สุขแบบชาวบ้าน
ชาวบ้าน คือ ผู้ครองเรือน หรือคฤหัสถ์นั้น นอกจากจะต้องขยันหาทรัพย์แล้ว ยังจะต้องมีส่วนประกอบอื่นเพื่อให้บรรลุความสุข ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
พระพุทธองค์จึงได้ตรัสถึงความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งปรากฏอยู่ในอันนนาถสูตร (๒๑/๗๙) เพื่อช่วยเสริมให้ชีวิตฆราวาส ได้มีความสุขยิ่งขึ้นไป มี ๔ ประการ ดังนี้
๑. อัตถิสุข คือ ความสุขอันเกิดจากการมีทรัพย์ ความภูมิใจ มีความอุ่นใจ มีความสุขใจ ที่ตนมีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยลำแข้ง และโดยความสุจริต เป็นต้น
๒. โภคสุข คือ ความสุขอันเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ มีความภูมิใจว่า ตนได้ใช้จ่ายทรัพทย์นั้น ที่หามาได้โดยชอบธรรม เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงพ่อแม่ เลี้ยงผู้ที่ควรเลี้ยง ตลอดจนได้บำเพ็ญกุศลต่างๆ เป็นต้น
๓. อนณสุข คือ ความสุขอันเกิดจากความไม่มีหนี้สิน มีความอิ่มใจ มีความภฺมิใจ มีความสุขใจว่าตนเป็นไท ไปไหนมาไหนอย่างเชิดหน้าชูตา ไม่ต้องหลบเจ้าหนี้ เป็นต้น
๔. อนวัชชสุข คือ ความสุขอันเกิดจากการกระทำการงานอันไม่มีโทษ มีความภฺมิใจ มีความอิ่มใจสุขใจ ว่าตนประพฤติสุจริต ไม่มีความบกพร่องเสียหายให้ต้องระแวงว่าคนอื่นจะท้วงจะกล่าวหาในทางทุจริต เป็นต้น
บางคนมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีความสุขภูมิใจในทรัพย์เหล่านั้น เพราะตนไม่ได้หามาเอง หรือมีส่วนเป็นเจ้าของ ก็จะเป็นเพียง "หุ้นลม" เสียมากกว่า เพระยังไม่เป็นสัดส่วนของตนโดยเฉพาะ คือยังไม่อิสระในทรัพย์สินเหล่านั้น
การมีโภคทรัพย์ แล้วไม่จับจ่ายใช้สอย ในสิ่งที่ควรใช้ควรสอยมันก็ไม่มีความสุข เหมือนเจว็ดในศาลเจ้า มีก็เหมือนไม่มี การได้ใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่ควรจ่าย จึงจัดว่าเป็นความสุขชนิดหนึ่งของคน
คนที่ไม่เคยเป็นหนี้สินใคร หรือใครที่ไม่เคยเป็นหนี้ที่ถูกเจ้าหนี้ขีดเส้นตาย โดยที่ตัวไม่มีทางจะใช้หนี้ได้นั้น ย่อมจะไม่ซึ้งถึงทุกข์ภัยของการเป็นหนี้ ขนาดคนมีเงินหรือทรัพย์สินเป็นล้านๆ ก็ยังมีข่าวว่ายังต้องฆ่าตัวตายหนีหนี้ ดังนั้น การไม่มีหนี้สินใคร จึงจัดว่าเป็นความสุขใจอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะยากจนก็ตาม
การประกอบการงานที่มีโทษ คือผิดกฎหมายและศีลธรรมนั้น แม้ว่าจะมั่งมีทรัพย์สินเงินทองปานใด ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะภูมิใจในทรัพย์สินเหล่านั้น และมันก็ย่อมจะหาความสุขใจอย่างแท้จริงไม่ได้ อย่างมากจะทำได้ก็เพียง "หน้าชื่นอกตรม" อุปมาเหมือนการเล่นละครเท่านั้น จะอยู่ที่ไหน ? จะไปที่ไหน ? แม้ว่าจะมีมือปืนคุ้มกัน ก็มีแต่ความหวาดระแวง หาความสงบใจหรือสุขใจไม่ได้เลย...
กราบขอบพระคุณที่มา :: ธรรมจักร