เหนือกายยังมีใจ
ภาวัน
กล่าวกันว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น เป็นสุคติของเทวดา
เมื่อเทวดาองค์ใดจะจุติ
เพื่อนเทวดาจะอวยพรว่า ขอให้ไปเกิดในหมู่มนุษย์ ฟังดูก็รู้สึกดี
แต่บางครั้งคุณคงอดสงสัยไม่ได้ว่า
ถ้าโลกมนุษย์เป็นสุคติของเทวดา
เหตุใดมนุษย์เราจึงต้องมีความรู้สึกเจ็บปวดด้วย
ปวดหัวตัวร้อนนั้นยังพอทำเนา
แต่เจ็บปวดเวลาแข้งขาหักหรือไฟไหม้น้ำร้อนลวกนั้น
บางครั้งรู้สึกเหมือนกับตกนรกเลยทีเดียว
มองให้ดี ๆ ความเจ็บปวดก็มีประโยชน์
มันช่วยป้องกันมิให้เราถลำเข้าไปในอันตราย
ถ้าเราไม่รู้สึกปวดเวลาโดนของแหลมแทงนิ้ว
เราก็จะปล่อยให้มันทิ่มลึกขึ้น แทนที่จะรีบดึงนิ้วออกมา
มีหลายคนที่ไม่รู้สึกเจ็บปวดตั้งแต่เกิด
คนเหล่านี้จะมีลักษณะหนึ่งที่เหมือนกันคือ มีแผลเต็มตัว
บางคนลิ้นหายไป ๑ ใน ๓ เพราะกัดลิ้นแล้วไม่รู้สึกเจ็บ
จึงกัดเข้าไปเต็มที่ ลิ้นมีแผลลึก
แผลไม่ทันหายก็กัดซ้ำกัดซากจนลิ้นเน่ากุดในที่สุด
แต่ถึงแม้ความเจ็บปวดจะมีประโยชน์
ข้อเสียก็คือ มันทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน
โดยเฉพาะในยามที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
จริงอยู่ยุคนี้วิทยาการก้าวหน้ากว่าแต่ก่อน
มียาระงับปวดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ข่าวร้ายก็คือ ยาที่ดีที่สุดเวลานี้
ยังไม่สามารถระงับความเจ็บปวดบางประเภทได้
ฟังแล้วอย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะถึงแม้เทคโนโลยีทุกวันนี้มีขีดจำกัด
แต่ข่าวดีก็คือ ยาระงับปวดที่ดีกว่าเทคโนโลยียังมีอยู่
มันมิได้อยู่ที่ไหนเลย หากอยู่ที่ใจของเรานั้นเอง
เมื่อ ๘ ปีที่แล้วมีการทดลองผ่าตัดคนไข้คนหนึ่งที่เป็นโรคเจ็บข้อ
หลังจากหมอให้ยาชาแล้วก็กรีดหัวเข่าของเขา
แต่ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น เมื่อแผลสมานแล้ว
คนไข้เล่าว่ารู้สึกดีขึ้น ความเจ็บทุเลาไปมาก
ยิ่งกว่านั้นก็คือ ข้อเข่าของเขาทำงานดีขึ้น
อีกรายหนึ่งประสบอุบัติเหตุ ถูกไฟไหม้ถึงร้อยละ ๗๐ ของร่างกาย
เขาร้องครวญคราญด้วยความเจ็บปวด เรียกหายาระงับปวดทุกคืน
แต่หลังจากหมอให้มอร์ฟีนไประยะหนึ่ง
ก็หยุดให้เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่คนไข้
ผลก็คือ คนไข้ทุรนทุรายร้องขอยาระงับปวด
พยาบาลทนไม่ไหวจึงกลับไปที่ห้องแล้วฉีดยาให้เขา
สักพักคนไข้ก็หลับไป
เมื่อมีคนถามเธอว่าทำไมถึงฉีดยาระงับปวดให้คนไข้ในเมื่อหมอสั่งห้าม
เธอตอบว่า เธอแค่ฉีดน้ำเกลือให้คนไข้เท่านั้น
ทั้งสองกรณี คนไข้ไม่ได้รับการรักษาหรือยาระงับปวดเลย แต่กลับรู้สึกดีขึ้น
เพราะ ใจเชื่อว่าเขาได้รับการเยียวยาแล้ว
เพียงเชื่อเช่นนี้ก็ช่วยลดความเจ็บปวดลงได้
จิตใจของคนเรามีพลังในการเยียวยาร่างกายหรือระงับความเจ็บปวดได้
พลังนั้นจะทำงานได้ก็ต้องอาศัยความเชื่อหรือศรัทธา
ถ้าเรามีศรัทธาในหมอหรือตัวยา
ผลดีต่อร่างกายก็จะเกิดขึ้นทันทีที่หมอลงมือ “รักษา”หรือเมื่อได้รับยา
มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ อาสาสมัคร ๘๒ คน
ได้รับเชิญให้ร่วมทดสอบคุณภาพของยาระงับปวดตัวใหม่ที่ชื่อวาลิโดน
ซึ่งให้ผลรวดเร็วกว่ายาที่มีอยู่ ทุกคนจะถูกช็อตด้วยไฟฟ้าที่ข้อมือ
จากนั้นก็ให้ระบุว่ารู้สึกเจ็บปวดมากน้อยเพียงใด
ทีนี้ก็ให้ทุกคนกินยาวาลิโดน ครึ่งหนึ่งได้รับการบอกเล่าว่า
ยาตัวนี้เม็ดละ ๒ เหรียญ ๕๐ เซ็นต์
อีกครึ่งหนึ่งได้รับการบอกว่ายาราคา ๑๐ เซ็นต์
เสร็จแล้วก็มีการช็อตด้วยไฟฟ้าอีกครั้ง ร้อยละ ๘๕ของ
คนกลุ่มแรกที่ได้ยาราคา ๒ เหรียญ ๕๐ เซ็นต์บอกว่า ความเจ็บปวดลดลงมาก
ส่วนกลุ่มหลังมีเพียงร้อยละ ๖๑ ที่เจ็บน้อยลง
หลังจากการทดลองก็มีการเปิดเผยว่า
แท้จริงแล้วยาที่ให้แก่อาสาสมัครทั้งหมดนั้นเป็น “ยาปลอม”
การทดลองดังกล่าวจึงชี้ว่า
นอกจากความเชื่อจะมีผลต่อการลดความเจ็บปวดแล้ว
ราคาของยาก็มีผลต่อความคาดหวังและประสิทธิภาพด้วย
ยายิ่งมีราคาแพง ความคาดหวังหรือความเชื่อถือก็ยิ่งสูง
จึงช่วยลดความเจ็บปวดได้มากขึ้น
ศรัทธาหรือความเชื่อนั้นมีผลต่อการระงับปวด
แต่ศรัทธาไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะช่วยเราได้
สมาธิก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บรรเทาปวดได้ดี
มีผู้ป่วยมะเร็งหลายคนที่สงบนิ่งได้โดยไม่ใช้ยาเลย
แม้ถูกความเจ็บปวดบีบคั้น รุนแรง เนื่องจากมีสมาธิอยู่กับลมหายใจ
อีกรายหนึ่งที่น่าทึ่งมาก ตอนที่ผ่าตัดเปลี่ยนไตนั้น
เธอแพ้ยาแก้ปวดจนอาเจียน แผลระบม หมอไม่รู้จะทำอย่างไร
แต่พอเธอได้สติก็ขอพาราเซ็ตตามอลเม็ดเดียว
จากนั้นก็ตั้งสมาธิจดจ่ออยู่กับลมหายใจจนหลับไป
ระหว่างที่หมอผ่าตัด เธอไม่ส่งเสียงร้องเจ็บเลยแม้แต่ครั้งเดียว
แม้ธรรมชาติจะให้ความเจ็บปวดมาพร้อมกับร่างกายนี้
แต่นั่นมิใช่เป็นเคราะห์กรรมของมนุษย์
เพราะในเวลาเดียวกันธรรมชาติก็ให้ใจแก่เรา
เพื่อรับมือกับความเจ็บปวดและเอา ชนะเคราะห์กรรมทั้งหลายด้วย
ที่มา...นิตยสาร IMAGE กรกฎาคม ๒๕๕๓
เหนือกายยังมีใจ
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!