ผิดถูกเป็นแค่สิ่งสมมติเท่านั้น

ผิดถูกเป็นแค่สิ่งสมมติเท่านั้น

ผิดถูกเป็นแค่สิ่งสมมติเท่านั้น



ถาม : แล้วที่ท่านธุดงค์กันทำให้รถติด?

ตอบ : แล้วอย่างไร ? รถติดก็หน้าที่ของตำรวจสิจ๊ะ อย่าไปยุ่งกับท่านเลย โบราณท่านเก่ง ท่านกันตัวเองออกไปเลย เรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับพระเถรเณรชี ท่านจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เรียกว่าชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ คำว่า "ชี" สมัยก่อนก็คือพระ แม่ชีต่างหากที่หมายถึงชีในสมัยนี้ อย่างสมัยก่อนเขาใช้ศัพท์บางคำว่า "ชีบานาสงฆ์" เป็นต้น

เมื่อเป็นดังนั้นเขาจะกันตัวเองออกไป ไม่ยุ่งเรื่องพระเถรเณรชีด้วย เพราะว่าคนเราเวลาวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ถ้ากำลังใจไม่มั่นคงพอ ก็จะอยู่ในลักษณะใส่อารมณ์ร่วมไปด้วย เกิดโทษกับตัวเองได้ง่าย แล้วอีกประการหนึ่ง ถึงจะว่ากันตรงไปตรงมาตามเหตุตามผลก็ตาม คนส่วนมากเขาเคารพเลื่อมใสบุคคลเหล่านั้น เราไปพูดตรงไปตรงมา แต่ว่าอยู่ในลักษณะไปลดความน่าเชื่อถือของเขาลง ก็มีโทษเหมือนกัน เพราะว่ากำลังใจคนส่วนใหญ่จะเสีย

สมัยนี้ก็เลยมีประเภทพวกมากลากไป ทำผิดจนกลายเป็นถูก กลายเป็นกาเมสุมิจฉาจารไป กาเมสุ เป็นสัตตมีวิภัตติ ก็คือวิภัตติที่ ๗ ของศัพท์คำว่ากามะ แปลว่าในกาม มิจฉาจาระ ก็คือความประพฤติผิด แต่คราวนี้เราดันไปกล่าวเป็นกาเมสุมิจฉาจาร ก็เลยกลายเป็นผิดแล้วดี เพราะ สุ แปลว่า ดี ถ้าพระที่ท่านเข้าใจศัพท์ตัวนี้ เวลาให้ศีลท่านจะว่า กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมณี จะเว้นตรงสุไว้นิดหนึ่งให้คนรู้ว่าเป็นศัพท์คนละตัว แต่โยมรับศีลเมื่อไรก็เป็น กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี ติดกันไปอีกจนได้ ฉะนั้น เมื่อเป็น สุมิจฉาจาร จึงแปลว่า ผิดแล้วดี..!

แรกๆ พวกเราปฏิบัติธรรม กำลังใจของพวกเรามักจะไปแยกดีชั่ว ขาวดำอย่างชัดเจน จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่พอทำไปๆ ถึงระดับหนึ่งแล้วจะรู้ว่า ผิดถูกเป็นแค่สิ่งสมมติเท่านั้น ไม่มีใครดี ไม่มีใครเลว มีแต่คนที่กำลังเป็นไปตามกรรม

บุคคลที่ทำอกุศลกรรม ก็ตกในกระแสสีดำ ก็คือไหลลงไปเรื่อยๆ บุคคลที่ทำกุศลกรรม ก็ตกในกระแสสีขาว ก็คือไหลขึ้นไปเรื่อยๆ แต่คราวนี้ทั้ง ๒ กระแส ไปไม่ถึงที่สุดหรอก ถ้าจะหลุดพ้นได้จริงๆ ต้องผ่ากลางไปให้ได้ ก็คือ เว้นชั่วทำดี แล้วท้ายสุดเลิกเกาะดีก็จบ แต่กำลังใจกว่าจะเลิกเกาะดีได้นี่ยากมาก เพราะเราต้องอาศัยดีเป็นบันได เพื่อที่เราจะก้าวหลุดพ้นไป

เพราะฉะนั้น..กว่าจะรู้ตัวว่า ดีก็ทำ ชั่วก็ละ ไม่เกาะทั้งดีทั้งชั่ว ก็ต้องเกิดตายกันจนนับชาติไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น..การที่เรามองอะไรขาวดำชัดเจนนั่นดี แต่ให้เราเกาะขาว ทำด้านที่ขาวเอาไว้ ภาษาบาลีท่านใช้คำว่า สุกะธรรมะ ก็คือธรรมอันขาว ถ้าหากว่า กัณหะธรรมะ ก็คือธรรมอันดำ ก็คือบรรดาสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมต่างๆ

ท่านก็บอกว่า กัณหังธัมมัง วิปะหายะ สุกังพาเว จะ ปันฑิโต บัณฑิตย่อมละเว้นการกระทำกรรมอันดำ กระทำแต่กรรมที่ขาวเท่านั้น ก็คือเว้นจากความชั่ว ทำแต่ความดีเท่านั้น พอทำไปๆ ความดีเต็มอยู่ในจิตในใจของตัวเอง ปัญญาเกิดถึงที่สุด จะเห็นว่านี่ยังไม่ใช่ทางหลุดพ้น ท้ายสุดก็วางความดีนั้นลง ก่อนที่จะวางได้ต้องทำให้เต็มที่ก่อน ไม่ใช่ประเภททำนิดหนึ่งแล้วก็ไปวาง แล้วเราจะมีอะไรให้วาง ? ต้องทำจนเต็มที่แล้วถึงจะปลดวางลงไปเอง

เมื่อเราเลิกเกาะดี ไม่ติดทั้งดีทั้งชั่วก็จะหลุดไปได้ เพราะฉะนั้น..ใครก็ตามในระยะแรกเริ่ม ถ้าสามารถเอาคนเข้าวัดมารักษาศีลปฏิบัติธรรมได้ ถือว่าใช้ได้ทั้งหมด แม้ว่านานไปแล้ว สิ่งที่เขาทำอาจจะไม่ใช่ความดีที่แท้จริง แต่คนที่ก้าวเข้ามาถึงจุดนี้แล้ว เมื่อถึงเวลาก็เหมือนกับคนหิว คนหิวต้องรีบกินก่อน แต่พออิ่มแล้วต่อไปก็จะเลือกแล้วว่าอะไรอร่อยถูกปากหรือเปล่า

ถาม : ไม่มีถูกไม่มีผิด ต้องเว้นศีลไว้หรือเปล่าคะ ?

ตอบ : ต่อให้ผิดศีล เขาก็ไม่ได้ทำผิด เพราะเขาคิดว่าดีเขาถึงทำ ถ้าเขารู้ว่าไม่ดี เขาก็พยายามที่จะเลิก ในเมื่อทำเพราะเห็นว่าดี เขาย่อมไม่คิดว่าเป็นความผิด เพราะฉะนั้น..ในความเป็นจริงแล้วคนเราไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก เพียงแต่ว่าให้พยายามทำในสิ่งที่ถูก ที่เขาสมมติกันขึ้นมา ละเว้นในสิ่งที่ผิดเสีย พอถึงเวลาทำได้เต็มที่เมื่อไรก็เป็นอันว่าพ้นไปได้


สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๕




ที่มา : เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๕ -
กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

ผิดถูกเป็นแค่สิ่งสมมติเท่านั้น


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์