การบวชอยู่ที่บ้าน

การบวชอยู่ที่บ้าน


บางคนจะสงสัยว่า บวชทำไมอยู่ที่บ้าน? มันก็พอจะตอบได้ว่า เราทำอย่างเดียวกัน ในวัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายของคำว่า บวช แปลตามตัวหนังสือ ก็ว่า เว้นหมดจากที่ควรเว้น ก็คือ เว้นจากการปฏิบัติหรือการเป็นอยู่ชนิดที่เป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นไปเพื่อความทุกข์ เราจะเว้นเสียโดยเด็ดขาด; ไม่ทำในใจว่า อยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่วัด แต่ว่าโดยแท้จริงก็อยู่ที่บ้าน แต่ไม่ต้องทำในใจว่า อยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่วัด, ทำในใจแต่การประพฤติปฏิบัติ ให้ตรงตามความหมายนั้นเท่านั้น คือว่า เว้นหมดจากสิ่งที่ควรเว้น ในทุกๆระดับ.

หรือแม้ว่าเราจะอาศัยคำอีกคำหนึ่ง คือคำว่า พรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติประเสริฐ, ประพฤติอย่างพรหม ก็ไม่ได้จำกัดว่าที่บ้านหรือที่วัด ถ้าประพฤติได้ก็ประพฤติ; อย่างจะถือศีลพรหมจรรย์อยู่ที่บ้าน ศีล 8 ศีล 10 นั้นก็ยังถือได้ คำว่า พรหมจรรย์ นั้นมีความหมายว่า การประพฤติอย่างเต็มที่หรือเคร่งครัด ติดต่อกันเป็นระยะยาว เป็นการปฏิบัติตลอดชีวิต อย่างนี้ก็ยังได้ พูดกันง่ายๆ ว่า ประพฤติพรหมจรรย์ที่บ้าน มันก็ยังทำได้.

ทีนี้เมื่อบุคคล บางคนไม่อาจจะออกไปบวช หรือว่าเป็นสตรี ไม่อาจจะบวชเป็นภิกษุณี ก็เสียใจ หรือน้อยใจ อย่างนี้ก็มี, หรือด้วยเหตุอย่างอื่นออกไปบวชไม่ได้ อย่างนี้ก็มี, ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องน้อยใจ, พยายามประพฤติปฏิบัติในธรรมะ ซึ่งเป็นการปฏิบัติให้ดีที่สุดให้สูงที่สุด ตามที่จะทำได้ ก็จะเป็นการบวชอยู่ที่บ้าน เรียกว่า บวชอยู่ที่บ้าน. ฟังดูให้ดีๆ เพราะบวช นั้นคือการเว้นเสียจากสิ่งที่ควรเว้น, พรหมจรรย์นั้น หมายถึงการประพฤติข้อธรรมอย่างจริงจังเคร่งครัด แม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ถ้าทำอย่างเคร่งครัดติดต่อกันจนตลอดชีวิต ก็เรียกว่า พรหมจรรย์ได้เหมือนกัน. เดี๋ยวนี้เราจะถือเอาหลักปฏิบัติตามที่มีอยู่อย่างไรในพระพุทธศาสนานั้น เอามาถือไว้เป็นหลักปฏิบัติ ก็จะทำให้เกิดผลอย่างเดียวกัน กับพวกที่บวชออกไปอยู่ที่วัด หรือไปอยู่ที่ป่า, และในบางกรณี บวชอยู่ที่บ้าน จะทำได้ดีกว่าบางคนหรือบางพวก ที่ไปบวชเหลวไหลอยู่ที่วัด หรือแม้อยู่ในป่า ด้วยเหตุนี้แหละพอที่จะกล่าวได้ว่า เรื่องสถานที่นั้น ก็ไม่ได้สำคัญเด็ดขาด อะไรนัก, มันสำคัญหรือเด็ดขาดอยู่ที่การประพฤติกระทำมากกว่า ซึ่งขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังให้ดีๆ ว่า การบวชอยู่ที่บ้านนั้น จะบวชกันได้อย่างไร?



หลักปฏิบัติในการบวชอยู่ที่บ้าน


การบวชอยู่ที่บ้านนั้น ก็ต้องอาศัยหลักธรรมะที่เป็นเนื้อแท้ หรือเป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่เป็นหลักชัดเจนตายตัว ในที่นี้ จะเลือกเอามาสักหมวดหนึ่ง สำหรับยึดเป็นหลักปฏิบัติ แต่ก็มิได้เลือกเอาหมวด เช่น อริยอัฏฐังคิกมรรค เป็นต้น นั้นมันเป็นหลักทั่วไป ที่วัดก็ได้ ที่ไหนก็ได้, จะเอาชนิดที่สูงขึ้นไป ละเอียดขึ้นไปกว่านั้น คือหมวดธรรมที่มีชื่อว่า อินทรีย์ทั้ง 5, จำไว้ให้ดี.

อินทรีย์ทั้ง๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ๕ อย่างนี้ แต่ละอย่างเรียกว่า อินทรีย์. คำว่า อินทรีย์ แปลว่า สำคัญ ตัวการสำคัญ หลักการสำคัญ, ธรรมะทั้ง ๕ ข้อนี้ จะมีอยู่ในการปฏิบัติทั่วไป, จะทำสมาธิหรือเจริญภาวนาอย่างไร ก็ต้องทำให้มีอินทรีย์ครบทั้ง ๕.

ขอให้ฟังให้ดีว่า จะปฏิบัติธรรมะพวกไหนก็ตาม จะต้องปฏิบัติให้มีอินทรีย์ ในคำเหล่านั้น ครบทั้ง ๕ ที่เรียกว่า ๕, ๕ นี้ ก็คือ สัทธาวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ดังที่กล่าวแล้ว.

๑. มีสัทธา-เชื่อในธรรม เป็นเครื่องดับทุกข์. ข้อแรก คือ สัทธา แปลว่า ความเชื่อ บวชอยู่ที่บ้านก็มีความเชื่อในธรรมะนั้นๆ ถึงที่สุด. เชื่อในอะไร? ถ้าถามว่า เชื่อในอะไร? ก็คือ เชื่อในธรรมที่เป็นเครื่องดับทุกข์ ที่รู้กันทั่วไป ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ อริยอัฏฐังคิกมรรค มีองค์ ๘ นี้ เป็นธรรมที่ดับทุกข์. เราได้ศึกษาแล้ว เห็นแล้ว มีความเชื่อว่าธรรมเหล่านี้ดับทุกข์ได้จริง หรือว่า ธรรมเหล่านี้เป็นที่พึ่งได้จริง, เชื่อลงไปเสียทีหนึ่งก่อน.

แล้วก็เชื่ออีกทีหนึ่ง คือ เชื่อตัวเอง ว่า ตัวเองนี่สามารถที่จะปฏิบัติธรรมะเหล่านั้น ในเนื้อในตัวของตน มีความถูกต้องเหมาะสมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมะเหล่านั้น, นี่ก็เป็นอีกเชื่อหนึ่ง รวมกันเป็น ๒ เชื่อ: เชื่อในสิ่งที่จะประพฤติปฏิบัติว่าดับทุกข์ได้, แล้วก็เชื่อว่า ตัวเองมีคุณธรรมที่จะดับทุกข์เหล่านั้นได้อย่างเพียงพอ.

นี่ มีศรัทธา อย่างนี้ แล้วก็อยู่ที่บ้าน บวชอยู่ที่บ้าน มันก็พอที่จะทำให้เกิดอำนาจ เกิดกำลัง กำลังภายในก็ได้, ใช้คำอย่างนี้กับเขาบ้าง. เกิดอำนาจเกิดกำลังในการที่จะปฏิบัติธรรมะเหล่านั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหลักทั่วไป; เช่นว่า รับศีล เอาไป ไปถือที่บ้าน ก็ต้องทำให้เป็นศีลของบุคคลที่มีศรัทธาอย่างแน่นแฟ้น แน่วแน่ โดยเชื่อว่า ศีลนั้นเป็นเครื่องดับทุกข์ได้, แล้วก็เชื่อว่า ตัวเองสามารถรักษาศีลได้ ให้มีความเชื่ออย่างนี้เถิด ก็จะเป็นผู้มีศรัทธา, แล้วก็มีอาการเหมือนกับว่า เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างยิ่ง มีความหนักแน่น จริงจัง เคร่งครัดในการปฏิบัตินั้นๆ.

ทีนี้ก็ปล่อยให้ศรัทธานั้นแหละ ดำเนินไปตามที่ควรจะมีในแต่ละวันๆ อำนาจของศรัทธา ทำให้มีการประพฤติจริง ทำจริง ถึงที่สุดแล้วก็มีกำลังใจที่เกิดมาแต่ศรัทธานั้นมากมาย ประพฤติปฏิบัติได้เต็มที่.

เดี๋ยวนี้ คนมีศรัทธากันแต่ปาก มีศรัทธากันแต่ผิวๆ ว่ามีศรัทธา มีศรัทธา แต่หาได้มีศรัทธาตัวจริงแท้ แท้จริงตามที่กล่าวมานี้ไม่, คือไม่ได้เชื่อแม้ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยแท้จริง, แล้วก็ไม่ได้เชื่อว่า ตัวเองจะสามารถประพฤติปฏิบัติได้ ตามคำสอนเหล่านั้น. มาจัดการกันเสียใหม่ มาชำระสะสางกันเสียใหม่: อยู่ที่บ้าน แต่ให้มีศรัทธาเต็มเปี่ยมทั้ง ๒ ประการ คือมีศรัทธาในธรรมะ ที่จะประพฤติว่าดับทุกข์ได้จริง แล้วมีศรัทธาในตัวเอง, ตัวเองนั่นแหละ ว่าสามารถที่จะปฏิบัติธรรมะเหล่านั้นได้, รวมกำลังกันเป็น ๒ ฝ่ายอย่างนี้แล้ว ก็เป็นศรัทธาที่สมบูรณ์อยู่ที่บ้าน ก็มีลักษณะอาการเหมือนบวชอยู่ที่บ้าน.



ธรรมะพุทธทาส
ที่มา
http://www.buddhadasa.com/shortbook/homesika.html


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์