นิโรธะ (หลวงปู่ขาว อนาลโย)

นิโรธะ (หลวงปู่ขาว อนาลโย)

นิโรธะ
โดย หลวงปู่ขาว อนาลโย

วัดถ้ำกองเพล
ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู



[COLOR=darkblue] การปฏิบัติอานาปานสติถ้าไม่ถูกกับจริต มีความอึดอัดใจ หายใจไม่สะดวก ไม่สบาย ถ้าถูก มันจึงสบาย หายใจเบาลง ปต่คนก็ชอบแต่ความสบาย ถ้าไม่สบายไม่ค่อยชอบ ถ้ามันสบาย มันก็หลงไปเสียกับความสบายละ ถ้าเปลี่ยนบ้างมันจึงจะดี เปลี่ยนคือความเจ็บป่วยนั้น มันเปลี่ยนบ้างมันจึงรู้ มันจึงตื่น หมายความว่าเปลี่ยนมันไม่เพลิน เวทนามัน ทรมานให้เขาปราบเอาบ้าง มันจึงดี เหมือนกันกับเด็กมันดื้อ มันคะนอง พ่อแม่ต้องเฆี่ยนเอาบ้าง มันจึงหายความคะนอง จิตของเรามันเป็นอย่างนั้น ถ้าอยู่ดี สบายแล้ว มันลืม ให้นั่งภาวนา เป็นสมาธิ ให้มันเป็นปัญญา คอยเตือนอย่าดื้อ อย่าคะนอง ให้กำหนดให้มันรู้ทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้มารู้จักทุกข์ ถ้ามันสบายแล้ว มันไม่รู้จักทุกข์ มันมัวแต่เพลินไปถ้ามันสบายแล้ว ให้มันไม่สบาย แล้วมันจึงกำหนดรู้จักทุกข์

พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ให้มันรู้จักทุกข์ ให้มันรู้จักพิจารณาแต่ทุกข์ พิจารณาให้มันเห็นชัด มันอยู่ที่ใจแล้ว มันจึงจะค้นหาเหตุ ทุกข์เป็นผล แล้วความทะเยอทะยานนั้นเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ ค้นไปให้เห็นเหตุเกิดทุกข์ จะปล่อยวางความทะเยอทะยานความหลง อันสมุทัยนั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ สมุทัยสมมุติ สมมุติว่าผู้หญิง ผู้ชาย ว่าคน ว่าสัตว์ นั่นไปหลงสมมุติ พอใจเพราะความหลง สมุทัยก็มาจากความหลง พอมันขี้หลงเข้า หลงอยากเป็นอยากมี หลงสิ่งที่ไม่ชอบ รู้เหตุอันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้ท่องเที่ยวในสังสารวัฏจักร ไม่มีที่สิ้นสุด ให้ปล่อยวางอันนี้

ปล่อยวางคือไม่ยึดไม่ถือ รู้เท่ามัน เมื่อปล่อยวางแล้วนั่นแหละ จิตมันถึงจะสงบ จิตมันถึงจะมีความสุข ความสบาย จิตไม่ดิ้นรน จิตสงบนั่นแหละให้รู้ว่าจิตเราสงบ จิตเราไม่เพลิดเพลินกับอารมณ์ ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ไม่เพลิดเพลิน เฉย เป็นกลาง เรียกว่านิโรธะ ปล่อยวางอันนี้ ความทะเยอทะยานหรือสมุทัย วางอันนี้ได้ชื่อว่าปล่อยเหตุ วางเหตุแล้วจิตสงบ จิตเป็นกลาง

การค้น การพิจารณาเรื่องจิตนี้เรียกว่า มัคคปฏิปทา เรียกว่าข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราภาวนาบริกรรมอันใด มันสบายใจ บริกรรมแล้วก็ต้องพิจารณา สมถะ การบริกรรม วิปัสสนาเรียกว่ากำหนดพิจารณา เรื่องพิจารณาสังขารร่างกาย อันนี้เรียกว่าวิปัสสนา ทำไปพร้อม เมื่อบริกรรมไป บริกรรมไป พอจิตสงบสักหน่อย มันไม่ลงถึงที่ มันก็ต้องค้นคว้า ก็ค้นคว้าร่างกายของเรา ต้องพิจารณาสกนธ์กายของเรานี่แหละ

กรรมฐานทุกคนนั่นแหละ พวกพระ พวกเณร พวกญาติโยมนั่นก็เป็นกรรมฐาน กรรมฐานหมด มีอยู่หมดทุกรูปทุกนาม พระพุทธเจ้าว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรียกว่าปัญจกรรมฐาน กรรมฐานแท้ ให้พิจารณาอันนี้ ผมมันก็ตั้งอยู่บนศีรษะ พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณา ผมไม่ใช่คน เป็นแผนกหนึ่งต่างหาก ขนก็ไม่ใช่คน เรามาสำคัญว่าขนเรา เล็บเรา ผมเรา ฟันก็ไม่ใช่คน เป็นแผนกหนึ่งต่างหาก หนังก็ไม่ใช่คน หนังสำหรับห่อกระดูกไว้เท่านั้นแหละ อาการ ๓๒ นี่ พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณา แยกออกเป็นสัดเป็นส่วน อะไรเป็นคน เป็นสัตว์ ไม่สำคัญว่าผู้หญิง ผู้ชาย ว่าเขา ว่าเรา สำคัญที่คนเห็นผิด อาการ ๓๒ นี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า เยื่อในสมองศีรษะ เป็นต้น หมู่นี้เป็นคนละอย่างๆ มันไม่ใช่คน พระพุทธเจ้าว่า มันไม่ใช่คนนะ

อีกอย่าง พระพุทธเจ้าว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมรวมกัน เรียกว่ารูป รูปใหญ่ มหาภูตรูป สิ่งที่อาศัยธาตุ ๔ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ เวทนา ความเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ก็ดี สัญญา ความจำหมายโน่น หมายนี่ จำโน่น จำนี่ จิตเจตสิก คือ ความคิดความอ่าน ความปรุงขึ้นที่จิต คือวิญญาณสังขา ความรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ อันนี้เราว่ารูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เรียกว่าขันธ์ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ วิญญาณเป็นความรู้เท่านั้น รู้กันอยู่นี่แหละ ค้นไปค้นมาอยู่นั่น มองดูคนอยู่ไหน

สมถะคือการบริกรรม วิปัสสนาการค้นคว้า อาการ ๓๒ นี่แหละ ค้นไป ไม่ส่งจิตไปที่อื่น เวลาเราทำสมาธิ เราต้องตั้งใจว่า เวลานี้ เราจะทำหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ จะกำหนดให้มีสติประจำใจ ไม่ให้มันออกไปสู่อารมณ์ภายนอก ให้มีสติประจำใจอยู่ ไม่ให้ไปภายนอก เดี๋ยวนี้ หน้าที่ของเราจะภาวนา จะทำหน้าที่ของเรา ไม่ต้องคิดการงานข้างนอก เมื่ออกแล้วจะทำอะไรก็ทำไป เวลาเราจะทำสมาธิ ทำความเพียรของเรา ต้องตั้งสัจจะลง ตั้งใจกำหนดอยู่ในสกนธ์กายนี้ กำหนดสติให้รู้กับใจ เอาใจรู้กับใจ ให้จิตอยู่กับจิต กำหนดจิตขึ้น ให้ทำให้มันพออาศัย ศรัทธา วิริยะ เหตุทำให้มากๆ อันนี้แหละก้อนธรรม

พระพุทธเจ้าว่า ก้อนธรรมอันนี้แหละ ก้อนธรรมหมดทั้งก้อน ธรรมไม่มีที่อื่น ไม่มีที่อยู่อื่น จำเพาะรูปใครรูปเราเท่านั้น เป็นธรรมหมดทั้งก้อน ก้อนธรรมอันนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน พระพุทธเจ้าว่า ปัญจุปาทานักขันธา อนิจจา ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความเกิดขึ้นตั้งขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในเบื้องปลาย ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ขันธ์อันนี้เป็นทุกข์ มีทุกข์บีบคั้นอยู่ มีแต่ทุกขเวทนานั่นแหละ ความสุขมีนิดเดียว ผู้ที่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสักหน่อยความสุขในโลกนี้

โลกคือสกนธ์โลกอันนี้ สกนธ์กายนี้ ปัญจุปาทานักขันธา อนัตตา ธรรมทั้งหลายสกนธ์กายอันนี้ ขันธ์ ๕ อันนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน พระพุทธเจ้าว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลาย จะเป็นสังขตธรรม หรือ อสังขตธรรมก็ตาม ไม่มีความประเสริฐ ไม่มีความดี พิจารณาเห็นสกนธ์กายว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแล้ว อันนี้เรียกว่าผู้ถึงวิราคะ วิราโค เสฏโฐ เป็นธรรมอันประเสริฐ วิราคะคือความคลายกำหนัดจากอารมณ์ทั้งหลาย นี่เป็นธรรมอันประเสริฐ นั่นแหละ เมื่อถึงวิราคะ เรียกว่านิโรธ ทุกข์ดับ มีความเบื่อหน่าย เหนื่อยหน่ายในความเป็นอยู่ของอัตตภาพ นี่แหละเรียกว่าปล่อยวาง เห็นตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางตัณหา ความทะเยอทะยาน ความอยาก ความใคร่ในทางกิเลสกาม ความอยากเป็น อยากมี ถึงขั้นนี้ก็กิจสำเร็จแล้ว




คัดลอกมาจาก ::
หนังสืออนาลโยวาท
พระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ขาว อนาลโย และประวัติความอาพาธ
คณะศิษยานุศิษย์จัดพิมพ์ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล
ในการพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์