หยุดใจให้ไร้อยาก
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)
สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
นมัตถุ รตนัตตยัสสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ต่อไปนี้จงตั้งใจฟังธรรมพร้อมกับการปฏิบัติธรรม เจริญสติสัมปชัญญะ พร้อมกับการฟังธรรมก็จะได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น ได้ประโยชน์ทั้งในส่วนของความรู้จากการฟัง เรียกว่า สุตมยปัญญา ได้ประโยชน์ทั้งในส่วนของความคิดพิจารณาระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฎในขณะ นี้ จนรู้แจ้งตามความเป็นจริง เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา ปัญญาก็มีสามระดับคือ หนึ่งระดับจากการฟัง สองระดับจากการคิด สามระดับจากการรู้เห็นเฉพาะหน้า คือ เมื่อมีสติระลึกรู้สภาวะธรรมที่กำลังปรากฏก็เกิดปัญญา มีปัญญาปรากฏเกิดขึ้นเป็นภาวนามยปัญญา
เรื่องการประพฤติปฏิบัติส่วนมาก นักปฏิบัติก็มัดจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องว่า "ปฏิบัติแล้วไม่สงบ" "อยากจะสงบ" เจริญกรรมฐานอยากให้จิตใจสงบ บางครั้งบางคราวเคยได้รับความสงบจิตใจได้รับความสงบก็อยากจะให้ความสงบนั้น เกิดขึ้นอีก ทำกรรมฐานทีไรก็อยากจะสงบอย่างนั้นอีก พอมันไม่เป็นไปตามความปรารถนาก็ยิ่งเกิดความวุ่นวายใจ เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความเบื่อหน่ายท้อถอยต่อการที่จะฝึกหัด ต่อการที่จะประพฤติปฏิบัติ
ทำไมบุคคลจึงเกิดความฟุ้งมากขึ้น ทำไมจึงเกิดความท้อถอยมากขึ้น นั่นก็เพราะว่ามีความอยาก มันเป็นตัณหาเข้ามาในการปฏิบัติ เคยได้รับความสงบแล้วก็ทำ แล้วก็เกิดความอยากสงบ เกิดความติดใจ เกิดความอยากที่จะให้จิตใจอยู่ในความสงบ เป็นตัณหา เป็นธรรมตัณหา เป็นโลภะที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติ ความอยากในที่นี้ ไม่ใช่ไปอยากได้เงินได้ทอง ไม่ได้ไปอยากที่จะต้องการยศลาภชื่อเสียงอะไร แต่ว่าอยากสงบ อยากในธรรมนั่นเอง อยากสมาธิ มันก็ยังเป็นกิเลส ยังเป็นอกุศลอยู่ ความอยากนี่แหละมันไปเสริมให้ความไม่สงบกระจายตัวมากขึ้น คือความฟุ้งซ่านจะมีมากขึ้นเพราะว่าไม่สมความปรารภนา
อยากสงบแล้วมันไม่ยอมสงบก็จะเกิดความเดือดดาลใจ เกิดความคับแค้นใจ เกิดความน้อยใจ มันก็เป็นกิเลสอีกชนิดหนึ่ง ประเภทโทสะที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ คือ ฟุ้งซ่าน มันเลยผสมมันเลยสนับสนุนกิเลสกันไปใหญ่ ความท้อถอยก็ตามมา เพราะว่ามันไม่ได้อย่างใจ เกิดความท้อถอยเบื่อหน่ายไม่มีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติ อันนี้มันก็เป็นกิเลสเรียกว่าถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ท้อถอย ความเซื่องซึมท้อถอยของจิตของเจตสิก ท่านจัดเป็นนิวรณ์ข้อหนึ่ง เรียกว่าถีนมิทธะนิวรณ์ เป็นเครื่องกั้น คือเป็นเครื่องกั้นความดีที่จะเกิดขึ้น ฟุ้งซ่านก็เป็นนิวรณ์เป็นเครื่องกั้น รำคาญใจก็เป็นนิวรณ์ ความคับแค้นใจก็เป็นนิวรณ์ มันจะรุมมาเกิดขึ้นในจิตใจ ฉะนั้นต้นเหตุมันก็มาจากความอยาก มาจากความอยากที่จะให้ได้อย่างนั้น จะให้ได้อย่างนี้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ ถ้าจะดับก็ดับที่เหตุ ความทุกข์ทั้งหลายมาจากเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหา ความอยากทะยานอยากได้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การจะแก้ปัญหา แก้ทุกข์ การจะดับทุกข์ ก็คือต้องไปแก้ที่เหตุ ต้องทำลายเหตุแห่งทุกข์คือ ตัณหาความทะยานอยาก อยากมีอยากเป็น อยากในกาม อยากไม่มีอยากไม่เป็น เวลามันมีอารมณ์ไม่ดีเกิดขึ้นก็อยากให้มันหมดไป อยากให้มันสิ้นไป ไม่เอาไม่ต้องการ อยากให้มันพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ มันก็เป็นกิเลสเป็นตัณหา ตัณหามีสามอย่างคือ กามตัณหา ความต้องการติดใจในกามคุณอารมณ์ อยากได้รูปสวยเสียงเพราะกลิ่นหอมรสอร่อยสัมผัสนุ่มนวลเป็น "กามตัณหา" อยากมีอยากเป็นอยากได้อย่างนั้นอยากได้อย่างนี้เป็น "ภวตัณหา" อยากให้มันไม่มีไม่เป็นให้มันหมดไป สิ่งที่ไม่ชอบใจให้มันไป ให้มันหมดไป ปฏิเสธผลักไสผลักดัน มันก็เป็น "วิภวตัณหา" เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ในจิตใจที่วุ่นวายเป็นทุกข์เมื่อสาวไปแล้ว มันก็มาจากกิเลส มาจากโลภะ มาจากตัณหาก็ต้องไปดับตัณหาไปทำลายตัณหาให้สิ้นซาก เมื่อเวลาประพฤติปฏิบัติจึงต้องรู้เท่ารู้ทันต่อตัณหาที่จะเกิดขึ้น ต้องพิจารณาในจิตใจว่าขณะนี้มีความทะยานอยากไหม มันมีตัณหาประเภทไหนเกิดขึ้น อยากสงบมันก็เป็นตัณหา เป็นการอยากมีอยากเป็นอยากได้ความสุข อยากได้ความสงบ มีตัณหาเข้ามาแล้ว ถ้าเราปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้ มันไม่สงบดังใจขึ้นมามันก็จะเกิดความเดือดดาลใจ เกิดความวุ่นวายใจยิ่งขึ้น ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องอ่านจิตใจตัวเองให้ออกว่าขณะนี้มีตัณหาไหม มีความทะยานอยากไหม ถ้ามีก็ต้องแก้ไข แก้ไขอย่างไร อันดับแรกก็คือ "รู้ทัน" รู้ลักษณะของตัณหาที่เกิดขึ้นแล้วก็ "ละวาง" ฝึกหัดการเจริญสติสัมปชัญญะให้มันหลุดรอดหลุดพ้นจากตัณหาเรียกว่าให้มันมี ความปล่อยวาง ฝึกหัดการให้มันมีความปล่อยวาง
ใน เบื้องแรกต้องทำความเข้าใจว่า เราจะปฏิบัติอย่างไม่อยากได้อะไร อะไรจะเกิดขึ้นก็ตามก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยของธรรมชาติที่มันจะเกิด มันจะเกิดมันจะดับก็แล้วแต่มัน จะทำหน้าที่เป็น "เพียงผู้ดู" เป็นเพียง "ผู้รู้เท่านั้น" จะไม่มีความอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตใจมันหลุดจากความอยากจะพบความเบาจะพบความสงบ ความเบาใจมันจะเกิดขึ้น จิตที่มันมีความขุ่นมัวเศร้าหมองนั่นเพราะมันมีความอยากเคลือบจิตอยู่ มันเป็นนิสัยมันเคยชินปุถุชนมันมีตัณหาติดอยู่ในจิตใจอยู่เสมอ จะทำอะไรจะคิดอะไรมันจะเป็นไปด้วยความอยากตลอด ฉะนั้นเรามาปฏิบัติมาฝึกหัดละตัณหาไม่ให้มันมีความอยาก เจริญกรรมฐานก็ใช้สติสัมปชัญญะระลึกรู้เท่าทันต่อสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ คือรูปธรรม นามธรรมที่ปรากฏ
ในขณะที่ระลึกรู้รูปนามอยู่นั้นก็คอยระวังไม่ให้มีตัณหาเข้าไป จะให้มันมีแต่ระลึกอย่างบริสุทธิ์ พิจารณาอย่างบริสุทธิ์ ไม่มีความอยาก สภาพของจิตมันเป็นอย่างไร มันมีอารมณ์อันใด อารมณ์จะดีก็ตามไม่ดีก็ตาม ก็ทำหน้าที่ระลึกรู้ไปอย่างไม่มีความอยากได้หรืออย่างปฏิเสธ ดูแค่ดู รู้แค่รู้ การเจริญวิปัสสนาต้องฝึกจุดนี้ให้ได้ เป็นส่วนสำคัญ ฝึกหัดปฏิบัติไป ดูแลรักษาสภาพของจิตใจไม่ให้มันมีความอยาก มันเผลอเกิดความอยากก็แก้ไขเสียปล่อยวางเสีย ฝึกหัดให้มันปล่อยให้มันวาง ให้จิตใจมันเป็นธรรมดา ให้มันเป็นปรกติ ให้มันเป็นเพียงแค่ดู แค่รู้ ถ้าฝึกได้ ฝึกจิตใจให้มันปลอดจากตัณหาจะพบว่าจิตใจมันพร้อมที่จะเบิกบานของมัน
จิตใจมันพร้อมที่จะผ่องใส จิตใจมันพร้อมที่จะปลอดโปร่งของมัน เพราะว่าอะไร เพราะว่าตามธรรมดาสภาพของจิตเดิมโดยเฉพาะสภาพของจิตล้วนๆ ในสภาพจิตใจของมันเองมันเป็นสภาพที่ประภัสสรอยู่แล้ว คือผ่องใส จิตเดิมมันประภัสสรผ่องใส แต่นี่มันมาเศร้าหมองขุ่นมัวเพราะมันมีกิเลสจรเข้ามา มีตัณหา มีโทสะ โลภะ โมหะเข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะตัณหาครอบงำเชื่อมจิตอยู่เสมอ ทำให้จิตใจมันเศร้าหมอง ถ้าปฏิบัติไม่ต้องไปหวังอะไร เพียงแต่เจริญสติให้มันปลอดจากความอยากได้ ทำไปแค่รู้ ดูไปแค่ดู ไม่มีความทะยานอยาก มีความวางเฉยมีความปล่อยอยู่ "ตัวที่มันมีการปล่อยอยู่นั้นมันทำให้หลุดรอดจากความอยาก" เราก็จะพบว่าจิตมันผ่องใสขึ้นจะเริ่มรู้ตัวเข้าสู่สภาพความปลอดโปร่งของมัน ผู้ปฏิบัติจะพบได้จะสังเกตได้
เรามาปฏิบัติมัวแต่วิ่งหาตัณหาอยากได้ความสงบ ความสงบความสะอาดความผ่องใสของจิตมันอยู่แค่ หยุด ความอยาก แค่ละความอยากตรงนี้เองมันก็โปร่งเบาขึ้นมาเอง เหมือนคนที่วิ่งไป วิ่งค้นหาไปแล้วไปบ่นว่าเหนื่อย เหนื่อย เหนื่อยแล้วก็วิ่งไป วิ่งหาสภาพที่มันไม่เหนื่อย แต่ก็ยังวิ่งหาอยู่ การที่มันจะไม่เหนื่อยก็คือหยุดซะ หยุดซะมันก็ไม่เหนื่อย ตานี้วิ่งหาค้นหาขวักไขว่ก็บ่นว่าเหนื่อย เหมือนกับความอยากที่มันแล่นไป มันก็เศร้าเหมอง เบื่อหน่ายเศร้าหมอง ทุกข์ ความอยากก็นำมาซึ่งความยุ่งยาก ถ้าหยุดอยากมันก็ไม่ยุ่งยาก มีอยากมันก็มียาก ถ้าไม่อยากมันก็ไม่ยาก
จิตอุปมาเหมือนกับน้ำ จิตมันเหมือนกับน้ำ น้ำในแม่น้ำลำคลองที่ตักขึ้นมาจะเห็นว่ามันขุ่นมัวมันสกปรก ที่มันสกปรกนั้นไม่ใช่ตัวน้ำ มันสกปรกเพราะมันมีสิ่งปฏิกูลต่างๆ เข้าไปผสมในน้ำต่างหาก ตัวน้ำจริงๆ นั้นจะบริสุทธิ์เหมือนกับจิตเดิมมันบริสุทธิ์ จิตมันประภัสสรของมันอยู่ แต่มันมาเศร้าหมองขุ่นมัวเพราะมันมีกิเลสต่างๆ เข้ามา ฉะนั้น น้ำที่ตักขึ้นมาเอาขึ้นมาจากแม่น้ำลำคลองนี้ ถ้าเราสามารถกลั่นกรองเอาสิ่งปฏิกูลตะกอนต่างๆ ออกไปจากน้ำได้ น้ำก็จะคืนสภาพธรรมชาติของมันคือใสสะอาด ความใสสะอาดบริสุทธิ์ มันก็ไม่ได้มาจากไหนมันก็อยู่ของมันอยู่อย่างนั้นแหละ
ที่เราตักใส่ถังมานี่ แสดงว่าในนั้นมีน้ำที่สะอาดอยู่และก็มีสิ่งปฏิกูลอยู่ "ความสะอาดไม่ได้มาจากที่อื่น มันเพียงแต่เอาสิ่งสกปรกออกไปให้ได้เท่านั้น ความสะอาดก็ปรากฏ ฉันใดก็ดี จิตใจนี้ก็เหมือนกันมันมีความสะอาดมันมีความผ่องใสของมันอยู่แล้วโดยพื้นฐาน ของจิต แต่ว่ามันขุ่นมัวเศร้าหมองเพราะมันมีกิเลสต่างหากจรเข้ามาแปดเปื้อน ฉะนั้น กิเลสตัวหนึ่งก็คือตัณหาหรือว่าโลภะ เพียงการปฏิบัติให้มันหยุดอยากได้ ระงับความอยากได้ ปฏิบัติฝึกหัดให้มันหลุดรอดจากความอยาก ให้เจริญสติสัมปชัญญะ ให้มันปลอดจากความอยาก ความผ่องใสของจิตก็จะเกิดขึ้นจะปรากฏขึ้นตามลำดับ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็พิสูจน์ได้"
เราปฏิบัติธรรมอยู่นี้ บางครั้งเราพยายามเหลือเกิน ขวนขวายประพฤติปฏิบัติทำเท่าไร ๆ มันก็ไม่สงบ เพราะเราทำด้วยความอยาก ทำด้วยขวักไขว่ทำด้วยความต้องการทะเยอทะยาน แต่ถ้าเกิดบางครั้งเราไม่ได้ตั้งใจ นั่งปฏิบัติก็ไม่ได้คิดจะต้องการอะไรไม่ได้ต้องการความสงบ ทำไปเฉยๆ เราจะพบว่า เอ๊ะ จิตใจมันทำไมสบายมันโปร่งมันสงบ นั่นคือปฏิบัติแล้ว ขณะนั้นคือการปฏิบัติที่ทำได้ดีเป็นการปฏิบัติที่ปลอดจากตัณหา ผลมันก็จะเกิดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว จิตที่ผ่องใสจิตที่สงบ มันเกิดขึ้นมาโดยที่ผู้ปฏิบัติก็ไม่ได้ตั้งใจ
อันนี้สำหรับผู้ที่ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติอยู่ก็ย่อมทบทวนการประพฤติปฏิบัติ ของตัวเองที่ผ่านมาได้ บางครั้งทำ นั่งธรรมดาแท้ๆ จิตกลับสงบโปร่งเบา เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ลองมาฝึกจิตในลักษณะอย่างนั้นดู เวลานั่งปฏิบัติ เริ่มต้นนั่งปฏิบัติก็ทำเหมือนกับว่าไม่ได้ทำ "พยายามจะทำเหมือนแบบไม่ได้ทำ จะปรับปรุงผ่อนทางกายทางจิตให้มีสภาพเหมือนกับว่าไม่ได้ทำ ความเบาใจมันจะเกิดขึ้นให้เห็นได้ ถ้าเกิดความชำนาญขึ้น การปรับปรุงผ่อนการวางท่าทีของสติสัมปชัญญะที่ได้ส่วนที่เป็นกลางที่ปลอดจาก ตัณหานี้ ถ้ามีความชำนาญขึ้นทำแล้วก็เข้าสู่จุดของความเป็นกลางได้ทันทีก็จะพบความเบา ใจไปได้ทันที ไม่ต้องคอยโอกาส"
ถ้า จิตปลอดจากตัณหาความโปร่งใจก็จะเกิดขึ้น แต่พอตัณหาเข้ามาความขุ่นมัวของจิตก็เกิดขึ้น ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติบางครั้งเราอาจจะทดลองดูก็ได้ คือว่าเราจะปฏิบัติเน้นไปในแง่ไม่ให้มีความอยาก คือเราจะไม่มุ่งดูมุ่งจะเอาอะไรแต่จะมุ่งแค่ไม่อยากได้อะไร เราลองทำอย่างนี้ดูก็ได้ นั่งไปก็ทำใจแบบจะไม่เอาอะไรท่าเดียวจะวางเฉยจะปล่อยจะวางจะไม่เอาอะไรฝึก จิตไปอย่างนี้อย่างเดียว ปรับปรุงปรับผ่อน รักษาจิต บอกจิตตัวเอง ควบคุมรักษาจิตใจให้จิตมันไม่เอาอะไร จิตมันไม่เอาอะไร มันปล่อย มันวาง มันไม่เอาอะไร เราก็จะพบความเบาใจเกิดขึ้น ความสงบใจมันก็เกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องไปแสวงหา ค้นหาอะไรที่ตรงไหน ขณะที่เราปฏิบัตินี่เรากลัวเราจะไม่ได้อะไร ทำแล้วกลัวจะไม่ได้อะไร จึงพยายามจะให้ได้ด้วยความทะยานอยาก นั่นแหละมันคือไม่ได้อะไร "ยิ่งอยากจะได้มันก็ไม่ได้เพราะสิ่งที่ควรได้คือความละวาง ความสละ ความปล่อย"
ที่ปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนานี้เป้าหมายก็คือ การสละได้ การปล่อยได้ การวางได้ แต่ถ้าเราปฏิบัติด้วยความที่จะเอาให้ได้ ปฏิบัติด้วยความอยากมันตรงกันข้าม เหตุกับผลมันไม่ตรงกัน ผลของมันก็คือสิ้นอยาก เหตุมันจะเข้าไปอยากยึดมั่นถือมั่นไม่ตรงกับเป้าหมาย เป้าหมายนั้นคือ การสละ การปล่อยวาง เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็มาทำเหตุเสียใหม่ ทำเหตุให้มันตรงต่อผล เมื่อผลคือความปล่อยคือการวางคือการสละคืน ก็ทำเหตุให้มันตรงต่อผลคือให้มันไร้ความอยากทำไปนี่ ฝึกหัดการให้มันพยายามที่จะปลอดจากความอยากไว้เรื่อยๆ เมื่อความอยากเข้ามา ก็ดูแลรักษาปรับปรุง ปรับผ่อนให้จิตใจมันไม่มีความอยาก
เราใช้สติ เจริญสติเป็นตัวระลึก สัมปชัญญะเป็นตัวพิจารณาเป็นตัวใส่ใจเป็นตัวสังเกตอารมณ์ของสติหรือกรรมฐาน ถ้าเป็นวิปัสสนาก็ต้องเป็นรูปนามหรือเป็นสภาวะให้เกิดปัญญาอารมณ์นั้นจะต้อง เป็นของจริง แต่ถ้าเป็นสมถะจะปฏิบัติเพื่อความสงบ อารมณ์ก็ต้องเป็นบัญญัติเป็นสมมติ การทำความสงบในลักษณะของสมถะมันจะต่างจากความสงบของวิปัสสนา ความสงบของวิปัสสนาก็ดังที่ได้กล่าวแล้ว ที่บอกมาในเบื้องต้นทำด้วยความไม่ต้องการอะไร มีสติระลึกรู้ด้วยความปล่อยวาง ความสงบมันจะเกิดขึ้นมาเอง ความสงบมันจะมาบวกกับสติสัมปชัญญะไม่ใช่เป็นความสงบแบบดับดิ่ง เป็นเพียงความโปร่งใจเบาใจแต่ยังมีสติสัมปชัญญะที่จะระลึกที่จะพิจารณาได้
แต่ถ้าความสงบในลักษณะของสมถะอันนั้นมันจะต้องเพ่งเข้าไปจ้องดูจ้องรู้เข้า ไปในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเช่น เพ่งลมหายใจก็ดูเพ่งไปที่ลมหายใจอย่างเดียว ดูความหมายลมเข้า ลมออก เรียกว่าการเจริญสมถะ มันจะต้องควบคุม จะต้องบังคับ จะต้องสะกดลงไปต้องจ้องต้องจับในอารมณ์เดียว ในลักษณะอย่างนี้ ถ้าหากว่าเพ่งอยู่จุบอยู่มันก็จะสงบ และก็เป็นความสงบที่มาก เป็นความสงบที่แนบเนียนที่แนบแน่นลงไป เกิดความสุขมากเกิดความเอิบอิ่มใจมาก แต่ถ้าหากว่าเพ่งลงไปก็จ้องจับลงไปประคับประคองจ้องลงไปเพ่งลงไป ถ้ามันไม่อยู่ขึ้นมามันก็จะฟุ้งมาก เกิดความฟุ้งซ่านเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ นั่นลักษณะของการเจริญสมถะ
หยุดใจให้ไร้อยาก...พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)
แต่การเจริญวิปัสสนามันไม่ได้ทำอย่างนี้ เจริญวิปัสสนามันปล่อยวางมีสติระลึกรู้สภาพธรรมต่างๆ ไม่ใช่ไปจ้องไปกดไปสะกด "เจริญวิปัสสนามันใช้สติสัมปชัญญะ ระลึกรู้สภาพธรรมต่างๆ ไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็นอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ อารมณ์มันดีก็ตามไม่ดีก็ตามสงบก็ตามไม่สงบก็ตาม มันเกิดขึ้นอย่างไรก็รู้อย่างนั้น และก็รู้อย่างไม่ต้องการอย่างไม่ปฏิเสธ" แนวทางการเจริญสมถะกับวิปัสสนามันต่างกัน
วิปัสสนาระลึกอารมณ์ต่างๆ ไม่เลือก บางขณะระลึกรู้ความรู้สึกที่กายดูความรู้สึก ความไหวความตึง ความเย็นความร้อน อ่อนแข็ง รู้สึกสบายที่กาย บางขณะระลึกรู้จิตคือตัวรู้หรือความคิด เวลาคิดก็ดูความคิดหรืออาการในจิต เวลามันเกิดตรึก เวลามันเกิดความรู้สึกในทางดีไม่ดี ชอบไม่ชอบ สงบไม่สงบ ก็ระลึกรู้ไปต่างๆ รับรู้อารมณ์ต่างๆ แต่ว่ารู้เฉพาะอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ เฉพาะ อารมณ์ที่เป็นของจริง คือไม่ใช่เป็นรูปร่างไม่ใช่เป็นความหมายไม่ใช่เป็นชื่อภาษา ระลึกเฉพาะอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ อย่างที่กายก็ระลึกไปที่ความรูสึกความไหวความตึง ความกระเพื่อมความสะเทือน ความเย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึง
ไม่ขยายออกไปเป็นรูปร่างสัณฐาน ท่าทางความหมายว่านั่ง ไม่มีท่าทางไม่มีความหมายว่านั่ง ไม่มีสัณฐานของกาย ไม่มีท่าทาง ไม่มีรูปร่างเป็นท่อนแขน หรือรูปร่างรูปทรงของกายที่นั่ง มันจะรู้แค่ความรู้สึก ความไหวความกระเพื่อม ความสั่นสะเทือนไปทุกส่วนของร่างกายแต่ไม่มีท่าทางแล้วก็รู้ถึงจิตใจความ รู้สึกนึกคิด ความสงบไม่สงบ ความตรึก ความสงสัย ความดีใจ ความอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นอาการในจิต แต่ไม่ใช่ไปดูเรื่องราวของจิต เรื่องราวของจิตเป็นสมมติบัญญัติ สมมติบัญญัติที่เป็นความหมาย เพราะถ้าจิตมันคิดไปสู่เรื่องราวต่างๆ กันก็จะเป็นเรื่อง เป็นสถานที่ เป็นเหตุการณ์ เป็นความหมาย เป็นชื่อเป็นภาษา อันนั้นคืออารมณ์ของจิต เวลาจิตคิดนี่ไม่ใช่ไปดูเรื่องราวของการคิด ให้ระลึกที่การคิด ให้ระลึกที่ตัวรู้ พอระลึกที่ตัวรู้มันก็สลัดเรื่องราวออกไปเป็นขณะๆ แต่ก็อย่าลืมว่าขณะที่ระลึกรู้ไปนั้น ให้เป็นไปด้วยความปกติคือให้มันปลอดจากความอยากให้มันมีความเป็นกลาง เป็นปกติ ให้มันปล่อยวางอยู่เสมอ
[COLOR=black]ดัง ที่กล่าวแล้วว่า ขณะที่ระลึกรู้นั้นต้องให้มันเป็นสภาพที่ปลอดจากความอยาก ถ้าเผลอตัวมีความอยากเข้าไปมันก็จะเอา แล้วไม่ปกติสภาพร่างกายตึงเกร็ง จิตใจจะไม่โปร่งไม่เบา พอมันมีความอยากมากขึ้นๆ มันจะเป็นอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ระลึกรู้ดูไปๆ มันจะกลายเป็นยึด พออยากแล้วมันก็ยึดคือการจะเอาให้ได้ จะดูให้ได้ จะให้ได้อย่างนั้น จะเอาให้ทัน ไปยึดไปสะกดอารมณ์ มันก็เกิดความเคร่งตึง จิตไม่โปร่งไม่เบา นั่นคือมันเป็นเหยื่อของตัณหา เป็นเหยื่อของความอยาก ทำสติสัมปชัญญะไม่หลุดรอดจากตัณหา ตัณหามันเข้าไปเชื่อมเข้าไปครอบงำเข้าไปบงการ รู้ตัวอย่างนี้ก็แก้ไข ปรับปรุงปรับผ่อน ละวาง สละ ฝึกหัดการให้จิตมันคลายจากตัณหา คลายไม่ถูก คลายไม่เป็น
ก็ดังที่กล่าวแล้วว่าฝึกหัดว่าจะทำจิตวางเฉยหรือว่าจะหยุดอยู่ก็ได้ ทำจิตอยู่เฉยๆ หยุดอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ให้จิตมันหยุด ก็จะเห็นกระแสของจิตที่มันไม่หยุดหรอก มันก็จะแวบไปคิดรับอารมณ์มีสภาวะเข้ามาแทรกพยายามจะปล่อยฝึกหัดให้จิตมัน ปล่อยให้มันหยุด แต่มันก็ไม่หยุดหรอกมันก็แวบไป มีสิ่งต่างๆ สลับสับเปลี่ยน คอยดูคอยรู้ มันก็จะคลายตัวไม่เป็นเหยื่อของตัณหา ทำได้ดี สติสัมปชัญญะมันก็จะมีหลักมาอยู่เป็นหลัก "มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่กลางๆ ไม่ได้แล่นไป ไม่ได้จงใจไปตรงนั้นตรงนี้ มารวมอยู่เป็นหลักตรงกลาง มีจุดยืนของมันอยู่ จิตมันจะรู้ตัวของมันคือจิตมันจะรู้จิตขึ้น ตัวรู้เกิดรู้ตัวรู้ขึ้น จิตก็คือสภาพรู้ มันจะรู้ตัวสภาพรู้และสิ่งที่มันจะซ้อนเข้ามา"
ขณะที่รู้จิตระลึกรู้จิตก็จะพบอาการในจิตว่า อาการในจิต ขณะนี้รู้สึกอย่างไร สงบ เบาหรือไม่สงบ แล้วก็อาการของกายก็จะซ้อนเข้ามา ความไหวความกระเพื่อมที่กายมันจะซ้อนเข้ามาขณะที่ดูจิตนั่นโดยไม่ต้องไปจ้อง หา มันเหมือนกับว่าสภาวะธรรมต่างๆ มันมารวมมันย่อเข้ามาหากันเหมือนกับย่อที่ต่างๆ มารวมกันอยู่ ดูจิตอยู่รู้จิตอยู่มันก็รู้กายไปได้ด้วย รู้จิตแล้วมันก็รู้ความรู้สึกที่กายมันซ้อนขึ้นมากันได้ จะมีเสียง มีได้ยิน ซ้อนเข้ามา มีความรูสึก มีความนึกคิด มีความรู้สึกที่กายมันซ้อนกันขึ้นมาโดยไม่ต้องไปจ้องหา ถ้าเป็นอย่างนี้ มันก็จะไม่ขยายตัวออกไปสู่สมมติกว้างออกไป ไม่ขยายออกไปสู่ความเป็นรูปร่างสัณฐานในความหมายชื่อภาษา จะเข้าอยู่ภายใน รู้อยู่ภายใน รู้อยู่ในจิต รู้อยู่ในความรู้สึกที่จิต รู้อยู่ในความรู้สึกที่กายอยู่
อุปมาเหมือนกับว่า ในทางสี่แพร่งตรงกลางมีจอมปลวก บุคคลก็ไปยืนอยู่บนจอมปลวกหรือไปนั่งอยู่ที่จอมปลวกนั้น ก็จะสามารถเห็นผู้คนหรือสัตว์หรืออะไรที่มันผ่านในทางสี่แพร่ง จะมาทิศไหนอย่างไรก็มาผ่านให้รู้ อุปมาเหมือนกับว่าจิตก็รู้อยู่ที่จิตนั่นแหละ และมันก็จะรับรู้ในส่วนต่างๆ ได้ สติปัฏฐานทั้งสี่มันจะรู้คลุมได้ทั่วกัน รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้สภาพธรรมอยู่ ก่อนหน้านี้เราปฏิบัติ พยายามค้นคว้า ขวักไขว่ วิ่งไปหาอารมณ์ต่างๆ เหมือนกับคนที่ไปเจอทางสี่แพร่งแล้วก็วิ่งไปทางนั้นทีวิ่งมาทางนี้ที ทางซ้ายทางหน้าทางหลัง เหนื่อยและก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์ เวลาผู้คนเขาผ่านมาทางโน้นที่เราไม่ได้อยู่ก็ไม่เห็นแล้ว เขาผ่านเส้นทางสี่แพร่งไปแล้ว ไม่เห็นไม่ทัน
แต่ถ้าเราเป็นผู้ฉลาด เราไม่ต้องวิ่งไปหาทางโน้นทางนี้หรอก เราอยู่ที่ศูนย์กลางของทางสี่แพร่งนั่นแหละ คอยสังเกตดูซิว่ามันจะมีคนผ่านมาผ่านไปทิศไหนอย่างไรข้อนี้ฉันใดก็ตาม เราปฏิบัติเราก็ทำจิตให้มันอยู่กลางๆ มีจิตรู้จิตอยู่ แต่มันจะมีกระแสในการรับรู้ในฐานอื่น รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม นี่เราปฏิบัติมันหลุดจากฐาน เราปฏิบัติขวักไขว่ค้นหา สมมติว่าจ้องไปดูที่ขา ที่อื่นเลยไม่รู้สึกเลย เราทุ่มจิตทุ่มตัวลงไปที่ใดที่หนึ่งมันเสียฐานมันเสียจุดยืน เหมือนเราวิ่งไปทางเดียว สภาวะธรรมอื่นๆ ที่จะปรากฏต่างๆ เลยไม่รู้เพราะเราไปจ้องดูที่ใดที่หนึ่ง แต่ในขั้นต้นของการฝึกหัดมันก็อาจจะจำเป็นต้องทำอย่างนั้นไปก่อน
เช่นว่า เราจ้องดูลมหายใจไปก่อน ดูลมเข้าดูลมออก ดูลมเข้าดูมออก แต่เมื่อเราปฏิบัติยิ่งขึ้นเราพัฒนาขึ้นมาก็อย่าไปจ้องดูแต่เฉพาะลมหายใจ เราจะต้องมีความสังเกตให้มันพร้อมเหมือนเรานั่งอยู่ ไม่ใช่ดูแต่ทางเดียวทิศเดียว เราจะต้องให้มันรู้สึกตัว สังเกตรอบตัวว่าจะมีใครมาทางหน้าทางหลังทางซ้ายขวาอะไร แต่เราไม่ต้องวิ่งไป แต่เรามีความรู้ตัวทั่วพร้อม ให้มันรู้รอบตัวของตัวเองว่ามันจะมีอะไรมาบ้าง เหมือนกับขณะที่ทำสติระลึกถึงลมหายใจเข้าออกใหม่ๆ เราเน้นไปอย่างเดียว ดูลมเข้าดูลมออก ต่อๆ มาเราเริ่มรู้สึกตัวสังเกตสิ่งแวดล้อมที่มันจะสัมพันธ์เข้ามา ขณะที่ดูลมหายใจออกก็สังเกตว่ามันมีความรู้สึกไหม มีเวทนา รู้สึกบางครั้งหายใจเข้าออกไม่สบาย รู้สึกไม่ค่อยสบาย
หรือบางทีมันรู้สึกสบายดี หายใจปลอดเบา บางทีรู้สึกมันอึดอัด บางทีมันร้อน มันไม่ค่อยสบาย รู้ลมเข้าลมออกไปด้วย รู้ความสบายไม่สบายไปด้วย นี่เรียกว่าขยายความรู้มากขึ้น หนักเข้ารู้ถึงจิตได้ด้วย ดูลมเข้าดูลมออกยังสังเกต เอ๊ะ.....มีจิตตัวรู้ตัวคิดอยู่ด้วย ทำไปทำไปสังเกตเห็นว่ามีอาการในจิตรู้สึกเวลาลมหายใจอย่างนี้จิตใจรู้สึก สบายดีรู้สึกใจเย็น บางครั้งรู้สึกจิตใจไม่สบาย พอจิตใจไม่สบาย ลมหายใจรู้สึกมันจะขัดมันอึดอัดมันไม่โปร่งไม่ละเอียด จะเห็นความสัมพันธ์ความเกี่ยวข้องลมหายใจกับจิตกับเวทนา บางครั้งจิตใจรู้สึกสงบสบาย ลมก็เบาละเอียดนุ่มนวลกายระงับ เวทนาระงับ นี่เรียกว่ารู้สึกตัวทั่วพร้อมรู้ไปทั้งสี่ฐาน
กายก็รู้คือลมหายใจ ลมหายใจถือว่าเป็นกาย เรียกว่ากายสังขาร คือสิ่งที่ปรุงแต่งกาย สิ่งที่ปรนเปรอร่างกาย ร่างกายนี้จะดำรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยลมหายใจ และลมหายใจเรียกว่ากายสังขารถือว่าเป็นกาย ที่ว่าพิจารณากายในกายส่วนหนึ่งก็คือ ลมหายใจ ดังนั้นการระลึกถึงลมหายใจเข้าออกก็ถือว่าได้ปฏิบัติสติปัฏฐานในข้อที่หนึ่ง คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราปฏิบัติไม่ใช่ดูเฉพาะลมหายใจ เราสังเกตถึงความรู้สึกนั่นก็คือดูเวทนาด้วยเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สังเกตความรู้สึกของกายที่มันรู้สึกสบายหรือไม่สบาย หรือในจิตใจมันสบายหรือไม่สบาย แค่นั้นก็ยังไม่พอ
"ดูถึงจิตสังเกตตัวรู้มีสภาพรับรู้อยู่ ลมหายใจก็อย่างหนึ่ง ตัวรู้ก็อย่างหนึ่ง" ลมหายใจเข้าออกก็มีตัวเข้าไปรู้ ตัวรู้นี่บางทีก็รู้ลมหายใจ บางทีก็ไปรู้อย่างอื่น นี่ก็เห็นจิตในจิต นอกจากนั้นก็จะไปเห็นธรรมในธรรมเห็นอาการในจิต บางครั้งก็สงบดี บางครั้งก็ไม่ค่อยสงบ บางครั้งรู้สึกมีความชอบมีตัณหา บางครั้งก็ไม่มีตัณหา บางครั้งก็โปร่งใจบางครั้งก็หนักใจ บางขณะก็ขุ่นมัว บางขณะก็ผ่องใส ในขณะนี้ก็ยังดูลมหายใจอยู่สังเกตอากานในจิตไปได้ สังเกตจิตสังเกตเวทนา เรียกว่าทำสติปัฏฐานได้ครบสมบูรณ์ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานคือดูลมหายใจเข้าออก เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานดูความรู้สึกที่กายที่ใจที่มันสบายไม่สบาย หรือมันเฉย ดูจิตตัวรู้เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดูธรรมในธรรมก็คืออาการในจิต ส่วนหนึ่งคืออาการในจิต เกิดความไม่สงบก็ดูไปไม่เลือกอารมณ์ ทำสติปัฏฐานได้สมบูรณ์เริ่มจากการที่ดูลมหายใจ
ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า คนที่เจริญอานาปานสติให้มากทำให้มากทำอย่างนี้ให้ยิ่งขึ้น ย่อมทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้สมบูรณ์ เมื่อสติปัฏฐานทั้งสี่สมบูรณ์ ก็จะทำให้โพชฌงค์เจ็ดสมบูรณ์ไปด้วย โพชฌงค์เจ็ดคือองค์แห่งความตรัสรู้ คือ สติสัมโพชฌงค์เป็นตัวระลึกได้ ธัมมวิจัยสัมโพฃฌงค์พิจารณาสอดส่องในธรรมอยู่ วิริยสัมโพชฌงค์มีความเพียรอยู่ ในขณะนั้นเพียรตั้งสติ เพียรระลึกรู้ มีปีติสัมโพชฌงค์เกิดความอิ่มเอิบใจ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีความสงบเกิดขึ้น มีสมาธิสัมโพชฌงค์ ตั้งมั่นอยู่ มีอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ถึงคราวที่สุดก็วางเฉยเป็นกลางสม่ำเสมอต่อสภาวะธรรมต่างๆ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ แล้วก็สมาธิ อุเบกขา เป็นองค์ของความตรัสรู้ก็มาจากการที่เจริญสติปัฏฐานสี่ให้สมบูรณ์ โพชฌงค์เจ็ดก็สมบูรณ์ไปด้วย เมื่อโพชฌงค์สมบูรณ์ก็ทำให้เกิดวิมุติ เข้าถึงความหลุดพ้น ตรัสรู้ เมื่อความรู้แจ้งเกิดขึ้นก็ถึงวิมุติความหลุดพ้นได้ในที่สุด
นี่ก็เกิดจากากรที่เราได้ฝึกหัดอบรมให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามแนวทางของการเจริญวิปัสสนา หรือว่าการเจริญสติปัฏฐาน
วันนี้ก็ได้ใช้เวลามานานพอสมควร จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุข ความเจริญในธรรม จงมีแด่ทุกท่าน เทอญ