๙.อานาปานสติ การตั้งสติกำหนดลมหายใจ ลมหายใจอยู่กับตัวตลอดเวลา เป็นการใช้สื่อที่มีอยู่กับเราใกล้ตัวไม่ต้องอาศัย ปัจจัยภายนอกอะไร ก็กำหนดเจริญภาวนาปฏิบัติธรรมได้ กำหนดลมหายใจเข้าออก ดูลม เห็นลม ว่าเข้าหรือออก วันละห้านาทีสิบนาที ก่อนนอน ยามเช้าหรือยามว่างๆ จากเวลาทำงาน ไม่ต้องนั่งเท้าขวาทับเท้าซ้ายก็ได้ นั่งบนโต๊ะทำงานนั่นแหละ นั่งตัวตรงๆ หายใจเข้าออกลึกๆ สัก ๒-๓ ครั้งแล้ว พิจารณาดูลมหายใจตัวเองบ้าง จะได้รู้สึกว่าโชคดีนะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ถ้าไม่มีแล้วจะเป็นเช่นไรหนอ
๑๐.อุปสมานุสติ การระลึกถึงคุณพระนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นที่สงบระงับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้
ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ให้เลือกข้อใดข้อหนึ่งระลึกแต่ละวันก็ได้ หรือถ้านึกทั้ง ๑๐ ข้อได้ก็ยิ่งดี จะตื่นนอนยามเช้าๆ ก่อนออกไปทำงานนอกบ้าน หรือก่อนนอนก็ได้สัก ๕ นาที ๑๐ นาที ก็ยังดี และที่สำคัญให้ต่อเนื่องมีสัจจะจริงใจต่อตนเอง ตั้งใจให้ดีว่าจะประคับประคองตนเองให้มีความรู้สึกดีๆ
เมื่อยามที่นึกได้ ท่านก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม โดยไม่ต้องไปเสียเวลาที่ไหน เพราะธรรมะอยู่ใกล้ตัว หากท่านพร้อมก็สามารถปฏิบัติได้เลย แล้วท่านจะมีความภาคภูมิใจว่าชีวิตเรามีค่าและสติก็จะเริ่มมั่นคงไม่หลงนั่นลืมนี่ เมื่อเจอปัญหาก็มีสติรู้เท่าทันมองหาทางออกได้ไม่จนใจ และเราก็จะอยู่กับความเป็นจริงและสนุกพอใจกับชีวิตเราเองมากยิ่งขึ้น
นี่แหละเป็นเส้นทางมุ่งสู่สัจธรรมแห่งชีวิตอย่างแท้จริง นับว่าท่านได้จุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีแล้ว
แค่ระลึกได้...ก็ได้ปฏิบัติธรรม
แค่ระลึกได้...ก็ได้ปฏิบัติธรรม
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!