สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) ยอดพระนักปฎิบัติธรรมชั้นสูงของประเทศไทย ได้ให้แนวทางอันเป็นหัวใจ แห่งการทำสมาธิ ไว้ในหนังสือประชุมโอวาสฯ ตอนหนึ่งว่า
ข้อสำคัญมีอยู่อย่างหนึ่ง อันเป็นหัวใจแก่การทำสมาธิ สิ่งนั้นประเภทแรกคือศีลที่จะต้องปฏิบัติ" เมื่อรักษาศีลให้ครบไม่ด่างพร้อยแล้ว การกระทำสมาธิย่อมสำเร็จได้โดยเร็ว
ศีลที่จะให้ปฏิบัติในขั้นแรกก็มีเพียง ๕ ประการเท่านั้น รักษาศีลทั้ง ๕ นี้ให้บริสุทธิ์คงอยู่เสมอไปแล้ว การทำสมาธิ ก็ไม่เป็นเรื่องยากเย็นอะไร ข้อสำคัญพึงจำไว้ว่า การที่จะรักษาศีลนั้น จะมีวิธีการทำการละเว้นไม่ปฏิบัติในทางที่ผิดศีล และประพฤติปฏิบัติที่จะรักษาศีลด้วยเหตุ ๓ ประการ
ประการที่ ๑ เรียกว่า เจตนาวิรัช ได้แก่ตั้งเจตนาที่จะละเว้นการกระทำอันเป็นการผิดศีลของตัวเอง โดยไม่ต้องไปกล่าวคำให้ผู้อื่นฟัง คือหมายความว่าโดยไม่ต้องมีการสมาทานศีลนั้น ให้ตั้งจิตเจตนาไว้ภายในอย่างมั่นคง ว่าจะรักษาศีลทั้ง ๕นี้ไว้ให้บริสุทธิ์
ประการที่ ๒ เรียกว่า สมาทานวิรัช หมายความว่าการที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ด้วยวิธีที่กล่าวคำขอศีลจากพระภิกษุ เป็นต้น การขอศีลจากพระภิกษุนั้น
เมื่อได้รับศีลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระภิกษุจะอนุโมทนาศีลและให้พร จงรับทั้งศีลและพรนั้น มิใช่ตั้งใจรับแต่พรแต่ศีลนั้นปล่อยไปหาประโยชน์อันมิได้
เมื่อสมาทานศีลนั้นแล้วก็พึงประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามสิ่งที่ได้กล่าวปฏิญาณว่าจะรักษาศีลนั้นให้บริสุทธิ์
ประการที่ ๓ เรียกว่า สมุทเฉทวิรัช คือการละเว้นโดยสิ้นเชิง มิให้มีสิ่งใดเหลืออยู่อีก เป็นการกระทำขั้นสูงสุด พยายามที่จะกระทำจิตและกาย วาจาให้บริสุทธิ์อย่างสูง คือเป็นสิ่งที่รักษากาย วาจาให้เป็นปกติอยู่ เมื่อกาย วาจาอันเป็นปกติแล้ว จิตย่อมเข้าสู่ความสงบอันเป็นปกติด้วย กิเลสพอกพูนอยู่ในดวงจิตก็ดี
การเห็นสิ่งต่างๆในสมาธิ : สมเด็จพระพุฒาจารย์
อาสวะคือเครื่องดองอันดวงจิต ได้ตกลงไปหมักอยู่ก็ดี ย่อมจะลดน้อยถอยลง และเสื่อมสูญไป ทำให้ดวงจิตผ่องใสปราศจากธุลีเศร้าหมอง เป็นจิตที่มีความรุ่งโรจน์ เป็นจิตที่เจริญด้วยการอบรมเนืองๆจากศีลนั้น
การประพฤติปฏิบัติ ด้วยการตั้งจิตเจตนาที่จะละเว้นการปฏิบัติในการผิดศีลทั้ง ๓ ประการที่กล่าวนี้
หากเกิดแก่ผู้ใดนั้นย่อมจะได้สมความมุ่งมาดปรารถนา ดังที่มีคำอนุโมทนาและอวยพร
อิมินา ปัจสิกขาปทานิ สีเลน สุคติง ยันติ สีเลน โภคสัมปทา สีเลน นพพุติ ยันติ ตัสมา สีบัง วิโสธเย
เมื่อจะแปลเป็นข้อความโดยย่อแล้วก็ย่อมจะกล่าวได้ว่า อันศีลทั้งหลายที่ได้ยึดถือและรักษาไว้นี้ ศีลย่อมจะรักษาผู้มีศีลให้มีความสุข ศีลย่อมจะอำนวยผู้มีศีลให้ประสบซึ่งความมั่งคั่งสมบูรณ์
ศีลนำจิตเข้าสู่ที่อันสงบคือพระนิพพานได้ดังนี้ ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ทำตนให้เป็นผู้มีศีลไว้ดังนี้เป็นต้น ศีลย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการที่จะทำจิตให้เกิดสมาธิ
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะตั้งใจกระทำสมาธิจิต นอกจากจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ยังต้องประกอบไปด้วยพรหมวิหาร๔ มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ควรจะต้องแผ่เมตตาจิตไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ อมนุษย์ รูปวิญญาณ ญาติมิตร อริศัตรู บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพชนต้นตระกูล ครูบาอาจารย์
ท่านผู้มีอุปการคุณ อารักขาเทวดา และทวยเทพเทวา พรหมมา เป็นต้น และอุทิศส่วนกุศลให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นต้น
การเห็นในสมาธิ หลังจากที่บำเพ็ญจิตให้บังเกิดสมาธิอันแน่วแน่แล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต ได้ประทานข้อแนะนำไว้ว่า....
การเห็นในสมาธิมี ๓ อย่าง
๑.การเห็นในสมาธิที่ตั้งใจหมายไว้อย่างหนึ่ง ที่เกิดจากความปารถนาของจิตเอง อันนี้ไม่ถือว่าเป็นสมาธิ หากเป็น อุปทาน ต้องลบภาพที่เห็นเช่นนี้
๒.การเห็นอย่างที่๒ เป็นการเห็นเพื่อขอส่วนบุญ หรือชักนำไปสู่ ความกำหนัด เกิดกามราคะ เพราะเหตุแห่งมารนำจิตไปหรือมิฉะนั้นดวงวิญญาณทั้งหลายที่มีความทุกข์ต้องการมาติดต่อขอส่วนบุญ เพื่อบรรเทาความทุกข์เดือดร้อนอดอยาก การเห็นเช่นนี้เห็นโดยจิตมิได้ปารถนา มิได้ตั้งปณิธานหรืออุปทานอย่างหนึ่งอย่างใดไว้ เมื่อเกิดภาพนี้ขึ้นให้แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลแก่เขาไป อาจเป็นบรรพบุรุษ ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร เป็นต้น
๓.การเห็นในสมาธิอย่างที่ ๓ นั้น เป็นการเห็นโดยนิมิตอันประเสริฐ เช่น เห็นพุทธนิมิต เทพนิมิต พรหมนิมิตทั้งหลาย เป็นต้น การเห็นแสงสว่างทั้งปวงก็ดี การเห็นเช่นนี้เป็นเครื่องบอกว่า ได้เดินเข้าไปในทางที่จะสามารถติดต่อกับทิพย์วิญญาณทั้งหลายได้
พึงพิจารณาแยกให้ออกว่าอันไหนเป็นนิมิต อันไหนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อขอส่วนบุญ อันไหนเป็นอุปทานที่เกิดจากความปารถนาของดวงจิต
จงมีสติตั้งมั่นคุ้มครองดวงจิตโดยที่ไม่ต้องคิดหรือหวังจะให้เกิดนิมิต อันเป็นที่พึงปารถนาในทางที่จะชักนำดวงจิตเข้าไปสู่ทางอกุศลได้ต่อไป